ผู้ส่งออกห่วงสายป่านสภาพคล่องธุรกิจ หากปล่อยส่งออกวูบยาว หวังพณ.-ก.อุตฯผู้นำแก้วิกฤต

แฟ้มภาพ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่าไตรมาส 4 /2562 ภาคการส่งออกยังไม่มีทิศทางพลิกกลับมาบวกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปกติช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี จะมีคำสั่งซื้อสูงขึ้น แต่ปีนี้ตัวเลขแต่ละเดือนที่ทำไว้ก็ไม่ได้ดีเท่าที่ควร หากช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ ยังทำตัวเลขออกมาไม่แตกต่างจากเดิมหรือยังเป็นตัวเลขเท่าเดิม รวมถึงสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ยังไม่มีการคลายตัว ก็จะทำให้ตัวเลขของปีนี้ติดลบเพิ่มมากขึ้นได้ เพราะตัวเลขของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ติดลบกว่า 4.5% โดยความจริงแล้ว ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี ตัวเลขการส่งออกจะพุ่งขึ้นบ้าง เพราะมีการสั่งซื้อสินค้าตุนไว้ เพื่อเตรียมจำหน่ายในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองในวันหยุดยาวตั้งแต่วันคริสต์มาส กิจกรรมเคาต์ดาวน์ และปีใหม่ แต่ขณะนี้ตัวเลขก็ยังไม่สามารถกระเตื้องขึ้นมาได้เลย รวมถึงตัวเลขการนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อมาผลิตสินค้าในประเทศก็ยังอยู่ในโซนติดลบ ซึ่งจะส่งผลกับตัวเลขการส่งออกอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะหากไม่มีการนำเข้าวัตถุดิบจะเกิดการผลิตสินค้าน้อยลง ทำให้ภาพรวมแนวโน้มการผลิตสินค้าในประเทศก็ไม่ได้ดีจากเดิมมากนัก

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า แนวโน้มปี 2563 หากเทรดวอร์ยังยืดเยื้อต่อไปอีก ในไตรมาส 1/2563 คงจะยังไม่น่าเติบโตได้ดีเท่าที่ควร แต่คาดหวังหากปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563 ภาพการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนดีขึ้น โอกาสการส่งออกจะกลับมาดีขึ้นในไตรมาส 2 อาจจะมีความเป็นไปได้ โดยสิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคการส่งออก มองว่าภาครัฐจะต้องมีมาตรการออกมาช่วยผ่อนภาระของผู้ประกอบการ อาทิ การปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) เพราะขณะนี้ต้องมาพูดถึงเรื่องสายป่านของธุรกิจที่สั้นและยาวต่างกันแล้ว เนื่องจากหากใครมีสายป่านที่ยาวกว่ากันก็มีโอกาสรอดจากผลกระทบสูง โดยเฉพาะการถูกผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งกว่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้การช่วยผ่อนปรนในด้านสินเชื่อต่างๆ จะเป็นประโยชน์และช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและกลางอยู่รอดต่อไปได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่ส่งสินค้าไปจีน และจีนส่งต่อไปยังสหรัฐฯ เพราะได้รับผลกระทบจากเทรดวอร์โดยตรง ทำให้ต้องหาทางปรับตัวให้ได้ อาทิ การส่งสินค้าไปยังตลาดอื่นทดแทนสัดส่วนที่หายไป หรือการตั้งรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนทั้งจีนและสหรัฐ มายังประเทศ

” ต้องศึกษาให้แน่ชัดว่า การย้ายฐานของต่างชาติสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างแท้จริงหรือไม่ อาทิ การจัางงานเพิ่ม การเพิ่มงานให้ผู้ปาะกอบการที่เกี่ยวข้องในระบบซัพพลายเชน เพื่อให้มีส่วนสร้างประโยชน์ให้กับไทยด้วย แต่หากเข้ามาเพื่อมาแล้วนำทุกอย่างมาเอง ทั้งเครื่องจักร แรงงาน และมาเพื่อใช้ไทยเป็นแค่แหล่งผลิตและใช้ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยอย่างเดียว ก็ถือเป็นความน่ากลัวที่จะเพิ่มขึ้น เพราะไทยจะถูกเพ็งเล็งจากประเทศคู่ค้าในการส่งออกสินค้าไปขายมากขึ้น แต่ประโยชน์ไม่ได้มีเพิ่มแก่ประเทศเลย” นายวิศิษฐ์ กล่าว

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า การปรับลดประมาณการตัวเลขจีดีพีไทยทั้งปี 2562 เหลือโต 2.6% เพราะตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 โตจากไตรมาส 2 เพียง 1% โดยจะส่งผลกับกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก เพราะอาจจะไม่สามารถพลิกกับมาได้อย่างรวดเร็วตามที่ต้องการ หากนำจีดีพีไทยมาประเมินร่วมกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ขณะที่ภูมิภาคอื่น อาทิ ยุโรป จีดีพีรวมของหลายประเทศ อ่อนแอมากกว่าไทยด้วยซ้ำ หากการส่งออกตั้งเป้าไปยังประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ยังถือว่ามีโอกาสเติบโตได้อยู่

Advertisement

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล หากปรับเปลี่ยนอะไร ต้องดูว่าหากมีการเปลี่ยนแล้ว นโยบายในการทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร นโยบายใหม่จะเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนี้หรือไม่ โดยหากให้ประเมินว่าผู้นำควรจะเป็นกระทรวงใดนั้น ในส่วนของภาคการส่งออกก็มองว่าควรเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม เพราะเกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกโดยเฉพาะ และจะเกี่ยวเนื่องกับกระทรวงอื่นๆด้วยเป็นทอด โดยหากเปลี่ยนแล้วจะส่งผลกระทบในการสานต่องานหรือไม่ หากมาจากรัฐบาลเดียวกัน เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหามากนัก เพราะน่าจะมองไปในทิศทางเดียวกัน

“ในส่วนของเรื่องที่รัฐบาลต้องทำต่อจากนี้คือคงต้องหารือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพราะภาพการเปลี่ยนแปลงแต่ละเวลาเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว เรียกว่าการถูกดิสรัปชั่นมาเร็วมากในหลายๆ หากรัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการอะไร ขอแค่ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสามารถประคองตัวเองผ่านพ้นช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในปัจจุบันก็พอ ขณะนี้ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลหรือทีมเศรษฐกิจ ต้องเจอกับความเหนื่อยเหมือนกันหมด เพราะปัญหาเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่แค่ปัญหาภายใน จึงไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ”นายวิศิษฐ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image