ประชุมคอนเฟอเรนซ์ สสจ.ทั่วปท. ระดมกำลังตรวจผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกม.

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 3 พฤษภาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เรียกประชุมวิดีโอทางไกล(คอนเฟอเรนซ์)กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทั่วประเทศ อาทิ ศรีสะเกษ สมุทรสงคราม นครราชสีมา สมุทรปราการ อ่างทอง นนทบุรี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และอุดรธานี เพื่อแจ้งมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะเครื่องสำอาง จากกรณีการตรวจจับเมจิกสกิน โดยให้ผู้สื่อข่าวรับฟังในช่วงแรก หลังจากนั้นได้ขอให้ทางสื่อมวลชนออกจากห้องประชุม เนื่องจากต้องการให้ทางสสจ.ผู้ปฏิบัติงานได้สะท้อนปัญหาอย่างเต็มที่ เพราะกังวลว่าระหว่างการหารืออาจมีการพาดพิงบุคคลอื่น ซึ่งอาจเกิดปัญหาได้หากมีการเผยแพร่ออกไป

นพ.ธเรศ กล่าวระหว่างการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า จากการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ.กำชับในที่ประชุมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้ให้ดี โดยต้องมีการทำความเข้าใจกับทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนภูมิภาค โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) จะเป็นด่านหน้าในส่วนภูมิภาคในการตรวจสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ผิดกฎหมายที่อาจใส่สารบางชนิดที่ก่ออันตรายต่อประชาชนได้ พร้อมทั้งขอให้มีการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการร่วมกันเฝ้าระวังเรื่องนี้ ทั้งส่วนผู้บริโภค และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) รวมทั้งยังมีกลุ่ม อย.น้อย ที่เป็นเยาวชนมาเข้าร่วมกันทำงานตรงจุดนี้

ด้านนพ.วันชัย กล่าวว่า  การประชุมคอนเฟอเรนซ์ในวันนี้(3 พ.ค.) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภูมิภาค ในการสะท้อนว่าจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางทันกำหนดหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะมีโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ขึ้นทะเบียน 1-2 หมื่นราย โดยการตรวจสอบมาตรฐานโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้น เป็นหนึ่งในมาตรการเข้มที่ อย.ได้กำหนดขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขอขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางกับทางอย. ซึ่งเป็นการขึ้นทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Submission  ซึ่งเดิมผู้ผลิตสามารถยื่นเอกสาร รายละเอียดต่างๆ ผ่านระบบนี้ แต่ระบบใหม่ได้เพิ่มเติมให้มีเจ้าหน้าที่มาตรวจเอกสาร พร้อมทั้งพิจารณาว่ากระบวนการผลิตได้ผลิตจากโรงงานที่ผ่านการตรวจสอบของอย.ด้วยหรือไม่ จึงจะอนุมัติการรับรองให้

“โดยในเดือนมิถุนายนนี้ จะประกาศเป็นกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอท่านรัฐมนตรีว่าการ สธ.ลงนาม เมื่อมีการประกาศใช้ ก็จะขอให้ทางสสจ.ช่วยลงไปตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางว่าผ่านมาตรฐานหรือไม่ โดยเราจะมีเจ้าหน้าที่จาก อย.ส่วนกลางกระจายลงไปช่วยด้วย  คาดว่าใช้เวลา 3 เดือนจะตรวจโรงงานผลิตเครื่องสำอางได้หมด ซึ่งน่าจะมีประมาณ 1-2 หมื่นแห่ง” นพ.วันชัย กล่าว

Advertisement

 

นพ.วันชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของโฆษณาที่เป็นโซเชียลมีเดียนั้น แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่สามารถจัดการผู้กระทำความผิดได้ แต่สธ.จะประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  พิจารณาแนวทางที่จะดำเนินการผู้กระทำความผิด เพื่อจัดการกับผู้ที่โฆษณาในโซเชียลมีเดียด้วย ซึ่งก็ต้องหารือว่า จะสามารถนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (ฉบับแก้ไข) พ.ศ.2560  มาประกอบพิจารณาความผิดได้ด้วยหรือไม่ ซึ่งขอพิจารณาก่อน

“การจัดการโฆษณาที่ดำเนินการผ่านโซเชียลมีเดียค่อนข้างมีความซับซ้อน เนื่องจากมี 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.มีฐานโฆษณาในประเทศไทยที่สามารถดำเนินการได้โดยใช้กฎหมายที่มีอยู่ แล 2. กลุ่มโฆษณาที่มีฐานดำเนินการในต่างประเทศ ซึ่งอาจดำเนินการจัดการได้ยาก  โดยอย.มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขของกลุ่มเหล่านี้อยู่” นพ.วันชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image