รพ.สต.ฮือ! ถ่ายโอนอำนาจจาก ‘ก.สาธารณสุข’ ไป ‘อปท.’ รมว.สธ.ลั่นเป็นเรื่องสมัครใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในแวดวงสาธารณสุขของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างผ่านสังคมออนไลน์ ถึงกรณี ที่ประชุม คณะกรรมการกระจายอำนาจมีมติเห็นชอบในหลักการ เรื่อง การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)  ระบุเป็นไปตามหลักการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. เตรียมประสานงาน สธ. สำนักงบประมาณ  อปท. ดำเนินการต่อนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปรากฎว่าหลังจากมีข่าวดังกล่าว ทำให้บุคลากรในรพ.สต.หลายแห่งต่างวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยในเพจ “ชมรม ผอ. รพ.สต.(ประเทศไทย) ”  มีบางคนกังวลว่าจะมีความพร้อมในการเชื่อมโยงต่างๆจริงหรือไม่ เนื่องจาก รพ.สต.หลายแห่งอาจยังไม่พร้อม แต่หลายแห่งก็มีความพร้อม เพราะรพ.สต.จะเน้นการให้บริการส่งเสริมป้องกันโรค และต้องทำงานกับคนในชุมชน คนในพื้นที่ ในอปท. เป็นต้น  แต่ที่กังวลคือจะทำงานเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต่อไปได้หรือไม่นั้น

ขณะเดียวกัน นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้  ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว ถึงความพร้อมในการถ่ายโอนด้วย “ชาว รพ.สต. เห็นด้วยกับการถ่ายโอน รพ.สต. ตามพรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้ อปท.2542 ในช่วงเวลานี้หรือไม่” โดยระบุให้กด “เห็นด้วย”  หรือ “ไม่เห็นด้วย”  พร้อมแสดงความคิดเห็นต่างๆ”เบื้องต้นเห็นด้วยกว่า 62% และไม่เห็นด้วย 38%

Advertisement

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน  นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ในเรื่องของการกระจายอำนาจนั้นมีมติมากว่า 10 ปี ไม่ใช่เรื่องใหม่  ซึ่งบางส่วนมีการดำเนินการการเกิดขึ้นแล้ว โดยปัจจุบันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ไปอยู่ในความดูแลของอปท. มี  52 แห่ง จากรพ.สต.ทั่วประเทศประมาณ 9,800 แห่ง  ซึ่งทางสธ.ได้พยายามไปวิเคราะห์โดยมีทีมงานของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข( สวรส.) เป็นผู้ทำศึกษาวิจัยรพ.สต.จำนวน  52  แห่ง  ซึ่งมี 2 แห่งที่เพิ่งออกไปล่าสุดเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยทั้งหมดผลก็ออกเป็นครึ่งๆ คือ มีทั้งบวกและลบ  แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีความพยายามเหมือนเดิม คือ การมอบอำนาจหรือกระจายอำนาจสู่พื้นที่ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)  แต่การมอบอำนาจโดยหลักการ คือ  ต้องมีความพร้อม ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ที่จะถ่ายโอนไป และผู้ที่รับไปดูแล ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงการบูรณาการกันเพื่อทำประโยชน์แก่ประชาชน

ด้าน พญ.มยุรา กุสุมภ์  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า เบื้องต้น รพ.สต. หลายแห่งที่ออกไปก็รู้สึกดี โดยในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าการทำหน้าที่หลักของรพ.สต.จะเป็นเรื่องของการส่งเสริมป้องกัน ดูแลประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดูแลรับผิดชอบตั้งแต่ตัวเอง คนป่วย และหน่วยงานในท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ที่จะดูแลส่วนการสนับสนุน ของรพ.สต.ที่ไปอยู่ปลายทาง ดังนั้นทางท้องถิ่นสามารถทำงานได้ แต่ก็ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าบทบทของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร นอกจากนี้ต้องมีการมาทำการหารือร่วมกันในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาความพอดี และเหมาะสม โดยนำตัวอย่างที่เกิดขึ้น สถานการณ์ปัจจุบัน และนำกฎหมายที่มี มาร่วมวางแผนให้ชัดเจน และดำเนินการให้จริงจังขึ้น

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image