กทม.จ่อ ระงับ รพ.ในสังกัดตรวจสฺขภาพแรงงานต่างด้าว งดสื่อทำข่าว จะส่งเนื้อหาให้เอง หวั่น “โควิด” ลาม

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ผู้แทนกลุ่มเขต สำนักงานประชาสัมพันธ์ ร่วมประชุม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ได้มอบหมายให้สำนักปกครองและทะเบียน(สปท.) กรุงเทพมหานคร หารือกับกระทรวงแรงงาน กรณีที่นายจ้างจะต้องนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา ไปรายงานตัวเพื่อต่ออายุใบอนุญาตประกอบอาชีพ ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพประจำปีด้วยนั้น เพื่อเป็นการลดความแออัดในโรงพยาบาล อันเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทางหนึ่งนั้น สปท. อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อขอยกเลิกการตรวจสุขภาพประจำปีของแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้เพื่อลดความแออัดภายในโรงพยาบาล และลดภาระของแพทย์และพยาบาลในการดูแลเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ด้วย
ในส่วนการผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าสำหรับแจกจ่ายให้บุคลากรของกรุงเทพมหานครและประชาชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ปัจจุบันสำนักพัฒนาสังคมได้เปิดทำการสอนบุคลากรสำนักงานเขตและประชาชนไปแล้ว 35 สำนักงานเขต ส่วนเขตที่เหลืออยู่ระหว่างจัดส่งวิทยากรไปสอนคาดว่าจะครบทุกพื้นที่ภายใน มี.ค. 63 นี้ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะดำเนินการสอน ณ หน่วยงานของรัฐและเอกชน กว่า 130 แห่ง ได้แก่ หน่วยงานทหาร สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ทั้งนี้ สรุปยอดรวมหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครผลิตได้ มีจำนวน 13,014 ชิ้น และที่หน่วยงานต่างๆ ทำการสอนเพื่อแจกจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่และประชาชน จำนวน 29,004 ชิ้น รวมจำนวนหน้ากากอนามัยผ้าที่ผลิตได้ทั้งสิ้น 42,018 ชิ้น ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้บริหารจัดการการใช้หน้ากากอนามัยแบบทางการแพทย์และหน้ากากอนามัยแบบผ้าโดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความปลอดภัยของบุคลากรของกรุงเทพมหานครที่ต้องปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล รวมถึงพนักงานรักษาความสะอาดของสำนักงานเขตต่างๆ ด้วย

สำหรับการทิ้งและกำจัดหน้ากากอนามัยใช้แล้วซึ่งในภาพรวมถือว่าเป็นขยะติดเชื้อแม้ผู้สวมใส่จะไม่ใช่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือผู้สงสัยว่าป่วยก็ตาม กรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมถังขยะติดเชื้อไว้ที่สำนักงานเขต 50 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) บริเวณหน้าห้องตรวจโรค ชั้น 1 ฝั่งถนนดินสอ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร2 (ดินแดง) บริเวณจุดคัดกรอง 4 จุด ประกอบด้วย อาคาร 1 (อาคารสำนักการโยธา) บริเวณทางเข้าด้านธนาคารกรุงไทย อาคาร 2 (อาคารสำนักการระบายน้ำ) บริเวณทางเข้าด้านห้องละหมาด อาคารธานีนพรัตน์ 2 จุด (ด้านฝั่งวิภาวดี และด้านฝั่งวงเวียนน้ำพุ) และอาคารไอราวัตพัฒนา บริเวณทางเข้าชั้น B1 ใกล้ลานน้ำพุ ทั้งนี้เพื่อกรุงเทพมหานครจะได้นำไปทำลายตามขั้นตอนต่อไป

ด้านนางจินดารัตน์ ชโยธิน ที่ปรึกษาและโฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า กรุงเทพมหานครห่วงใยต่อสุขภาพของทุกคน รวมทั้งเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชนที่จะต้องทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลต่างๆ ของกรุงเทพมหานครต่อไปยังประชาชน และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19 ที่กำหนดไม่ให้มีการรวมกลุ่มกันของประชาชน กรุงเทพมหานครขอปรับเปลี่ยนแนวทางการการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ของกรุงเทพมหานคร และการทำข่าวของสื่อมวลชน ดังนี้ 1.สำนักงานประชาสัมพันธ์ จะแจ้งกำหนดการของผู้บริหารตามปกติ พร้อมจัดทีมทำข่าว ถ่ายภาพนิ่ง/วิดีโอ เพื่อส่งให้ผู้สื่อข่าวทุกภารกิจ 2.เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ กทม.จะงดการแถลงข่าวทุกกรณี หากสำนักข่าวใดมีประเด็นข้อสงสัยสอบถาม สามารถส่งคำถามของท่านไปยังทีมงานของสำนักงานประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า ก่อนการประชุมใดๆ ของกทม. จากนั้นสำนักประชาสัมพันธ์จะถ่ายทำคลิปสัมภาษณ์ผู้บริหาร ตามประเด็นที่สำนักข่าวต้องการ เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมจะดำเนินการส่งให้สื่อมวลชน โดยสื่อมวลชนไม่ต้องส่งทีมข่าวมาทำข่าวที่กทม. ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงของสื่อมวลชนทางหนึ่งด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image