วิกฤตชีวิตเต่าทะเลทั่วโลก อุณภูมิสูง ทำเพศสภาพเปลี่ยน จากตัวผู้เป็นตัวเมียหมด ขาดน้ำเชื้อสืบพันธุ์ อนาคตวูบ (ชมคลิป)

ภาพจาก ไอยูซีเอ็น

วันที่ 17 มกราคม นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) เปิดเผยว่า เวลานี้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วงที่สุด จากงานวิจัยล่าสุด ที่เป็น ความร่วมมือระหว่าง NOAA California State University และ WWF Australia ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ระบุว่า ปรากฏการณ์โลกร้อนได้ทำให้ประชากรเต่าตนุ ใน เกรท แบริเออ รีฟ(Great Barrier Reef) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปะการังอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก ที่ประเทศ ออสเตรเลีย เปลี่ยนเพศสภาพจากเต่าตัวผู้กลายเป็นตัวเมียเกือบทั้งหมด หรือ ราว 99% แล้ว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เป็นกังวลว่าสัดส่วนระหว่างเพศที่ผิดปกติเช่นนี้จะคุกคามประชากรเต่าทะเลในอนาคตอันใกล้

นายเพชร กล่าวว่า งานวิจัยนี้ ได้ศึกษาประชากรเต่าที่มีลักษณะแตกต่างทางพันธุกรรมสองกลุ่มใน เกรท แบริเออ รีฟ แล้วพบว่าประชากรเต่าตนุทางตอนเหนือ ซึ่งมีประชากรอยู่ประมาณ 200,000 ตัวในปัจจุบันเป็นตัวเมียเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยลูกเต่าและเต่าวัยรุ่นทั้งหมดเป็นตัวเมียกว่า 99% ในขณะที่ตัวเต็มวัยก็เป็นตัวเมียถึง 87% ในขณะที่ประชากรทางตอนใต้ก็มีสัดส่วนตัวเมียเกือบ 70%

“นักวิทยาศาสตร์ พบว่า หากอุณหภูมิของหาดทรายต่ำกว่า 27.7 องศาเซลเซียส ลูกเต่าจะฟักออกมาเป็นตัวผู้ แต่หากอุณหภูมิสูงกว่า 31 องศาเซลเซียส ลูกเต่าที่ฟักออกมาจะเป็นตัวเมีย แต่หากอุณหภูมิอยู่ระหว่างช่วงดังกล่าว จะทำให้ได้ลูกเต่าทั้งสองเพศผสมกันไป และยิ่งอุณหภูมิของหาดทรายสูงขึ้นเท่าไหร่ สัดส่วนของเต่าตัวเมียต่อเต่าตัวผู้ก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น จากข้อมูลเต่าทะเลและอุณหภูมิในปัจจุบัน พบว่า ประชากรเต่าทะเลทางตอนเหนือของ เกรท แบริเออ รีฟ ขยายพันธุ์ออกมาเป็นตัวเมียเป็นส่วนใหญ่มาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว และเป็นไปได้ว่าประชากรเต่าทะเลกลุ่มนี้อาจจะกลายเป็นตัวเมียทั้งหมดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” นายเพชร กล่าว และว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่องศาก็ทำให้ไข่เต่าทั้งหมดฟักออกมาเป็นตัวเมียทั้งหมดได้แล้ว แต่การฟักในอุณหภูมิที่สูงผิดปกติ ไม่เพียงแต่จะได้แต่ลูกเต่าตัวเมียเท่านั้น แต่ยังทำให้อัตราการตายของลูกเต่าสูงขึ้นตามไปด้วย สภาวะโลกร้อนที่ส่งผลโดยตรงต่ออุณหภูมิจึงเป็นภัยคุกคามที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประชากรเต่าทะเลกลุ่มนี้

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ กรมสิ่งแวดแวดล้อมและคุ้มครองมรดกทางธรรมชาติ ของรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ได้พยายามทดสอบมาตรการต่างๆเพื่อลดอุณหภูมิของหาดทรายซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล เช่นการทำที่บังแดด หรือแม้แต่ฝนเทียมเพื่อลดอุณหภูมิของชายหาด อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าว ยังมีข้อจำกัดว่าในแง่การปฏิบัติที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางอย่าง เกรท แบริเออ รีฟ อยู่

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ภาวะเต่าตนุมีแต่ตัวเมีย ไม่ได้มีเฉพาะที่ เกรท แบริเออ รีฟ เท่านั้น ที่เกาะตรังกานู ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่มีเต่าตนุมากที่สุดในพื้นที่แถบนี้ก็มีปัญหานี้เช่นกัน โดยที่ผ่านมาพบว่า เต่าตนุที่เกาะตรังกานูไม่มีตัวผู้เลย สาเหตุมาจาก อุณหภูมิของทรายในธรรมชาติที่เต่าใช้วางไข่นั้นสูงเกินไป รวมทั้งไข่เขาที่นำไปฟักไม่มีการควบคุมอุณหภูมิให้ดีพอ สำหรับประเทศไทย แม้ไม่เคยตรวจเพศเต่าอย่าเป็นทางการก็คาดว่ามีปัญหานี้เช่นเดียวกัน

 

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image