โคราชยันภัยแล้ง 16 อำเภอรับมือได้ แต่ห่วงประปา อ.คง

กรณี จ.นครราชสีมา ทำการสำรวจพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ต่อมาก็ได้ประกาศพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งจำนวน 16 อำเภอ 106 ตำบล 1,206 หมู่บ้าน ราษฎรประสบภัย 77,900 ราย ความเสียหายนาข้าว 660,406.20 ไร่ พืชไร่ 166,499 ไร่ โดยทางจังหวัดนครราชสีมาเตรียมเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริงไม่เกินรายละ 30 ไร่ นาข้าวไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในรอบปีที่ผ่านมา จ.นครราชสีมา มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทุกปี คือ 880 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่เพิ่งมีฝนตกมาในช่วงท้ายเดือนตุลาคมนี้ โดยเฉพาะช่วงสามวันที่ผ่านมาพอมีฝนตกลงมาบ้างแต่อย่างไรก็ตาม ภาวะภัยแล้งก็ยังเกิดขึ้นอยู่ทั่วทุกพื้นที่ เนื่องจากปริมาณฝนตกน้อยทำให้มีพืชทางการเกษตรอย่างนาข้าวหรือพืชไร่เสียหายจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้ทางจังหวัดก็ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งไปแล้ว 16 อำเภอ กำลังอยู่ในระหว่างระดมการช่วยเหลือเพื่อจ่ายเงินทดรองราชการ แต่จากการสำรวจปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ก็เป็นที่น่าดีใจว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 70 ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณเกินร้อยละ 50 ยกเว้นอ่างเก็บน้ำห้วยตะคร้อ อำเภอคง ที่มีปริมาณน้ำน้อย เหลือเพียงประมาณร้อยละ 1 เนื่องจากมีการขุดลอกอ่างรอรับน้ำซึ่งการขุดลอกอ่างเก็บน้ำจำเป็นต้องปล่อยน้ำออกไป แต่ปรากฏว่าฝนไม่ตกทำให้ไม่เหลือปริมาณน้ำเลย ส่วนการสำรวจปริมาณน้ำและแหล่งกักเก็บน้ำของสำนักงานการประปานครนครราชสีมา การประปาภูมิภาคทั้ง 10 สาขา มีสาขาเดียวที่กังวลคือที่อำเภอคง ซึ่งใช้น้ำจากอ่างห้วยตะคร้อแต่ตอนนี้จะมีการส่งน้ำจากลำน้ำชีเข้ามาเก็บในอ่างห้วยตะคร้อเพื่อให้เพียงพอในการทำน้ำประปา เพราะฉะนั้นประปาของเทศบาลนครนครราชสีมา ประปาภูมิภาคทั้ง 10 แห่ง จะไม่มีปัญหาในฤดูแล้งนี้จนถึงเดือนมิถุนายน 2562

สำหรับพืชผลการเกษตรที่เสียหายได้ทำการเร่งรัดในการจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือแล้ว และถ้ามีการเสียหายอีกก็จะเร่งรัดช่วยเหลือเช่นกัน ส่วนในวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคมนี้ ทางจังหวัดจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดว่าพื้นที่ใดปลูกข้าวนาปรังได้พื้นที่ใดปลูกข้าวนาปรังไม่ได้ หรือพื้นที่ใดที่ควรจะเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ตอนนี้กำลังให้ทางชลประทานและสำนักงานเกษตรวิเคราะห์พื้นที่ทั้งหมด เพื่อจะประกาศให้พี่น้องประชาชนทราบ

ตอนนี้ที่แจ้งไปแล้วคือขอให้มีการกั้นฝายประชารัฐเพื่อกักเก็บน้ำที่อยู่ตามแหล่งน้ำต่างๆ เก็บไว้ให้ได้นานที่สุด แล้วให้สูบน้ำจากบริเวณแหล่งน้ำที่กักเก็บไว้ไปใช้ในเบื้องต้นก่อนเมื่อน้ำที่กักเก็บไว้ตามฝายหมดไป ถึงค่อยใช้น้ำที่กักเก็บไว้ตามภาชนะ เช่น โอ่งขนาดใหญ่ ที่ใช้เก็บน้ำไว้เป็นลำดับต่อไปและขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ ถึงแม้ปีนี้จะมีน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มากแต่ก็ควรที่จะต้องกักเก็บน้ำไว้ต่อไปและขอให้ช่วยกันรักษาคุณภาพน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ หากมีปริมาณน้ำน้อยก็อย่าให้เกิดภาวะเน่าเสียอย่าให้มีผักตบชวาหรืออะไรที่ทำให้เกิดภาวะเน่าเสียอย่าให้วัว-ควายลงไปดื่มกินจนพี่น้องประชาชนไม่สามารถใช้งานได้

Advertisement

ขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่าจังหวัดนครราชสีมาจะทำตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการที่จะดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด รับรองว่าพี่น้องชาวจังหวัดนครราชสีมาจะไม่ขาดแคลนน้ำในการบริโภคในช่วงฤดูแล้ง 2561/2562 อย่างแน่นอน อย่างพื้นที่ที่ให้จับตาเป็นพิเศษก็คือที่โรงพยาบาล, สถานีอนามัย, โรงเรียนต่างๆ, ศูนย์เด็กเล็กและวัด ในวันนี้ยังไม่มีรายงานปัญหาเรื่องของการขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอพระทองคำที่เคยมีปัญหาแล้งซ้ำซาก ตอนนี้ก็คิดว่าไม่มีปัญหาในฤดูแล้งนี้แต่อย่างใด เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image