โวย กม.จัดซื้อใหม่ทำวัคซีนไข้หวัดใหญ่กระจายไม่ถึง รพ.  ด้าน สธ.-สปสช.แจงข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนทุกสิทธิการรักษามีมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีปัญหาการกระจายวัคซีนให้กับโรงพยาบาล แต่ในปี 2561 นี้ หลังจากมีปัญหาที่ สปสช.ถูกตรวจสอบว่าไม่สามารถทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะทำได้ดี ช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ แต่ถูก สตง.ตรวจสอบว่ากฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่อนุญาตให้ทำ จึงมีการแก้ไขปัญหาให้ รพ.ราชวิถีทำหน้าที่จัดซื้อแทน เปลี่ยนให้ สปสช.ทำหน้าที่จัดทำแผนความต้องการ และ อภ.ทำหน้าที่กระจายยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งภาคประชาชนก็กังวลมาตลอดว่าจะมีปัญหาแน่นอน และสุดท้ายคนที่รับกรรมคือประชาชน

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ขณะนี้ถึงช่วงที่ต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงแล้ว แต่การเปลี่ยนผู้จัดซื้อ ติดขัดกับระเบียบราชการมากมาย จึงทำให้วัคซีนยังกระจายไม่ถึงในโรงพยาบาลบางแห่ง เนื่องจาก รพ.ราชวิถีติดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างจากกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่ออกมา จึงทำให้ยังไม่สามารถออกใบสั่งซื้อให้กับทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ ซึ่งขณะนี้วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีอยู่เต็มคลังของ อภ.ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2561 แล้ว เพื่อเตรียมที่จะกระจายให้ รพ.เพื่อเริ่มฉีดให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.61 ที่ผ่านมา แต่เมื่อไม่มีใบสั่งซื้อจาก รพ.ราชวิถี จึงทำให้นำวัคซีนออกมาใช้ไม่ได้

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้น รพ.ราชวิถีแก้ปัญหาโดยใช้วิธียืมวัคซีนจากทาง อภ.ก่อน แต่ อภ.ไม่สามารถให้ยืมได้อีก เนื่องจากก่อนหน้านี้ในรายการยาตัวอื่นที่ รพ.ราชวิถีจัดซื้อก็ใช้วิธียืมยาจาก อภ.มากกว่า 5 พันล้านบาทแล้ว ที่สุดใกล้ถึงช่วงเวลาจะฉีดวัคซีนให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ก็ยังกระจายวัคซีนให้ รพ.ไม่ได้ ทางคณะอนุกรรมการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่มี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติว่า อภ.ต้องยอมให้ รพ.ราชวิถียืมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปก่อนได้ จึงได้เริ่มกระจายวัคซีนให้ รพ.ไปรอบแรก ซึ่งยังมี รพ.หลายแห่งที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ ที่น่าสงสัยคือทำไมปลัด สธ.ไม่รายงานตรงไปตรงมาว่ามีปัญหาอะไรจะได้ช่วยกันแก้ไข ตอนมารายงานความคืบหน้าก็บอกไม่มีปัญหาตลอด ปัญหาการยืมยาก็บอกว่าเคลียร์เรื่องระเบียบต่างๆ กับกรมบัญชีกลางแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่จริง พอแบบนี้ประชาชนไปรอฉีด แต่กลับไม่มีวัคซีนให้ ก็เสียหายไปหมด

“ด้วยเหตุนี้จึงมีปัญหาในหลายพื้นที่ ที่ประชาชนที่เป็น 7 กลุ่มเสี่ยงไปขอรับวัคซีนแต่วัคซีนยังมาไม่ถึง รพ. จะเห็นว่าเรื่องนี้สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน จากการตรวจสอบ ระเบียบราชการ และกฎหมายที่ออกมาโดยไม่คำนึงถึงหลักปฏิบัติที่เป็นจริง ในที่ประชุมบอร์ด สปสช. กรรมการที่เป็นตัวแทนภาคประชาชนก็ถามย้ำทุกครั้งว่าจะมีผลกระทบเสียหายกับประชาชนหรือไม่ หากเปลี่ยนผู้ทำหน้าที่จัดซื้อ ส่วนใหญ่ก็บอกว่าไม่มีแน่นอน แต่สุดท้ายก็มี และคนที่รับผลกระทบหนักคือประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่หน้างาน” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

Advertisement

นพ.ธเรศ  กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.  ได้จัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เรียบร้อยแล้วจำนวน 3.5 ล้านโด๊ส ตามเป้าหมายแผนการฉีดสำหรับประชาชนไทยกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนหากป่วย ขณะนี้ได้จัดส่งไปยังโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข ซึ่งแต่ละแห่งมีการสำรวจกลุ่มเป้าหมายและวางแผนการให้วัคซีน อย่างไรก็ดี เพื่อความสะดวกในการรับบริการ ขอให้สอบถามสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาของตนเอง ตรวจสอบว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ และนัดหมายรับการฉีดวัคซีนต่อไป

“ในช่วงแรกๆ อาจพบปัญหาจากการสื่อสารบ้าง ดังนั้นหากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 ตลอด 24 ชั่วโมง” นพ.ธเรศกล่าว

Advertisement

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการและโฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีความเข้าใจผิดว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวนั้น ให้ฉีดได้สำหรับประชาชนทั่วไปด้วย สปสช.จึงขอย้ำอีกครั้งว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำนวน 3.5 ล้านโด๊สดังกล่าวนี้ สำหรับประชาชนที่เป็น 7 กลุ่มเสี่ยงเท่านั้น เนื่องจาก โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคพบบ่อยในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่กลุ่มเด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ เป็นโรคที่เกิดได้ตลอดปี แต่ระบาดมากในฤดูฝน อาการป่วยส่งผลต่อสุขภาพและต้องหยุดพักรักษาตัว ซึ่งประชาชนในกลุ่มเสี่ยงมีภูมิต้านทานน้อยหากติดไวรัสไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง ดังนั้นจึงต้องฉีดวัคซีนป้องกันในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงไว้ก่อน จึงขอให้ผู้ที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวนี้ไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่จะเกิดตามมา

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนทุกสิทธิที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม    ได้แก่ 1.หญิงที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป    2.เด็กอายุ 6 เดือน–2 ปี 3.ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่  ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะของการให้ยาเคมีบำบัด โรคเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปี   5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 6.ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ7.ผู้ที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image