‘สคช.’เตรียมทำมาตรฐานอาชีพยกระดับบุคลากรซ่อมบำรุงระบบรางกว่า 7,000 คน

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) เปิดเผยว่า เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของรัฐบาลสู่ประเทศไทย 4.๐ ตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนได้มุ่งเน้น สคช. ได้ร่วมมือกับภาคการศึกษา ในการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้ เพื่อเร่งรัดผลิตกำลังคนในสาขาที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยมี สคช. ได้เข้าร่วมในคณะอนุกรรมการพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาชีพนำร่องเร่งด่วน 8 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ ICT รถไฟความเร็วสูงและระบบราง โลจิสติกส์และซัพพลายเชน ช่างอากาศยาน อุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี แมคคาทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

นายพิสิฐกล่าวว่า ในส่วนของสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงและระบบราง จากข้อมูลโครงการการก่อสร้างรถไฟใน 3 ระบบของประเทศ ซึ่งประกอบด้วยรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีความยาวรวมกันกว่า 5,000 กิโลเมตร ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า โดยอาชีพช่างซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางรางจะเป็นเป้าหมายเริ่มแรก ซึ่งคาดว่าโครงการรถไฟฟ้ามีความต้องการกำลังคนช่างซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางรางจนถึงปี 2565 เป็นจำนวน 7,280 คน ทั้งนี้จากข้อมูลภาคการผลิตที่สามารถผลิตได้ มีจำนวน 5,670 คน ทำให้เกิดช่องว่างของจำนวนกำลังคนที่ควรพัฒนาเพิ่มเป็น จำนวน 1,610 คน ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาหลักสูตร ระยะสั้นโดยความร่วมมือกับฝ่ายฝึกอบรมของภาคผู้ประกอบการรถไฟ และจากความร่วมมือดังกล่าว สคช. และ สอศ. ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายโดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโลจิสติกส์ (โครงสร้างพื้นฐาน) ได้วิเคราะห์และพัฒนาหลักสูตร ปวส. ”ช่างซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง” ให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพฯของ สคช. และปรับปรุงเนื้อหาให้มีความถูกต้อง ทันสมัย และมีประสิทธิภาพแล้วเสร็จ เชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพเข้ากับภาคการศึกษา ปัจจุบันได้นำมาตรฐานสู่การปรับหลักสูตร และจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะและหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งในอนาคตสถาบันการศึกษาหลายแห่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษามีสมรรถนะตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ และผลักดันให้ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ

“การพัฒนาระบบราง ถือเป็นหนึ่งในนโยบายการขานรับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ถือมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งการผลิตบุคลาการเพื่อรองรับนั้นต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันมีโครงการระบบรางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและจะแล้วเสร็จในอนาคตหลายโครงการ ทั้งรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือโครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทางที่ผ่านความเห็นชองจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว” นายพิสิฐ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image