สุจิตต์ วงษ์เทศ : ลิเก เริ่มมีที่กรุงเทพฯ สมัย ร.5

แฟ้มภาพ

ลิเก มีกำเนิดสมัย ร.5 จากสวดแขก (มุสลิม) ประสมเข้ากับสวดไทย (คฤหัสถ์) แล้วเจือละครชาตรี กับ ละครหลวงแบบเพี้ยนๆ อาจจัดลำดับพัฒนาการอย่างกว้างๆ ดังนี้

1.เล่นเบ็ดเตล็ด เป็นชุดภาษาต่างๆ เน้นตลกคะนอง จึงมีคนชอบดูมากๆ เช่น ชุดแขกรดน้ำมนต์, ชุดมอญราชาธิราช, ชุดลาวขุนช้างขุนแผน ฯลฯ มี 2 ระยะ คือ

ระยะแรก เรียก ลิเกบันตน มีกลองรำมะนาตีประกอบ (เหมือนลำตัด), ระยะหลัง เรียก ลิเกลูกบท เปลี่ยนวงรำมะนา เป็นวงปี่พาทย์ ประโคมรับ

2.เล่นทรงเครื่อง เป็นชุดออกภาษา (สิบสองภาษา) ประสมกันระหว่างลิเกบันตน กับลิเกลูกบท มีทั้งวงกลองรำมะนา และวงปี่พาทย์ เล่นสลับกัน

Advertisement

ผู้เล่นแต่งเข้าเครื่องปักดิ้นเลื่อมแพรวพราว เลียนแบบละครรำ จึงเรียก ลิเกทรงเครื่อง พระยาเพชรปาณีคิดสร้างสรรค์ลิเกทรงเครื่อง แล้วปิดวิกแสดงประจำอยู่ใกล้ป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร หน้าวัดราชนัดดา

โดยงดเล่นบันตนตีรำมะนา แล้วให้ปี่พาทย์บรรเลงรับอย่างเดียว มีออกแขกเป็นสัญลักษณ์ ชักติดตลกพอควรและบอกเรื่องราวที่จะแสดง แล้วเข้าเรื่องทันที มีทำนองร้องดำเนินเรื่องโดยเฉพาะ เรียกเพลงหงส์ทอง (ชั้นเดียว) ใช้ด้นตามต้องการ

ลิเกรำเอง ร้องเอง โดยไม่เน้นว่าต้องมีฝีมือเป็นเลิศ เอาแต่พอเป็นรำเป็นร้อง

Advertisement

รำเอง อย่างลวกๆ ลัดๆ เลียนแบบละครรำพอเป็นกระสาย เพราะไม่ใช่เล่นละคร และรำไม่เป็น จึงไม่เป็นรำ

ร้องเอง อย่างลวกๆ หลวมๆ ไม่มีคนบอกบท (เหมือนละครชาตรี) ไม่มีคนร้องแทน (เหมือนละครใน) ลิเกต้องจำบทร้องเองจากครูแต่งให้ท่อง

ความเป็นลิเกแท้ๆ พระยาเพชรปาณีทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ (พ.ศ.2483) ว่า

“คนที่ชอบดูยี่เกไม่เอาใจใส่ในการขับร้องฟ้อนรำ หรือเพลงปี่พาทย์ ชอบแต่ 3 อย่าง คือ ให้แต่งตัวสวย อย่าง 1 ให้เล่นขบขัน อย่าง 1 กับ เล่นให้เร็วทันใจ อย่าง 1 ถ้าฝืนความนิยมคนก็ไม่ชอบดู”

คนรักลิเกทุกวันนี้ อยากให้ลิเกรักษาแบบแผนดั้งเดิมแท้ๆ ต้องอ่านทบทวนดีๆ ในคำกราบทูลของพระยาเพชรปาณี อย่ามโนเอาเองว่าลิเกต้องอย่างโน้นอย่างนี้อย่างนั้น ทั้งๆ ไม่จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image