ศูนย์ข้อมูลฯหนุนรัฐออกกม.คุมนายหน้าอสังหาฯไทยเหมือนประเทศอาเซียน รับตลาดบ้านมือสองโตสร้างความน่าเชื่อถือ

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ มีสัดส่วนประมาณ6.2% ของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) โดยประเภทที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนมากที่สุด แต่ละปีจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยถึงประมาณ 320,000-370,000 ยูนิต มูลค่า 650,000 – 750,000 ล้านบาท และที่เป็นที่อยู่อาศัยมือสองประมาณ 45%-50% หรือมีการโอนกรรมสิทธิ์จึงน่าจะมีอยู่ถึงประมาณ 150,000 – 180,000 ยูนิต เป็นมูลค่าสูงถึง 250,000 – 300,000 ล้านบาท และคาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยมือสองจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ และพื้นที่เชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดด้านที่ดินที่จะนำมาพัฒนา ปัจจุบันที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบยังมีปริมาณที่อยู่อาศัยบ้านมือสองที่สูงกว่าประเภทคอนโดมิเนียมเนื่องจากมีซัพพลายที่สร้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายวิชัย กล่าวว่า ในปี 2560 บ้านแนวราบสัดส่วนเป็นที่อยู่อาศัยมือสองมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ถึงประมาณ 207,000 ยูนิต และมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์สูงถึงประมาณ 416,000 ล้านบาท ขณะที่คอนโดมิเนียมยังคงมีสัดส่วนเป็นที่อยู่อาศัยมือสองมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ถึงประมาณ110,000 ยูนิต และมีมูลค่าการโอน 260,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสอง ทำให้เกิดคนกลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายหรือ ตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ แต่ปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลอาชีพตัวแทนนายหน้าฯเป็นการเฉพาะเช่นเดียวกับต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ล่าสุด คือกัมพูชาที่นำกฎหมายมาใช้บังคับเมื่อไม่นานมานี้และเวียดนามและฃเมียนมาร์ก็กำลังดำเนินการจัดทำกฎหมาย ที่ผ่านมาพบว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยและชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบอาชีพตัวแทนนายหน้าอิสระโดยเห็นเป็นเพียงโอกาสที่จะสร้างรายได้โดยขาดความรู้และมีการทำงานที่ไม่มีมาตรฐานและจรรยาบรรณก่อให้เกิดผลเสียแก่ผู้ต้องการซื้อและผู้ต้องการขายอสังหาริมทรัพย์ โดยการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและข้อมูลที่ไม่ถูกต้องซึ่งผู้บริโภคก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองในเรื่องนี้รวมถึงการเข้ามาประกอบอาชีพตัวแทนนายหน้าอิสระเช่นนี้ก็ยังได้ทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากการที่ตัวแทนนายหน้าอิสระไม่แสดงรายได้เพื่อเสียภาษี รวมทั้งเกิดช่องโหว่ที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน

“กฎหมายกำกับดูแลอาชีพตัวแทนนายหน้าจะกำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้ที่จะมาทำอาชีพตัวแทนนายหน้าว่าบุคคลเหล่านี้จะต้องมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายกฎระเบียบ การจัดทำสัญญาความเข้าใจด้านธุรกิจของบุคคลผู้ที่จะมาทำอาชีพตัวแทนนายหน้าจะต้องผ่านการเรียนและการสอบอย่างจริงจังเพื่อให้สามารถใช้ความรู้เหล่านี้ในการแนะนำลูกค้าของตนในเรื่องการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์รวมถึงการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของตัวแทนยายหน้าอย่างเคร่งครัดโดยกลุ่มบุคคลผู้ที่จะมาทำหน้าที่ตัวแทนนายหน้าจะต้องมีใบอนุญาตประกอบอาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมายและจะมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบและอาจถูกยึดใบอนุญาตในการประกอบอาชีพได้ ทั้งนี้ บุคคลที่จะทำอาชีพตัวแทนนายหน้าจะต้องดำเนินงานภายใต้การดูแลของบริษัทซึ่งมีสถานะเป็น Real Estate Broker เพื่อหน่วยงานตัวแทนที่เป็นทางการดำเนินการในการจัดทำสัญญา และการติดต่อประสานงานจนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวประสบผลสำเร็จ” นายวิชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image