‘ศุภมาส’ เดินหน้าอุตสาหกรรมเรือธง สั่ง วศ.เปิดแล็บ 411 แห่ง ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าไทย

‘ศุภมาส’ เดินหน้าอุตสาหกรรมเรือธง สั่ง วศ.เปิดแล็บ 411 แห่ง ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าไทย

วันนี้ (8 พฤษภาคม 2567) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว.มีนโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดสู่อนาคต ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ก่อสร้าง อาหาร เคมีภัณฑ์ เกษตร เหมืองแร่ พลังงาน การแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งขณะนี้ อว.โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี    ยกระดับการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก ครอบคลุมอุตสาหกรรมเรือธง (Flagship)

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดี วศ. กล่าวว่า วศ.เริ่มให้บริการสอบเทียบเพื่อควบคุมมาตรฐานและการเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงระดับชาติ รวมถึงการสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการเพื่อมีส่วนสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมตามมาตรฐาน ISO 3310-1 และ ASTM E11 ให้กับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ครอบคลุมในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ก่อสร้าง อาหาร เคมีภัณฑ์ เกษตร เหมืองแร่ พลังงาน และการแพทย์ สำหรับใช้ควบคุมคุณภาพในด้านความละเอียดของวัตถุดิบในกระบวนการผลิตซึ่งวัตถุดิบที่เข้าสู่กระบวนการผลิตต้องมีขนาดตามมาตรฐานข้อกำหนดของแต่ละอุตสาหกรรม ผ่านขั้นตอนควบคุมให้ได้รับการสอบเทียบแล้ว ซึ่งในปี 2567 วศ.ให้บริการสอบเทียบหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 411 แห่ง ส่งเสริมให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและส่งออกของไทยปี 2567 กว่า 1 หมื่นล้านบาท

Advertisement

อธิบดี วศ. กล่าวว่า วศ.ได้เร่งดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการ อว. โดยพัฒนาวิธีสอบเทียบ เพื่อควบคุมมาตรฐาน พัฒนายกระดับการเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงระดับชาติ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ พัฒนาระบบเพื่อลดเวลา และเพิ่มความแม่นยำในการสอบเทียบ และตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการรองรับการสอบเทียบจำนวนมากจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการ วศ. และห้องปฏิบัติการเครือข่ายให้ก้าวสู่ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพยกระดับอุตสาหกรรมทั้งนี้ อว. โดย วศ.ได้สร้างความร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชน รวมถึงรองรับความร่วมมือกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เพื่อร่วมกันเป็นหน่วยตรวจสอบ ควบคุมมาตรฐานสินค้าและอุตสาหกรรม วศ. มุ่งมั่นพัฒนาภารกิจเพื่อ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image