10 ล้านแล้วจ้า พลังโซเชียล ร่วมสู้ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

10 ล้านแล้วจ้า พลังโซเชียล ร่วมสู้ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

10 ล้านแล้วจ้า พลังโซเชียล ร่วมสู้ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

กลายเป็นปรากฏการณ์การแสดงพลังทางสังคมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียมีพลังอย่างมหาศาลที่จะสร้างสรรค์ ส่งเสริม หรือสนับสนุนการกระทำหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งในชั่วพริบตา

กรณี รศ.วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง วัย 81 ปี ผู้ดูแล “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ย่านบางรัก ที่เปิดรับบริจาคเงินจำนวน 10 ล้านบาทก็เช่นกัน ที่ถูกพูดถึง ถูกแชร์ส่งต่อเรื่องราว จนเกิดเป็นกระแสสังคม เห็นพ้องพร้อมช่วยเหลือ

โดยแคมเปญแรกที่ออกมาคือขอระดมทุนรายละ 100 บาทให้ถึง 10 ล้าน เพื่อซื้อที่ดินด้านข้างพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากเจ้าของที่ดินดังกล่าวมีแผนสร้างตึกสูง 8 ชั้น ซึ่งจะบดบังทัศนียภาพของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว ใจกลางย่านเจริญกรุง ซึ่งความเป็นห่วงว่าหากโครงการก่อสร้างตึก 8 ชั้นนั้นเกิดขึ้นจริง จะส่งผลกับโครงสร้างของอาคารเก่าแก่ดั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีหลายหลัง อีกทั้งเป็นอาคารอนุรักษ์ด้วย

Advertisement

แรกเริ่มเดิมที อ.วราพร ตัดสินใจทำจดหมายถึงผู้ว่าฯ กทม. เพื่อร้องขอให้ซื้อที่ดินดังกล่าว แต่ก็ไม่เป็นผล รศ.วราพร จึงติดต่อขอซื้อที่ดินซึ่งมีราคา 40 ล้านบาท โดยนำเงินส่วนตัวมัดจำ 30 ล้านบาท มีกำหนดชำระส่วนที่เหลือภายใน 2 กันยายน

ทันทีที่การประกาศระดมคนละ 100 หวัง 10 ล้าน ถูกแพร่กระจายออกไป ไม่น่าเชื่อว่า “ข่าวดี” ก็เกิดขึ้นก่อนกำหนด 1 เดือน วันที่ 1 สิงหาคม เงิน 10 ล้านกว่าบาทถูกเติมเต็ม จนได้ประกาศปิดรับบริจาค ซึ่งเมื่อมีการซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้ว

ที่ดินดังกล่าวจะเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิ ไม่ใช่เป็นสมบัติส่วนบุคคลของใคร

Advertisement

เรื่องที่เกิดขึ้น รศ.วราพร เปิดใจว่า ปรากฏการณ์นี้ต้องใช้คำว่า เกินคาดยิ่งกว่าเกินคาด และในตอนแรกยอมรับว่าเคยคิดจะรอสปอนเซอร์ แต่คิดไปคิดมาหากกระทำเช่นนั้นคงไม่ได้เรื่อง จึงชักชวนเพื่อนฝูง ลูกศิษย์ลูกหามาช่วยกัน

ปรากฏว่าได้ผลอย่างดี และถือเป็นอิสระจากการโฆษณา ซึ่งก็รู้สึกงงมาก เพราะไม่รู้ว่าใครต่อใครที่เข้ามาช่วย มีทั้ง กลุ่มครอบครัว กลุ่มนักศึกษาที่เดินเข้ามาบริจาค และมีกลุ่มปั่นจักรยาน กลุ่มวัยรุ่นทำเสื้อยืด ศิลปิน ขายพัด ลูกศิษย์ กลุ่มเพนต์ ที่หากิจกรรมทำและมอบรายได้ทั้งหมดให้

ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วมาก เข้ามาจนงง ซึ่งหลังจากนี้กว่าจะเคลียร์บัญชีเสร็จคงอีกนานมาก เนื่องจากจะลองนับกรณีรายละ 100 บาทดูด้วยว่ามีประมาณเท่าไร

ส่วนทิศทางและอนาคตของ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ที่มีความร่มรื่นแห่งนี้ ก็จะเป็นไปอย่างที่ทำๆ มาและเตรียมที่จะซื้อที่ดินด้านข้างพัฒนาพื้นที่ปรับปรุงให้มีที่จอดรถรองรับคนจำนวนมาก มีลานอเนกประสงค์ มีส่วนพื้นที่สีเขียว และอาจต่อยอดทำร้านค้าเพื่อหารายได้ดูแลค่าใช้จ่ายของพิพิธภัณฑ์ไป

ภายหลังจากที่ข่าวออกไปทำให้มีบุคคลจำนวนมากจูงลูกหอบหลานเข้ามาเยี่ยมชมมากกว่าเดิมหลายร้อยเท่า ซึ่งแต่ละคนที่เข้ามานอกจากมาช่วยบริจาคแล้ว มักเข้ามาพูดว่า “อาจารย์ต้องทำ อาจารย์ทำถูกแล้ว” ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ใช่การวิงวอนขอ ไม่ใช่ความสงสาร

แต่เป็นการรู้หน้าที่ช่วยกัน และบอกต่อกันไป

รศ.วราพร ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่แค่บริจาค แล้วไม่มาดู อาจารย์ขอเลยอย่ามาแค่บริจาค แต่อิดออดเวลาถามว่าทำไมไม่แวะมาดู? ก็อ้างสารพัดว่าถ้าว่างๆ ถึงจะแวะมา มาพูดเล่นๆ แบบนี้ไม่ได้ ต้องมาดูให้เห็นกับตาว่ามันเขียวหรือไม่เขียว จะเชื่อตามอาจารย์พูดไม่ได้ ต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์มาให้เห็นกับตา พาลูกพาหลานมาดูว่าสิ่งนี้เป็นของพวกคุณแล้ว อนาคตคุณไปบอกหลานๆ ลูกๆ ได้เลยว่านี่คือสิ่งที่พ่อแม่ช่วยกันรักษาไว้

แม้ว่าหลายต่อคนอาจจะมองว่าอาจารย์เสมือนเป็นแกนนำในครั้งนี้ แต่ รศ.วราพร ย้ำอีกครั้งว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของ รศ.วราพร เอง พื้นที่สีเขียวเป็นของลูกของหลานคุณ พิพิธภัณฑ์ลูกหลานคุณก็เข้ามาดูสิ่งต่างๆ ที่จัดแสดงไว้

เมื่อถามย้อนไปถึงความรู้สึกช่วงแรกตอนที่ยังไม่มีการประกาศระดมออกมา รศ.วราพร ยอมรับว่า มีความรู้สึกท้อบ้าง เพราะไม่มีใครเข้าใจ ก็ได้แต่ไปแจ้งตามโรงเรียนใกล้เคียง หรือชุมชน ทำทุกวิถีทางแล้ว พยายามสื่อสารว่านี่คือหน้าที่ประชาชน ที่จะมีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และไม่เคยรู้สึกกังวลต่อการครหาหรือเข้าใจผิดจากการนำเสนอหรือบางคนนำไปพูดต่อ

โดยยอมรับว่าได้ยินผ่านหูหรือมีชาวบ้านมาเล่าให้ฟังบ้าง อาจารย์ก็ให้ข้อมูลตามความจริง ซึ่งไม่รู้ว่าสื่อสำนักไหนนำไปเสนออย่างไรบ้าง

ส่วนเรื่องที่จะทำให้กังวลก็มีแต่เรื่องค่าน้ำค่าไฟในภายภาคหน้า แต่ก็วางวิธีแก้ไขด้วยการใส่เงินในบัญชีสำรองไว้แล้ว ก็ให้ธนาคารหักไปเรื่อยๆ โดยได้แยกมิเตอร์ส่วนของบ้านกับส่วนของพิพิธภัณฑ์ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเรื่องพวกนี้ตรวจสอบได้ นอกนั้นเป็นเรื่องยิบย่อย

เช่น ก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับการเข้ามารดน้ำต้นไม้บ้างเล็กน้อย เพราะจาก กทม. ต้องเปิดระบบจัดซื้อจัดจ้าง ต้องมีคนมาประมูล แต่ดันมีการรดน้ำเฉพาะวันราชการ ซึ่งน้ำคืออาหารของต้นไม้ จะยอมให้บริษัทไม่รดวันหยุดไม่ได้ เลยต้องตั้งบริษัทเอง ในนาม “บริษัทเพื่อพิพิธภัณฑ์” โดยล่ารายชื่อลูกศิษย์มาช่วยตั้ง และใช้โลโก้หลังคาของพิพิธภัณฑ์ ประมูลร่วม แต่ยังไม่วายมีปัญหาเรื่องการเช็ดกระจก เรื่องเจ้าหน้าที่บัญชี แต่สุดท้ายลูกศิษย์ทุกคนก็เข้ามาช่วย

ก่อนจากกัน ทิ้งทวนถาม รศ.วราพร ไว้ว่า กังวลหรือไม่พอเวลาผ่านไปสังคมจะลืม?

รศ.วราพร ตอบกลับทันทีว่า “จะลืมยังไง ถ้าลืมอาจารย์ก็ไม่ว่าอะไร เด็กๆ ก็ไม่น่าลืม แต่ถ้าลืมแสดงว่าสังคมมีปัญหา ระบบการศึกษาไทยมีปัญหา ที่ไม่ได้สนใจไยดี ซึ่งมองว่ากรณีแบบนี้เป็นเรื่องที่ไปได้ยากเพราะมีคน 60 กว่าล้านคน ต้องมีคนเอาเรื่องบ้าง แต่ยังไงก็แล้วแต่ ฝากขอบคุณทุกๆ คนที่ช่วยเงินหรือส่งแรงใจมา สำคัญที่สุดอยากให้มาดู จะคิดต่างไม่ชอบ ไม่เป็นไร คิดซะว่าเหมือนรัฐธรรมนูญ ชอบก็ชอบ ไม่ชอบก็เดินกลับไป ต่างจิตต่างใจ บ้านเมืองของเราต้องเดินด้วยความต่าง ไม่ใช่มีคนมาถามอาจารย์คิดไง-อันไหนดี ก็กลายเป็นมาดูแค่จุดๆ นั้นแล้วก็กลับไป”

สื่อบางสำนักเองก็ชอบมาถามดิฉัน ถึงความรู้สึกอย่างไร ถ้าอย่างนั้นอย่างนี้ … ต้องขอบอกว่า สิ่งที่ฉันทำไม่ได้ใช้ความรู้สึกนำ แต่เพราะมันเป็นหน้าที่ หากเห็นว่าทำได้ก็ได้ ทำไม่ได้ก็ทำไม่ได้ และที่สำคัญ “ฉันจะไม่มีวันมาร้องห่มร้องไห้กระจองอแง น้ำตาหยดเผาะๆ ออกสื่อ หรือใช้คำว่า ‘อ้อนวอน’ อย่างที่มีการนำเสนอ ให้มาช่วยยายแก่นี่เถอะ” ขอเพียงทุกคนมาดู ทุกคนรู้หน้าที่และทำในส่วนของตัวเองไปก็พอ

มองถึงกรณีนี้และหลายๆ กรณีที่ผ่านมา เชื่อได้ว่าในสังคมไทยเราถ้ามีแรงผลักกระตุ้น และส่งต่อความปรารถนาในด้านดีถึงกันไป ย่อมจะสร้างสรรค์หรือช่วยสร้างชีวิตใหม่ ทำให้เกิดกระแสสังคมได้

แต่จงอย่าลืมว่าในทางกลับกัน โซเชียลมีเดียไม่ได้ทำเพียงแค่คุณ จะให้โทษก็ได้เพราะมีหลายต่อหลายกรณีที่สังคมไม่ได้ไตร่ตรอง ใช้เพียงอารมณ์และความรู้สึกร่วมบางอย่าง

แชร์จนขาดการยับยั้งชั่งใจ ทำลายหลายชีวิตมาแล้วก็นับไม่ถ้วนเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image