ย้อนบทสัมภาษณ์ “อังคณา” หอบความฝันยิ่งใหญ่ เป็นกรรมการ กสม. ก่อนตัดสินใจลาออก

ย้อนบทสัมภาษณ์ “อังคณา” หอบความฝันยิ่งใหญ่ เป็นกรรมการ กสม. ก่อนตัดสินใจลาออก

จากกรณี “อังคณา นีละไพจิตร” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวประกาศลาออกจากตำแหน่ง พร้อม นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการกสม.อีกท่าน โดยเปิดใจถึงการตัดสินใจนี้ว่า “บรรยากาศการทำงาน ไม่เอื้อให้เกิดการทำงานอย่างสร้างสรรค์”

จึงชวนย้อนดูบทสัมภาษณ์ นางอังคณา นีละไพจิตร ถึงแรงบันดาลใจและความฝันอันยิ่งใหญ่ ช่วงมารับตำแหน่งกรรมการ กสม.ใหม่ๆ จากนางพยาบาลคนหนึ่งที่มีครอบครัวสมบูรณ์ กระทั่งสามี ทนายสมชาย นีละไพจิตร สูญหายไป เธอต้องผลันตัวเองเป็นหัวหน้าครอบครัว เริ่มเปลี่ยนบทบาทมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชน สู่การลงสมัครคัดเลือกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีผลงานมากมายโดยเฉพาะประเด็นสิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง และความรุนแรงต่างๆ

ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2559

 

Advertisement

หอบฝันอันยิ่งใหญ่ “ชีวิตหลังม่าน” อังคณา นีละไพจิตร

ล่วงเลยมา 11 ปี 10 เดือนกับการหายตัวไปอย่างลึกลับของ นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม แม้วันนี้จะยังไม่รู้ว่าทนายสมชายอยู่ที่ไหน มีลมหายใจหรือเปล่า แต่เหตุการณ์นี้ได้สร้าง “สตรีนักสิทธิมนุษยชน” แถวหน้าของประเทศคนหนึ่ง

น่าสนใจไม่น้อยจากเส้นทางพยาบาลวิชาชีพจับเข็มจับสายน้ำเกลือรักษาคน ภายหลังลาออกจากราชการมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก 5 คน จู่ๆ วันหนึ่งเสาหลักของครอบครัวหายตัวไป เธอจำเป็นต้องจับตำรากฎหมายมานับหนึ่ง เพื่อลุกขึ้นสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้สามี ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถเรียกร้องและปกป้องสิทธิให้คนอื่นได้อีกด้วย ก็เป็นแรงผลักดันให้เธอมีวันนี้ วันที่ชื่อ อังคณา นีละไพจิตร ปรากฏในรายนามกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ชุดที่ 3 (พ.ศ.2558-2564) *ภายหลังมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (พ.ร.ป. กสม.) พ.ศ. 2560 ทำให้กสม.ชุดที่ 3 มีสภาพรักษาการจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

เป็นโอกาสพูดคุยกรรมการ กสม.ป้ายแดง ซึ่งรับผิดชอบด้านสิทธิสตรีและสิทธิพลเมือง พร้อมชีวิตหลังม่าน ในบทบาท “ผู้นำครอบครัว”

อังคณาเล่าว่า สิทธิมนุษยชนกว้างไกลกว่ากฎหมาย หลายเรื่องในหลักสิทธิมนุษยชนกฎหมายยังไม่มี ฉะนั้นการปกป้องดูแลสิทธิมนุษยชนจะต้องตีความให้กว้างกว่ากฎหมาย อย่างเรื่องสิทธิสตรี แม้วันนี้จะมีกฎหมายดีๆ เยอะ เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 กฎหมายข่มขืน แต่ในทางปฏิบัติเรามีปัญหามาก เกิดจากทัศนคติและอคติของสังคม อย่างกรณีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรง มีน้อยมากที่ไปแจ้งความ เพราะเธอต้องเผชิญกับทัศนคติและอคติที่เป็นอุปสรรคการเข้าถึงสิทธิและความยุติธรรม ส่วนคนที่พอเข้าใจอย่างพนักงานสอบสวนหญิงก็ยังมีไม่เพียงพอ และที่มีอยู่ยังต้องรับผิดชอบงานทั่วไปด้วย

กสม.ชุดนี้ “ให้ความสำคัญสิทธิสตรี” ไม่เพียงเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง แต่ยังมององค์รวมครอบคลุม ผู้หญิงพิการ ผู้อพยพและลี้ภัยหญิง ผู้หญิงติดเชื้อเอชไอวี ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนผู้ต้องขังหญิง อีกทั้งยัง “เอาจริง” ด้วยการแยกสิทธิสตรีออกมาตั้ง “อนุกรรมการ” ต่างหากเป็นครั้งแรก จากเดิมที่เคยรวมไปกับสิทธิเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

ขณะที่อังคณาก็ “หอบความฝันอันยิ่งใหญ่” ซึ่งเธอเชื่อว่า “สิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้”

“ดิฉันฝันและอยากเห็นผู้หญิงขึ้นมากำกับนโยบาย มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเปิดเผยและได้รับการยอมรับ ผู้หญิงในสถาบันตุลาการ ที่ผ่านมาแม้เราจะมีกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี แต่กองทุนถูกนำไปใช้กับการกู้ยืมเงินและทำให้ผู้หญิงมีหนี้สินมากขึ้น ไม่ได้สร้างศักยภาพให้ผู้หญิงให้เป็นผู้นำ

“วันนี้เราอยากเห็นการสร้างผู้นำหญิง ก็ดูต้นแบบจากต่างประเทศที่เขามีสถาบันรวบรวมองค์ความรู้ผู้หญิงที่เป็นผู้นำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นนักการเมือง เป็นประธานาธิบดี เขารวบรวมองค์ความรู้ไว้หมด แต่ของเรายังไม่มีอะไรเลย ทั้งที่เราก็มีผู้หญิงจำนวนมาก จึงอยากเสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพจัดตั้งสถาบันนี้ให้เกิดขึ้นในไทย รวบรวมองค์ความรู้ผู้หญิงที่กระจัดกระจาย มาสร้างความมั่นใจ ให้ความรู้ ดึงศักยภาพผู้หญิงให้สามารถก้าวสู่สถานะผู้นำและได้รับการยอมรับ”

“อย่างดิฉันที่มาถึงจุดนี้ได้ เพราะรู้สึกมาตลอดว่าการแสวงหาความยุติธรรมเป็นความชอบธรรม ในเมื่อมันเป็นความชอบธรรม เราต้องอย่าท้อถอย อย่าหวั่นเกรง ประสบการณ์ 10 กว่าปีที่ผ่านมา บอกตัวเองและสังคมว่า ผู้หญิงธรรมดาๆ แบบดิฉันถ้ามายืนตรงนี้ได้คนอื่นก็มาได้ เพราะดิฉันไม่ได้วิเศษกว่าคนอื่น ไม่เลย แค่เป็นผู้หญิง เป็นพยาบาล เป็นแม่ เป็นคนธรรมดามาก ขอเพียงให้มีความจริงใจ”

ส่วนที่มาสมัครเป็นกรรมการ กสม. อังคณายืนยันน้ำเสียงหนักแน่น “มาอย่างตั้งใจและเต็มใจ ไม่ได้มาแบบฟลุ๊กๆ”

“ดิฉันเห็น กสม.ชุด 1-2 แล้วรู้สึกว่าอยากทำงาน เพราะรู้ปัญหา เคยเป็นเหยื่อ รู้ดีว่ามันเป็นอย่างไร จึงอยากทำ เป็นความตั้งใจ ทั้งที่รู้ดีว่าต้องเจอแรงเสียดทาน รู้ดีว่าต้องมีอุปสรรค แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต มันสอนให้มีความหวัง ไม่ได้ทำให้รู้สึกเสียใจหมดกำลังใจและแอบไปซุกอยู่ที่บ้าน

“ต้องขอบคุณสังคมไทยที่คอยช่วยเหลือ ทุกวันนี้ขึ้นรถเมล์ก็จะมีคนมาทักทาย อันนี้คือมิตรภาพที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ เงินทองซื้อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้” อังคณาพูดทั้งรอยยิ้ม ก่อนจะเล่าถึงความสุข 2 อย่างในชีวิตคือ 1.การอ่านหนังสือ ซึ่งเธอบอกว่า “ชอบมาก วันหยุดหากไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะชอบอยู่บ้านอ่านหนังสือ” และ 2.ลูกๆ นี่คือความสุขและกำลังใจอันยิ่งใหญ่ของเธอ

แม้ชะตาชีวิตจะต้องเผชิญกับมรสุมที่โหมกระหน่ำ แต่ในความเป็น “แม่” ผู้หญิงคนนี้แข็งแกร่ง สองมือของเธออุ้มชูเลี้ยงดูลูก 5 คน ให้เติบใหญ่อย่างเข้มแข็งและเป็นคนดี

วันนี้ลูกสาว 4 คน ลูกชายคนเล็ก 1 คน จบการศึกษาในระดับเกียรตินิยมทุกคน

ลูกสาวคนแรกจบปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษา อยู่ศาลอาญา

ลูกสาวคนสองจบปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ

ลูกสาวคนที่คนสาม กำลังศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และทำงานเป็นนักวิจัย

ลูกสาวคนที่สี่ จบปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานอยู่ที่ศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาฯ และลูกชายคนสุดท้อง กำลังศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

อังคณาเปิดเคล็ดลับแบบไม่มีเม้มว่า “จริงๆ ก็เลี้ยงเหมือนเด็กทั่วไป เช่น ดูทีวี อ่านหนังสือ เล่น พักผ่อน เพียงแต่เน้นให้มีระเบียบวินัยและรู้จักรับผิดชอบตัวเอง เพื่อให้เขาสามารถจัดการเวลาได้ อย่างเรื่องการเรียน จะให้เขามีเวลาทำการบ้านและสอนการบ้าน นอกนั้นพยายามอำนวยความสะดวกเขา อย่างเวลาทำรายงานต้องการหนังสือหรืออะไรเพิ่มเติม ก็จะช่วยหามาให้ ดิฉันจะไม่คาดคั้นลูกว่าอ่านหนังสือหรือยัง ทำอะไรหรือยัง แต่ให้ลูกบริหารจัดการด้วยตัวเอง”

“ที่สำคัญจะให้ลูกอยู่กับความจริงตลอด ไม่เคยปกปิดเลย อย่างฐานะทางเศรษฐกิจที่ครอบครัวเราไม่ได้ร่ำรวย พ่อก็มาหายไปยิ่งสะเทือน ลูกทั้ง 5 คนก็เข้าใจและไม่เคยรบเร้าว่าอยากได้ของเล่นโน่นนี่ เว้นแต่อะไรพอเป็นไปได้ที่ดิฉันจะหาให้ได้ก็จะหาให้”

หัวอกคนเป็นแม่ยอมรับว่า “ดีใจเขามีความรับผิดชอบ ได้มีโอกาสเรียน และทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก”

ก่อนจะปิดท้ายพูดถึงคดีทนายสมชายว่า “ยังไม่จบ” แม้ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้อง 5 จำเลย ในคดีกักขัง หน่วงเหนี่ยว และลักทรัพย์ เนื่องจากเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอ และไม่น่าเชื่อถือ แต่ยังมีคดีฆาตกรรม ที่เป็นคดีพิเศษในการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาตั้งแต่ปี 2548

ซึ่งเธอเฝ้าอดทนรอให้มีความยุติธรรมเกิดขึ้นสักวัน!!

ขอบคุณรูปภาพบางส่วนจากเฟซบุ๊ค Angkana Neelapaijit

 

ข่าวที่เกี่ยวข่อง

– หอบฝันอันยิ่งใหญ่ “ชีวิตหลังม่าน” อังคณา นีละไพจิตร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image