นายจ้าง ยันบอร์ดค่าจ้างไม่มีมติปรับขึ้นเงิน 400 บาท/วัน รับ กังวลหากถูกฟ้องศาลปกครอง

นายจ้าง ยันบอร์ดค่าจ้างไม่มีมติปรับขึ้นเงิน 400 บาท/วัน รับ กังวลหากถูกฟ้องศาลปกครอง พ้อถูกการเมืองกดดัน ทำงานไม่สงบสุข

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง) เปิดเผยถึงกรณีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ออกมายืนยันถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 3 ของปี 2567 ซึ่งจะเป็นการปรับให้ถึงวันละ 400 บาททั่วประเทศ ทุกกลุ่มอาชีพ ขณะที่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ออกมาคัดค้านนโยบายดังกล่าว พร้อมทั้งมีข้อมูลเปิดเผยว่าหากมีการเดินหน้าขึ้นค่าจ้าง 400 บาทต่อวัน จะมีการฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองสิทธิให้กับผู้ประกอบการ ว่า เรื่องของการฟ้องศาลปกครอง เป็นเรื่องของทางสภาหอการค้าฯ แต่ที่ตนรับทราบคือทางสภาหอการค้าฯ แถลงข่าวว่าจะมีการคุ้มครองสิทธิของผู้ประกอบการ ส่วนจะเป็นการฟ้องร้องหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ

เมื่อถามว่าหากมีการฟ้องร้องจริง ในฐานะบอร์ดค่าจ้างมีความกังวลหรือไม่ นายอรรถยุทธกล่าวว่า ต้องมีความกังวลแน่นอน เพราะบอร์ดทำงานไม่อิสระ ถูกการเมืองกดดันอยู่ตลอด ทำให้การทำงานไม่เป็นปกติสุข

ถามต่อว่าในวันที่ 13 พ.ค. นี้ จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน ผู้ประกอบ สภาหอการค้าฯ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในฐานะบอร์ดค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง จะเข้าร่วมในการหารือหรือไม่ นายอรรถยุทธกล่าวว่า ตนไม่ได้เข้าประชุมในวันที่ 13 พ.ค. ตนไม่อยากสวมหมวกหลายใบ เพราะวันที่ 14 พ.ค. ก็จะมีการประชุมบอร์ดค่าจ้างที่ตนต้องเข้าร่วมอยู่แล้ว

Advertisement

เมื่อถามว่าในวันที่ 14 พ.ค. ที่จะมีการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ทางฝ่ายนายจ้างจะหารือกันก่อนที่จะเข้าประชุมหรือไม่ แล้วจะมีการคัดค้านเรื่องค่าจ้างวันละ 400 บาทหรือไม่ นายอรรถยุทธกล่าวว่า ทางฝ่ายนายจ้างก็ต้องคุยกันก่อนแน่นอน เป็นเรื่องปกติที่เราปฏิบัติอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันที่ 14 พ.ค. ต้องมีการคุยกันในเรื่องข่าวที่ออกมา เพราะว่าในการประชุมครั้งที่ 4 ในวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ตนยืนยันว่าที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงค่าแรง 400 บาท มีมติเพียง 2 เรื่อง คือ 1.ประธานบอร์ด มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการวิจัยเรื่องการขึ้นค่าจ้าง แล้วให้นำมาเสนอในที่ประชุมครั้งต่อๆ ไป และ 2.การวางปฏิทินการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2568 จึงยืนยันได้ว่าที่ประชุมไม่ได้มีมติเรื่องการขึ้นค่าจ้าง 400 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกแถลงการณ์ขอสนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ระบุว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งทาง สสรท. สรส. และ องค์กรสมาชิกทั้งที่เป็นแรงงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สหภาพลูกจ้างภาครัฐ “ขอสนับสนุนการ ปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราเดียวกันทั้งประเทศและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต” และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image