เอ็มเทค โชว์แนวคิดวัสดุศาสตร์  ยกระดับชีวิตคนไทย ในงานเฮลท์แคร์2020

เอ็มเทค โชว์แนวคิดวัสดุศาสตร์  ยกระดับชีวิตคนไทย ในงานเฮลท์แคร์2020

 

เมื่อวันที่ 4 กันยายน  ที่ งาน Healthcare2020 ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ บนเวทีเสวนา Health Forum ในหัวข้อ “MTEC กับนวัตกรรมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(MTEC) การเสวนาแนวคิดนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

นายศราวุฒิ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบและแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรม กล่าวว่า การสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ตนเริ่มจากตั้งโจทย์การวิจัยที่ต้องออกแบบ ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุนั้นจุดที่ตนมองเห็น คือ ส่วนใหญ่แล้วผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุมักจะถูกออกแบบให้ดูเชยและไม่น่าใช้ ตนจึงมีแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ คือ 1.ต้องมีประโยชน์ 2.ความสวยและน่าใช้ จึงทำการวิจัยเริ่มต้นจากสำรวจความต้องการของผู้ใช้งาน โดยจะเริ่มเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้ดูแลผู้สูงอายุ เช่น พยาบาลดูแล ลูกหลานในครอบครัว เพื่อให้ได้รายละเอียดความต้องการว่าต้องการผลิตภัณฑ์ใดในการดูแลผู้สูงอายุ รวมไปถึงการเก็บข้อมูลในกลุ่มผู้สูงอายุเองว่ามีความต้องการ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลนานถึง 3 เดือน หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาระดมความคิดกัน เพื่อออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ โดยจะนำต้นแบบที่ได้มาให้กลุ่มผู้สูงอายุทดลองใช้ ประเมินความพึงพอใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ และหาข้อบกพร่องเพื่อแก้ไขหรือต่อยอดผลิตภัณฑ์ และพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงการจดสิทธิบัตร และหารือร่วมกับภาคเอกชนที่มีความพร้อมที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย และมีความพร้อมที่จะต่อยอดเทคโนโลยี นำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปปรับปรุงให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ใช้งานต่อไป

Advertisement

ศราวุฒิ เลิศพลังสันติ

“เราเก็บประเด็นปัญหา มองกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ และหาปัญหาที่พบในแต่ละวัน เช่น การเคลื่อนไหวหกล้ม อาหาร สภาวะสมองเสื่อม ซึ่งนอกจากผลิตภัณฑ์แล้วยังมีนวัตกรรมเสริมสร้างระบบความคิดผ่านเกมหรือกิจกรรม เช่น เกมฝึกสมอง MONICA แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่สามารถโหลดได้ฟรี เป็นเกมที่ไม่ยาก แต่สามารถช่วยฝึกทักษะของผู้สูงอายุได้” นายศราวุฒิ กล่าว

ถัดมา นส.บุญล้อม ถาวรยุติการต์ หัวหน้าทีมวิจัยอุปกรณ์เฉพาะบุคคล กล่าวว่า นวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ จะต้องสามารถนำมาใช้แก้ปัญหา พร้อมทั้งป้องกันความผิดปกติของร่างกายมนุษย์ ปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีสภาพร่างกายและสรีระที่เปลี่ยนแปลงหรือความสามารถของร่างกายทดถอยลง ซึ่งส่งผลต่อสภาวะด้านจิตใจได้ ดังนั้นอุปกรณ์ทางการแพทย์จะช่วยแก้ไขปัญหาในกลุ่มผู้สูงอายุ และป้องกันในกลุ่มวัยรุ่นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

Advertisement

“ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ คือ แผ่นรองในรองเท้าเฉพาะบุคคล เชื่อว่าทุกคนมีอาการปวดเท้า เล็กน้อยจนคนเพิกเฉยไป แต่จริงๆ แล้วหากมีการสะสมไปจะส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆ เช่น เข่า สะโพก หลัง เป็นต้น และอาจส่งผลเป็นสภาวะเท้าแบน ที่หลายคนไม่รู้ตัว ปัญหานี้มีผลต่อการรับน้ำหนักของเท้าที่ไม่กระจายน้ำหนัก โดยผลิตภัณฑ์แผ่นรองเท้า จะมีส่วนเสริมที่ออกแบบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เป็นรูปทรงที่เหมาะต่อการสวมใส่ เพราะ เราออกแบบร่วมกับแพทย์ ดังนั้นจึงมีตรงตามกายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยา และมีการขึ้นรูปทรงด้วยระบบสามมิติ” นส.บุญล้อม กล่าว

นอกจากนี้ นส.บุญล้อม กล่าวว่า ขณะนี้กำลังวิจัยอุปกรณ์พยุงหลังเฉพาะบุคคล ที่ไม่ใช่เพียงกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่วัยเด็กหรือช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่น เป็นวัยที่กระดูกสามารถปรับเปลี่ยนรูปได้ และหากกระดูกผิดรูปไปก็จะส่งผลต่อสุขภาพในภายหลังได้ สิ่งที่คาดหวังเป็นอย่างยิ่งคืออุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ และอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุให้เคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น ทีมวิจัยจึงเปลี่ยนรถเข็นธรรมดา เป็นรถเข็นไฟฟ้าได้ ในราคาไม่ถึง 10,000 บาท เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับภาคอาชีวะศึกษา เพื่อการพัฒนารถเข็นไฟฟ้า และอุปกรณ์ฝังในที่เอ็มเทค พัฒนาขึ้น เป็นการเน้นพัฒนาวัสดุนำส่งยา ที่ฝังเข้าไปในกระดูก สามารถเข้าไปรักษาแผล ลดการติดเชื้อและลดเวลาในการผ่าตัดของแพทย์

ด้าน นายชัยวุฒิ กมลพิลาส ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร หน่วยวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง(MTEC) กล่าวว่า หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่าเรื่องของการออกแบบวัสดุจะเกี่ยวข้องกับอาหารอย่างไรนั้น สามารถอธิบายได้ว่า เป็นการออกแบบอาหารผ่านองค์ความรู้ของวัสดุศาสตร์ ซึ่งแท้จริงแล้วอาหารนับว่าเป็นวัสดุประเภทหนึ่ง ที่มีองค์ประกอบภายใน ดังนั้นในการพัฒนาอาหาร จะต้องทราบว่าร่างกายของแต่ละวัยหรือกลุ่มผู้บริโภคต้องการสารอาหารประเภทในปริมาณมากน้อยเพียงใด

 

ชัยวุฒิ กมลพิลาส

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า แนวคิดของการออกแบบอาหาร 4 ส่วน คือ 1.วัสดุดิบอาหาร ต้องดีต่อสุขภาพ 2.ออกแบบอาหารเพื่อความต้องการของผู้บริโภค เช่น กลุ่มผู้ควบคุมอาหาร จะต้องเน้นในอาหารไขมันต่ำเพื่อป้องกันโรคอ้วน 3.ออกแบบอาหารให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น อาหารที่เคี้ยวและรับประทานง่าย เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาสุขภาพฟัน ส่งผลให้เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด การออกแบบอาหารจึงต้องต่อยอดไปจนถึงอาหารที่สามารถย่อยง่าย เพื่อป้องกันภาวะอาหารไม่ย่อย และ 4.อาหารเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้แพ้อาหาร หรือผู้มีปัญหาในการรับประทานอาหาร

“ตัวอย่างของอาหารไขมันต่ำ เช่น ซอสมายองเนส ที่เป็นเนื้อเหลว ประกอบไปด้วยไขมันที่ค่อนข้างสูง แต่ในใช้องค์ความคิดวัสดุศาสตร์ออกแบบซอสมายองเนส ให้มีไขมันต่ำกว่าปกติถึง 70% แต่ยังคงรสชาติ หน้าตาและผิวสัมผัสที่เหมือนกับมายองเนสทั่วไป มองด้วยตาเปล่าไม่สามารถแยกออกได้ และรสชาติก็เหมือนเดิมทุกอย่าง เพื่อแค่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของซอสมายองเนสแบบเดิมให้มีไขมันที่ต่ำลงเท่านั้น” ดร.ชัยวุฒิ กล่าว

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงานเฮลท์แคร์2020 สามารถเดินทางอย่างสะดวกโดยทางด่วนและรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที(MRT) สถานีสามย่าน ทางออกที่ 2 สำคัญที่สุดในการเข้าร่วมงานต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนมาเพื่อรับสิทธิ์ในการตรวจสุขภาพภายในงาน

ทั้งนี้การจัดงานเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)(ศบค.) กำหนด โดยคัดกรองอุณหภูมิร่างกายของผู้เข้าร่วมงาน ตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และผู้เข้าร่วมในงานจะต้องสวมหน้ากากอนามัย/ผ้าเพื่อป้องกันตนเองตลอดเวลาขณะเข้าร่วมงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image