‘ธพว.’ตัดขายเอ็นพีแอล 6.5พันล.เพิ่มขีดสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดอัตราส่วนการดำรงกองทุนขั้นต่ำต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Total capital ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.5 โดยขณะที่ ธพว.อยู่ที่ร้อยละ 11.27 ซึ่งถือเป็นระดับที่มีความมั่นคง และด้วยระบบกำกับดูแลดังกล่าว การมีหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) ค้างอยู่ในระบบ ย่อมทำให้เสียโอกาสในการปล่อยสินเชื่อใหม่คุณภาพดี ดังนั้น ธพว. ได้เปิดจำหน่ายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ มูลค่ารวมกว่า 6,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคารที่ถูกจัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ชั้นสงสัยจะศูนย์ หรือสินทรัพย์จัดชั้นศูนย์ ตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันสำรองของ ธปท. โดยเป็นลูกหนี้ที่หยุดดำเนินกิจการหรือเลิกกิจการหรือประวิงเวลาการชำระหนี้หรือไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขหนี้การขายครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับธนาคารโดยจะช่วยให้อัตรากองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารดีขึ้น ในขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้ธนาคารมีความสามารถระดมเงินทุนเพื่อนำไปใช้ปล่อยสินเชื่อคุณภาพดีให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อไปได้ ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อยกว่า 2 เท่าจากมูลค่า NPLs ที่จำหน่ายออกไป

นายมงคลกล่าวว่า ได้เริ่มเปิดจำหน่าย NPLs รอบแรก ในวันที่ 25 กันยายน 2561 วงเงินรวมกว่า 4,200 ล้านบาท จัดกองออกเป็น 3 ประเภท คือสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน แยกตามพื้นที่ตั้งหลักประกัน จำนวน 5 กอง จำนวน 190 ราย เงินต้น 1,515 ล้านบาท มูลค่าหลักประกัน 2,694 ล้านบาท สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน 2 กอง แบ่งตามพื้นที่ จำนวน 4,125 ราย เงินต้น 2,177 ล้านบาท และสินทรัพย์ด้อยคุณภาพกลุ่มสินเชื่อลีสซิ่งและเช่าซื้อ 1 กอง จำนวน 945 ราย เงินต้น 1,165 ล้านบาท โดยการจำหน่ายคัดเฉพาะบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.ที่มีกว่า 50 ราย โดยกำหนดเข้าซื้อเอกสาร 26 กันยายน – 9 ตุลาคม 2561 กำหนดการตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน – 26 ตุลาคม 2561 (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) และกำหนดยื่นเอกสารเสนอราคาซื้อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ส่วนรอบสองที่เหลือจะเปิดจำหน่ายในช่วงต้นเดือนตุลาคมต่อไป

“การขายสินทรัพย์ครั้งนี้มีความน่าสนใจที่เป็นทรัพย์ลูกค้าธุรกิจผ่านกระบวนการของศาลมาแล้ว สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ตามกฎหมายหรือซื้อเพื่อดำเนินธุรกิจต่อได้ รวมถึงจัดเป็นกองเล็กๆ มูลค่าไม่สูงโดยใช้วิธีการเปิดประมูล และที่สำคัญสามารถชำระเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือชำระแบบเงินผ่อนได้ โดยมีธนาคารอาวัล ภายใน 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ประเภทลูกค้าสถาบันอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเฉลี่ยของ 4 ธนาคาร (ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย) ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเอื้อให้เกิดการแข่งขันที่เปิดกว้างและเสมอภาค” นายมงคลกล่าว และว่า ปัจจุบัน NPLs ซึ่งปัจจุบัน อยู่ที่ร้อยละ 19 เหลือประมาณร้อยละ 15 และภายในปีหน้า (2562) ตั้งเป้าลด NPLs เหลือไม่เกินร้อยละ 10

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image