สตง.แนะ กฟผ.ทบทวนบริจาคเงินให้สมาคมพัฒนาแม่เมาะปีละ 30 ล.

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงิน เปิดเผยว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เข้าไปตรวจสอบการบริจารเงินของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้า สมาคมพัฒนาแม่เมาะ (สพม.) โดย กฟผ. บริจาคเงินในปี 2543 จำนวน 50 ล้านบาท และบริจาคต่อเนื่องปีละ 30 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2543 – 2559 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 500 ล้านบาท โดยพบว่า สพม. ใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ โครงการ และกิจกรรม ที่ได้รับความเห็นชอบจาก กฟผ.

นายประจักษ์กล่าวว่า สตง.พบว่า สพม.ดำเนินกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการบริจาคเงิน เช่น การจ่ายเงินโดยมอบให้เจ้าภาพงานแต่งงาน งานศพ งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบวช ทำบุญทอดกฐินผ้าป่า และงานกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ เข้าลักษณะเป็นการนำเงินบริจาคของ กฟผ. ไปบริจาคต่อ หรือมอบให้บุคคลต่าง ๆ ในนามของ สพม. ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นการให้โดยส่วนตัว และอาจเป็นช่องทางให้มีการนำเงินของ กฟผ. ไปใช้จ่ายเพื่อสร้างประโยชน์ส่วนบุคคล ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ กฟผ. ที่ต้องการให้ใช้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่

นายประจักษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สพม. ยังมิได้ใช้จ่ายเงินบริจาคตามแผนยุทธศาสตร์ โครงการ และกิจกรรม ที่ได้รับความเห็นชอบจาก กฟผ. ทั้งจำนวนในแต่ละปี ทำให้มีเงินเหลือจ่ายสะสม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 จำนวน 61.72 ล้านบาท และปัจจุบัน สพม. มีเงินฝากในสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสำนักงานของ สพม. จำนวน 11.60 ล้านบาท และมีการใช้จ่ายเงินสะสมในกรณีอื่น ๆ ที่อาจไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการบริจาคเงินของ กฟผ.

“ระเบียบ กฟผ. ว่าด้วยการบริจาค มีข้อกำหนดให้ กฟผ. ติดตามผลการดำเนินการตามโครงการหรือกิจกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ผู้ขอรับบริจาคแจ้งไว้กับ กฟผ. แล้วนำมาประเมินผลเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการพิจารณาทบทวนกลุ่มเป้าหมาย และแนวทางในการจ่ายเงินบริจาคให้เป็นไปอย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์ของ กฟผ. และผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน แต่ปรากฏว่าผู้รับผิดชอบได้ติดตามผลการดำเนินการแต่มิได้รายงานข้อบกพร่องให้ทราบ จึงไม่มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อเสนอให้ผู้มีอำนาจประกอบการพิจารณาทบทวนการบริจาคเงินให้ สพม.” นายประจักษ์ กล่าว

Advertisement

นายประจักษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ผลการตรวจสอบของ สตง. ยังระบุว่า ที่ผ่านมา กฟผ. มีความจำเป็นต้องบริจาคเงินให้ สพม. เนื่องจากในขณะนั้นราษฎรได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และมีเงินสนับสนุนจากส่วนราชการน้อยมาก กฟผ. จึงจำเป็นต้องจ่ายเงินสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้กิจการโรงไฟฟ้าสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ปัจจุบันพื้นที่อำเภอแม่เมาะมีการพัฒนาไปจากเดิมเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีเงินพัฒนาพื้นที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน กฟผ. ยังคงสนับสนุนงบประมาณโดยจ่ายเงินผ่านโครงการซีเอสอาร์ประมาณปีละ 50 ล้านบาท นำส่งเข้ากองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ประมาณปีละ 340 ล้านบาท ซึ่งได้จัดสรรทำโครงการชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ ดังนั้น การที่ กฟผ. บริจาคเงินให้ สพม. ปีละ 30 ล้านบาท จึงไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับวัตถุประสงค์ของการบริจาคเงินดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และโครงการ ซีเอสอาร์ จึงอาจใช้จ่ายเงินในการดำเนินกิจกรรมที่ซ้ำซ้อนกัน ทำให้การจ่ายเงินของ กฟผ. ไม่เกิดประสิทธิภาพอย่างที่ ควรจะเป็น

นายประจักษ์ กล่าวว่า สตง. มีข้อเสนอแนะให้ กฟผ. พิจารณาทบทวนการบริจาคเงินให้ สพม. เท่าที่มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน และควรทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่า กฟผ. ยังคงให้การสนับสนุนและประชาชนยังคงได้รับประโยชน์เช่นเดิม จึงควรขอรับการสนับสนุนผ่านกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และโครงการซีเอสอาร์ ขณะเดียวกัน ให้พิจารณาทบทวนแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจ่ายเงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนของ กฟผ. ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เช่น ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการทำงานแบบบูรณาการในการพัฒนาพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกัน ตลอดจนกำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ติดตามผลการดำเนินการตามโครงการหรือกิจกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ ผู้ขอรับบริจาคแจ้งไว้กับ กฟผ. แล้วนำมาประเมินเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการพิจารณาทบทวนกลุ่มเป้าหมาย และแนวทางในการจ่ายเงินบริจาคให้เป็นไปอย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์ของ กฟผ. และ ผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน

“ล่าสุด กฟผ. ได้มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. แล้ว โดยเฉพาะในส่วนของการบริจาคเงินให้ สพม. นั้น คณะกรรมการ กฟผ. ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการบริจาคเงินให้ สพม. ปีละ 30 ล้านบาท พร้อมดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบว่า กฟผ. ยังคงสนับสนุนและประชาชนยังคงได้รับประโยชน์เช่นเดิม โดยสามารถขอรับการสนับสนุนผ่านกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และโครงการซีเอสอาร์ ได้ และ กฟผ. จะบูรณาการแผนงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่เพื่อป้องกันการเกิดโครงการซ้ำซ้อน เพื่อให้พื้นที่อำเภอแม่เมาะเกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นระบบเป็นไปในทิศทางเดียว อย่างยั่งยืนต่อไป”นายประจักษ์กล่าว

Advertisement

นายประจักษ์กล่าวว่า ทั้งนี้กฟผ.จ่ายเงินสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่แม่เมาะ ในรูปแบบต่างๆ เช่น ค่าภาคหลวงแร่และหินปูน เงินนำส่งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแม่เมาะ โครงการซีเอสอาร์ เงินชดเชย เงินกองทุน และเงินบริจาค ตั้งแต่ปี 2535 – 2560 เป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและเหมืองถ่านหินลิกไนต์ในปี 2518 ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศวิทยา และเกิดปัญหาข้อร้องเรียนจากราษฎรในพื้นที่

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image