ขบวนการแรงงานแถลงการณ์หนุน ‘ปรับขึ้นค่าจ้าง’ อัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศ

ขบวนการแรงงานแถลงการณ์หนุน ‘ปรับขึ้นค่าจ้าง’ อัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศ

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์ “สนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศ”

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งทุกภาคส่วนต่างทราบกันดีว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีปัญหาต้องพึ่งพาต่างประเทศเป็นด้านหลักทั้งเรื่อง การค้า การส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว เหตุเพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศขาดรายได้ ไร้อาชีพ ขาดหลักประกันในการดำเนินชีวิต ยากจน มีหนี้สินครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 93 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขบวนการแรงงานก็พยายามเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาล หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้างให้ไปไกลกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ คือ ค่าจ้างที่เป็นธรรม และ เท่ากันทั้งประเทศ ในท่ามกลางข้อถกเถียงที่ยาวนาน และสังคมส่วนใหญ่ทั้งประชาชนทั่วไป พี่น้องสื่อมวลชน แม้กระทั่งพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคก็เห็นด้วย จึงนำไปกำหนดเป็นนโยบายในการหาเสียง อีกทั้งงานวิจัยจำนวนมาก ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศก็สนับสนุนการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างนั้นเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

Advertisement

นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องที่ยากยิ่งของพวกกลุ่มทุนที่เห็นเพียงแค่ประโยชน์เฉพาะตน เฉพาะกลุ่มที่มองผู้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส แม้กระทั่งคนงานในสังกัดของตนเอง ไม่มีศีลธรรม จริยธรรม ไม่เคารพในสิทธิแรงงานซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ได้มองภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ แต่สรรหาคำพูด หาเหตุผลอ้างอิง เพียงเพื่อธุรกิจของตนเอง แต่หากมองในมิติของการกดขี่ขูดรีดแล้ว การสูบกินมูลค่าส่วนเกินของคนงาน ก็เป็นเรื่องปกติที่นายทุนเห็นแก่ตัวเหล่านั้น จะต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของเขา เพียงแต่ว่ารัฐบาล กลไกรัฐ กลไกไตรภาคี จะยืนอยู่กับคนส่วนไหน คนส่วนน้อย หรือคนส่วนมาก นายทุนหรือผู้ใช้แรงงาน

“ทั้งนี้ สสรท. และ สรส. ได้มีการจัดทำข้อมูล จัดทำงานวิจัย จัดเวทีเสวนา ออกแถลงการณ์ ยื่นหนังสือต่อรัฐบาล หลายครั้งในห้วงเวลาที่ผ่านมา และล่าสุดในวันกรรมกรสากลที่ สสรท. และ สรส. จัดขึ้นหรือแม้กระทั่งเวทีที่สภาแรงงานทั้งหลายจัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลและงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งในเวทีต่างจังหวัดเกือบทุกจังหวัด ก็มีข้อเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยให้มีค่าจ้างราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ เพราะราคาสินค้าราคาไม่ได้แตกต่างกัน ต่างจังหวัดยังมีราคาแพงกว่าด้วยซ้ำ และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และ เอกชน แรงงานภาคบริการ” นายสาวิทย์ กล่าวและว่า

Advertisement

สสรท., สรส. และองค์กรสมาชิกทั้งที่เป็นแรงงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สหภาพลูกจ้างภาครัฐ ขอสนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราเดียวกันทั้งประเทศและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และ เอกชน คนทำงานภาคบริการ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมควบคู่กับการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างหลักประกันการทำงาน การจ้างงาน เพื่ออนาคต และ สังคมที่ดี เพราะเมื่อประชาชนมีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ ก็จะเกิดการผลิตการจำหน่าย ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ รัฐก็สามารถเก็บภาษีได้ ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคง ยั่งยืน ต้องเข้าใจว่าคนที่อยู่ในวัยทำงานในปัจจุบันกว่า 41 ล้านคน คือ คนส่วนใหญ่ของประเทศ หากไม่สามารถแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ได้ก็อย่าไปคาดหวังว่า จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำได้ การปรับขึ้นค่าจ้างก็เป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ซึ่งรัฐบาลต้องทำควบคู่กับการควบคุมราคาสินค้า ค่าพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ค่าเดินทาง การขนส่ง เป็นต้น ให้อยู่ ในระดับที่ไม่แพงเกินไป ป้องกันการผูกขาด และปกป้องกิจการของรัฐคือรัฐวิสาหกิจไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนที่จ้องเอาเปรียบ ขูดรีดประชาชน และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งหากทำได้จริงก็จะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป สสรท. และ สรส. จะได้นัดหมายเพื่อสนับสนุนให้กำลังใจต่อผู้เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้

นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า ในความเป็นจริง สสสรท. กับสรส.ได้เสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ คือ คนทำงานหนึ่งคนสามารถเลี้ยงดูคนได้ 3 คน คือวันละ 712 บาท ซึ่งเป็นการทำข้อมูลจากพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ซึ่งอีกตัวเลขคือ ค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับการเลี้ยงชีพเพียงคนทำงานคนเดียวอยู่ที่ 492 บาทต่อวัน ซึ่งก็ถือเป็นข้อเรีบยกร้องของขบวนการแรงงานอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว จึงเห็นด้วยกับค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศ ด้วยปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นเป็นอัตรเดียวเท่ากันทั้งประเทศ บางพื้นที่ห่างไกลราคาสูงกว่าด้วยซ้ำไป รวมถึงค่าน้ำค่าไฟฟ้าห้องเช่าของแรงงานก็มีราคาที่สูงกว่าปกติอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image