Science Insights : เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘คลื่นความร้อน’ โดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ

ปีนี้ ค.ศ. 2022 เกิดคลื่นความร้อนในพื้นที่ต่างๆ ของโลกตลอดทุกเดือนตั้งแต่ต้นปี คือ มกราคม เรื่อยมาจนถึงเดือนเขียนต้นฉบับอยู่นี้ คือ กรกฎาคม ที่น่าสังเกตคือ มีการทำลายสถิติเดิมกันเป็นว่าเล่น ผมขอประมวลสถานที่และข้อมูลสำคัญๆ บางส่วนไว้เพื่อใช้อ้างอิงดังนี้ครับ

เริ่มจากเดือนมกราคม ซึ่งซีกโลกใต้อยู่ในช่วงฤดูร้อนกันก่อน

10-16 มกราคม: เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงในแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะที่ประเทศอาร์เจนตินา อย่างเมืองหลวงคือ บัวโนสไอเรส มีอุณหภูมิสูงถึง 41.1 องศาเซลเซียส และมีบางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ส่วนประเทศอื่นใกล้ๆ กัน ได้แก่ อุรุกวัย ปารากวัย และบางส่วนส่วนของบราซิล

18-23 มกราคม: เมืองเพิร์ธในออสเตรเลีย เจออุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียสติดต่อกันนาน 6 วัน และที่น่ารู้ก็คือตลอดช่วงฤดูร้อนข่วงปลายปี 2021 ถึงต้นปี 2022 เมืองเพิร์ธมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสรวมทั้งสิ้น 11 วัน  ทำลายสถิติเดิม 7 วัน

Advertisement

8-13 กุมภาพันธ์: ซึ่งยังถือว่าเป็นฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ ปรากฏว่าเมืองซานฟรานซิสโก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีอูณหภูมิสูงถึง 26 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมเช่นกัน ส่วนที่ปาล์มซิตี้ มีอุณหภูมิสูงถึง 34 องศาเซลเซียส 

เดือนมีนาคมก็ไม่เบา เพราะช่วงต้นเดือนเกิดคลื่นความร้อนทางแถบตอนเหนือของออสเตรเลีย ส่วนช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องมาเดือนเมษายนคลื่นความร้อนก็โจมตีอินเดียและปากีสถานทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง (อินเดีย 25 ราย ปากีสถาน 65)

พอถึงเดือนพฤษภาคม ก็เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงในสหรัฐอเมริกาตลอดทั้งเดือน มีผู้เสียชีวิตเช่นกัน โดยเฉพาะวันที่ 21 พฤษภาคม อุณหภูมิของเมืองต่างๆ เป็นดังนี้ บัลติมอร์กับฟิลาเดลเฟีย มีอุณหภูมิสูงสุด 35 องศาเซลเซียส ส่วนวอชิงตัน ดีซี และนิวยอร์คซิตี้มีอุณหภูมิสูงสุด 32 องศาเซลเซียส

เดือนมิถุนายนต้องถือว่าเป็นคลื่นความร้อนครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยในสัปดาห์ที่สองอุณหภูมิของเมืองฟีนิกส์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐแอริโซนามีอุณหภูมิสูงสุดถึง 45.6 องศาเซลเซียส และที่หุบเขามรณะ (Death Valley) ซึ่งเป็นทะเลทรายอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา บริเวณเขตแดนระหว่างรัฐแคลิฟอร์เนียกับรัฐเนวาดา มีอุณหภูมิสูงถึง 51 องศาเซลเซียส

ในเดือนมิถุนายนนี้เอง ยังเกิดคลื่นความร้อนที่สเปน โดยเริ่มต้นชึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน และพอถึงปลายเดือนก็เกิดคลื่นความร้อนครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 150 ปีที่ญี่ปุ่นอีกด้วย!

พอถึงวันที่ 8 กรกฎาคม คลื่นความร้อนก็บุกไปถึงสหราชอาณาจักร และวันที่ 15 กรกฎาคม ทางการของสหราชอาณาจักรก็ประกาศการเตือนภัยความร้อนสุดขีดระดับ “สีแดง” นับเป็นครั้งแรกของประเทศ และในวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 2022 นับเป็นครั้งแรกที่อังกฤษพบกับความร้อนระดับ 40 องศาเซลเซียส

= = = = = = = = = = =

นิยามของคลื่นความร้อน

= = = = = = = = = == 

เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับคลื่นความร้อน (heat wave หรือบางครั้งสะกดติดกันเป็น heatwave) มีนิยามที่หลากหลาย

ลองมาดูนิยามกลางๆ ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO (World Meteorological Society) กันก่อน  WMO ระบุว่า คลื่นความร้อนคือ การที่อุณหภูมิสูงสุดในช่วงเวลากลางวันมีค่าสูงกว่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย (ในบริเวณหนึ่งๆ) อย่างน้อย 5 องศาเซลเซียสนานติดต่อกัน 5 วัน หรือนานกว่า

ประเทศต่างๆ มักแตกต่างออกไปบ้าง แต่พูดกว้างๆ ได้ว่า “อากาศร้อน” ต่อเนื่องกินเวลานานหลายวัน เช่น 

ประเทศเดนมาร์ก ระบุว่าเกิดคลื่นความร้อนหาก 3 วันต่อเนื่องโดยที่พื้นที่ของประเทศเกินกว่าครึ่งหนึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยสูงกว่า 28 องศาเซลเซียส 

ออสเตรเลียทางใต้ เช่น เมืองแอดีเลด ระบุว่าเกิดคลื่นความร้อนหาก 5 วันติดต่อกันมีอุณหภูมิอย่างต่ำ 35 องศาเซลเซียส หรือ 3 วันติดกันซึ่งมีอุณหภูมิอย่างต่ำ 40 องศาเซลเซียส เป็นต้น

สหรัฐอเมริกามีนิยามหลากหลายขึ้นกับแต่ละพื้นที่ แต่โดยปกติมักจะนิยามว่าเกิดคลื่นความร้อนหากอุณหภูมิร้อนจัดอย่างน้อย 2 วันติดกันขึ้นไป แต่หากเป็นแถบตะวันออกเฉียงเหนือจะนิยามว่าเกิดคลื่นความร้อนหากอุณหภูมิสูงเกิน 90 องศาฟาเรนไฮต์ (32.2 องศาเซลเซียส) เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วันติดกัน

ทั้งนี้สำหรับแคลิฟอร์เนียจะมีคำเฉพาะ คือ พายุความร้อน (heat storm) ซึ่งใช้เมื่อคลื่นความร้อนมีอุณหภูมิสูงถึง 100 องศาฟาเรนไฮต์ (37.8 องศาเซลเซียส) เป็นเวลานานต่อเนื่องกันอย่างน้อย 3 วัน และกินพื้นที่กว้างขวางหลายหมื่นตารางไมล์

ในกรณีของสหราชอาณาจักร Met Office ซึ่งเป็นองค์กรหลักด้านอุตุนิยมวิทยา นิยามเงื่อนไขของคลื่นความร้อนโดยดูว่าอุณหภูมิสูงสุดในช่วงกลางวัน และอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงกลางคืน มีค่าสูงกว่าค่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ในพื้นที่หนึ่งๆ และระยะเวลาที่อุณหภูมิดังกล่าวมีค่าสูงกว่าเกณฑ์อาจแบ่งเป็น 4 ระดับ อย่างนี้นะครับ

ระดับที่ 1: เงื่อนไขปกติสำหรับฤดูร้อน

ระดับที่ 2: มีความเสี่ยง 60% หรือมากกว่าที่อุณหภูมิจะเกินกว่าค่าเกณฑ์ที่กำหนดเป็นเวลานาน 2 วัน และ 1 คืนระหว่างสองวันนั้น 

ระดับที่ 3: อุณหภูมิมีค่าสูงว่าเกณฑ์ที่กำหนดในวันและคืนก่อนหน้า และมีโอกาส 90% หรือสูงกว่าที่อุณหภูมิจะยังสูงเหนือเกณฑ์ในวันถัดไป

ระดับที่ 4: หากเงื่อนไขรุนแรงกว่า 3 ระดับแรกที่กล่าวมาแล้ว

ทั้งนี้จะมีการเตรียมพร้อมรับมือสำหรับการให้บริการทางด้านสาธารณสุขและด้านสังคมสำหรับแต่ละระดับ

= = = = = = = = = = =

สาเหตุของคลื่นความร้อน

= = = = = = = = = = = 

หากพูดแบบกว้างๆ คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ และปัจจุบันมีสาเหตุลึกๆ มาจากภาวะโลกร้อน (global warming) แต่การพูดเช่นนี้ทำให้ไม่เห็นกลไกที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น

ในกรณีทั่วไป คลื่นความร้อนในพื้นที่หนึ่งๆ มีสาเหตุได้อย่างน้อย 2 อย่าง อย่างนี้นะครับ

สาเหตุที่ 1: ความกดอากาศสูงในระดับที่สูงเหนือพื้นผิวขึ้นไปกดทับอากาศที่อยู่ต่ำกว่าให้ร้อนขึ้น

ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า การอัดแบบแอเดียแบติก (adiabatic compression) กล่าวคือไม่มีความร้อนไหลเข้าหรือออกจากบริเวณที่กำลังพิจารณา ผลก็คือเกิดสภาพอุณหภูมิผกผันที่ระดับสูง (a high level inversion) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ ฝาภาชนะปิดกั้นไม่ให้อากาศอุ่นและชื้นที่พื้นผิวระบายออกไปโดยกลไกการพาความร้อน ในกลไกนี้ อาจมีกระแสลมกรด (jet stream) มีส่วนร่วมด้วยโดยช่วยกันไม่ให้ความร้อนถูกระบายออกไปด้านข้าง

อาจเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าคล้ายๆ พื้นที่ดังกล่าวถูก “ผ้าห่มขนาดยักษ์” คลุมอยู่ (คุณผู้อ่านอาจลองนอนคลุมโปงนานๆ ในห้องที่ไม่ได้เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ แต่กรณีนอนคลุมโปงนี้ความร้อนมาจากร่างกายของคุณเอง)

หากสนใจประเด็นนี้ ขอแนะนำบทความอธิบายเรื่องคลื่นความร้อนที่ญี่ปุ่นเมื่อปี คศ 2018  อ่านเพิ่มเติม

และเรื่อง Omega Block คือต้นเหตุ ‘คลื่นความร้อน’ ที่ยุโรป อ่านเพิ่มเติม

สาเหตุที่ 2: อากาศร้อนจากพื้นที่หนึ่งไหลไปยังพื้นที่ที่เรากำลังพิจารณา

ในกรณีนี้เช่น ลมพัดอากาศร้อนจากทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกาตอนเหนือเข้าสู่ยุโรป เป็นต้น

= = = = = = = = = = = = = = = = =

ผลกระทบของคลื่นความร้อน

= = = = = = = = = = = = = = = = = 

ผลกระทบของคลื่นความร้อนเข้าใจได้ไม่ยาก เนื่องจากอากาศร้อนจัดเป็นเวลานานๆ ย่อมไม่ดีต่อสุขภาพของคนเราอย่างแน่นอน สำหรับคนอาจเป็นตะคริวชักเหตุร้อน (heat cramp) การหมดแรงเหตุร้อน (heat exhaustion) และโรคลมเหตุร้อน (heat stroke) ส่วนสัตว์ก็ย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

คลื่นความร้อนยังอาจทำให้เกิดไฟป่าได้อีกด้วย อย่างในปี ค.ศ. 2022 นี้ สเปนถูกไฟป่าเผาทำลายไปอย่างน้อย 9,900 เอเคอร์ (ราว 25,000 ไร่) และโปรตุเกสถูกไฟป่าทำลายอย่างน้อย 7,400 เอเคอร์ (ราว 18,000 ไร่) [หมายเหตุ: 1 เอเคอร์ มีค่าประมาณ 2.53 ไร่]

ไฟป่าที่เกิดขึ้นนอกจากทำลายพืชและยังทำร้ายสัตว์ป่า รวมทั้งยังก่อให้เกิดฝุ่นควันที่ทำให้อากาศเป็นพิษอีกด้วย

จากการศึกษาพบว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดคลื่นความร้อนถี่ขึ้น แต่ละครั้งอาจยาวนานขึ้น และอาจรุนแรงมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่คนเราต้องตระหนักและร่วมมือกันลดเงื่อนไขที่จะทำให้โลกร้อนเร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

พบกันใหม่ในบทความหน้าครับ! 

———————————————-

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook MatichonMIC

———————————————-

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจ หรือ ช่องทางอื่นๆ ของ MatichonMIC ได้ที่ :

Line ID : MatichonMIC
Website : www.matichonelibrary.com
Instagram : www.instagram.com/matichonmic
YouTube : bit.ly/YouTube_MIC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image