ฟังเสียง‘ทุ่งกุลาฯ’ เพื่อไทยชี้เป้า กระตุ้น รบ.ช่วย

ฟังเสียง‘ทุ่งกุลาฯ’
เพื่อไทยชี้เป้า
กระตุ้น รบ.ช่วย

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) นำ ส.ส.ของพรรคสัญจรภาคอีสาน ลงพื้นที่สำรวจที่บ้านเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ที่ครอบคลุม 5 จังหวัด คือมหาสารคาม-สุรินทร์-ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ-ยโสธร

ทั้งนี้ พรรค พท.พร้อมผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ให้เพียงพอ และเสนอให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ โดยมีเป้าหมายหวังเปลี่ยนชื่อ “ทุ่งกุลาร้องไห้” ให้เป็น “ทุ่งกุลามั่งมี”

Advertisement

ลองไปฟังนักวิชาการและคนในพื้นที่ว่าปัจจุบัน “ทุ่งกุลาร้องไห้” ขณะนี้สภาพเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง
อาจารย์ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ข้อมูลว่า จากที่เคยศึกษาการทำวิจัยไทบ้านกับคณะที่ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ พี่น้องที่ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด และ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ พื้นที่ที่อยู่ทางด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูล ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นที่ราบสูงที่ใหญ่ที่สุดในที่ราบสูงโคราช มีแม่น้ำมูลไหลทางด้านทิศใต้

เท่าที่พบในงานวิจัยนี้คือทุ่งกุลาฯ ไม่ได้แห้งแล้งอย่างที่เข้าใจกัน มีหลายพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ริมฝั่งแม่น้ำมูล หรือฝั่งซ้ายของลำน้ำเสียว ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลสร้างเขื่อนราษีไศล ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณป่าบุ่งป่าทาม โดยอ้างว่าจะเอาน้ำไปใช้ในการเกษตรในทุ่งกุลาร้องไห้

แต่ปัญหาคือบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งเกลือ พอมีการสร้างเขื่อนทำให้เกลือจากใต้ดินผุดขึ้นมาแล้วปนอยู่ในอ่างเก็บน้ำ เมื่อเอาน้ำไปใช้ก็ใช้ได้แค่ 3 ปี ตอนนี้ก็เลิกรับน้ำแล้วเพราะน้ำเค็มในทุ่งกุลาฯ ข้างล่างเต็มไปด้วยเกลือ เป็นแหล่งเกลือโบราณ เช่น บ่อทองแสนขัน อ.สุวรรณภูมิ เป็นแหล่งต้มเกลือมาหลายพันปี ทุ่งกุลาฯ จึงเป็นแหล่งที่มีระบบนิเวศเฉพาะ ถ้าเราจัดการน้ำไม่ดีก็จะเกิดการแพร่ระบาดของดินเค็ม

Advertisement

                      

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ                    ธนิต พันธ์หินกอง                         บุญเกิด ภานนท์

“อาจารย์ไชยณรงค์” ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ศึกษาระบบนิเวศและสุขภาพของชาวบ้านทุ่งกุลาฯ มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลในภาคสนาม พบว่าทุ่งกุลาฯ มีแค่บางจุดที่ขาดแคลนน้ำ เราต้องแยกแยะกันระหว่างความแห้งแล้งกับการขาดแคลนน้ำ มันคงละเรื่องกัน ความแห้งแล้งคือสภาพภูมิอากาศ ทุ่งกุลาฯ เป็นระบบนิเวศกึ่งแห้งแล้ง หน้าแล้งต้องแล้ง หน้าฝนต้องมีฝน

แต่ใต้ดินในทุ่งกุลามีระดับน้ำที่ตื้นมาก ขุดลงไปเพียงแค่ 3-4 เมตร ก็เจอน้ำแล้ว ที่ผ่านมาวิถีชีวิตคนทุ่งกุลาฯ ใช้ชีวิตสอดคล้องกับพื้นที่สภาพกึ่งแห้งแล้ง หน้าฝนทำนาโดยอาศัยชลประทานน้ำฝน สามารถทำให้การผลิตการเกษตรสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญที่สุดของประเทศ เป็นนครหลวงข้าวหอมมะลิโลก

พอถึงหน้าแล้งก็เลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่อดีตสินค้าที่มีชื่อเสียงมากคือวัวควาย มีการต้อนวัวควายไปจากทุ่งกุลาฯ ไปขายที่กรุงเทพฯ ซึ่งวัวควายถือเป็นธนาคารของชุมชน ปัจจุบันมีการพัฒนาการเลี้ยงวัวควายให้มีคุณภาพ
นอกจากนี้ยังมีการปรับตัว ทำสระน้ำขนาดเล็กในที่นาของตัวเอง หากฝนทิ้งช่วงสามารถสูบน้ำจากในสระมาใส่ข้าวของตนเองได้ วิธีการจัดการน้ำ หากจะให้สอดคล้องกับระบบนิเวศต้องเป็นแหล่งน้ำขนาดเล็ก

อีกอย่างเรายังไม่ได้เอาความรู้ในการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมาใช้กับชาวนาทุ่งกุลาฯ เรามองเฉพาะแค่ขุดบ่อในนา แค่นี้ก็ทำให้ชาวนาอยู่ได้แล้ว แต่เรายังสามารถนำความรู้อื่นมาปรับใช้ได้อีกเหมือนต่างประเทศ เช่น ระบบน้ำหยด ซึ่งตอนนี้มีการทดลองการทำนาแบบไม่ใช้น้ำเยอะ แต่สามารถให้ผลได้เช่นกัน

จึงน่าวิตกว่าวิธีคิดของภาครัฐและนักการเมืองมักจะเอาเรื่องความแห้งแล้งกับขาดแคลนน้ำมารวมกัน คิดแต่จะดำเนินโครงการขนาดใหญ่ และจะให้ทุ่งกุลาฯ ทำนาได้ปีละสองครั้ง ซึ่งวิธีนี้ผิดพลาดมาก ทำนาสองครั้งเลี้ยงวัวควายไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจปฐพีศาสตร์กับเกษตรกรรม ทำนา 2 ครั้งเมื่อไหร่ ทุ่งกุลาฯ วิกฤตแน่ เพราะใต้ดินมีเกลือ เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม อาจไม่ได้เป็นนครหลวงของข้าวหอมมะลิโลก” อาจารย์
ไชยณรงค์ให้ข้อมูลและคำเตือน

ด้าน ธนิต พันธ์หินกอง นายอำเภอสุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ให้ข้อมูลอีกส่วนว่า ในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ข้าวหอมมะลิ โดยเฉพาะจังหวัดร้อยเอ็ด ถือว่าผลิตข้าวหอมมะลิได้ดีที่สุด เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือภัยธรรมชาติและการขาดแคลนน้ำ ปัญหาการเกิดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและการปลูกข้าวหอมมะลิ

เมื่อเกิดปัญหาขึ้น แต่ปรากฏว่าการแก้ไขมีความล่าช้า เนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาไม่มีการตั้งจุดรวมศูนย์ในการแก้ปัญหา เนื่องจากแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างอยู่ ยากที่เกษตรกรจะไปติดต่อขอความช่วยเหลือได้ เช่น กรมชลประทานก็ทำงานอย่างหนึ่ง ส.ป.ก.ก็ทำงานอีกแบบหนึ่ง กรมการข้าวอยู่จุดนึง สำนักงานเกษตรจังหวัดก็อยู่กันคนละจุด ยากต่อการประสานงานแก้ไขปัญหาให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว
ดังนั้นน่าจะรวมศูนย์ตั้งจุดเฉพาะกิจ เมื่อเกษตรกรมีปัญหาไปร้องขอให้ช่วยเหลือก็สามารถแก้ไขได้ด้วยความรวดเร็ว ทันต่อความต้องการ บรรเทาความเดือดร้อนได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังช่วยเกษตรกรประหยัดเวลาและค่าเดินทางด้วยหากตั้งจุดรวมศูนย์ดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้มากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ด้าน บุญเกิด ภานนท์ ประธานสหกรณ์การเกษตร อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เสริมว่า ปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบและสร้างปัญหาให้กับพื้นที่ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้อย่างมาก เพราะสมาชิกของสหกรณ์กว่า 9,000 ครอบครัว พื้นที่ทำนาในทุ่งกุลาฯ กว่า 170,000 ไร่ ได้รับผลกระทบรุนแรงมาโดยตลอด
นอกจากส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกร 9,000 ครัวเรือนแล้ว ยังส่งผลกระทบด้านการผลิตข้าวหอมมะลิแปรรูปของสหกรณ์ ที่ผลิตส่งออกจำหน่ายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฯ เป็นแห่งเดียวในโลกที่ได้รับการยอมรับว่าผลิตข้าวได้หอมที่สุดและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

 

ปัญหาหลักคือภัยแล้งที่ควรจะได้รับการแก้ไขแบบถาวร เพราะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้โดยเฉพาะในอำเภอเกษตรวิสัย ไม่มีคลองชลประทาน ไม่มีอ่างเก็บน้ำ การทำนาต้องอาศัยฝนอย่างเดียว และสภาพอากาศไม่แน่นอน และทิศทางลมผันผวน การทำฝนหลวงไม่เป็นไปตามเป้าหมายตามที่ต้องการ สภาวะภัยแล้งไม่เพียงแต่กระทบต่อการทำนา โดยเฉพาะสหกรณ์ที่ต้องซื้อข้าวจากสมาชิกเพื่อการผลิตปีละ 35,000 ตัน นำไปแปรรูปส่งขายตลาดในประเทศและส่งออกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนด้วย อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างถาวรในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ทั้งหมดเพื่อคนทุ่งกุลาฯ ทั้ง 5 จังหวัดเป็นเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่พรรคเพื่อไทยเพิ่งลงไปเยี่ยมเยือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image