WWF ชี้ เพาะพันธุ์เสือโคร่งขาว ไม่ใช่การอนุรักษ์

WWF ชี้ เพาะพันธุ์เสือโคร่งขาว ไม่ใช่การอนุรักษ์

วันที่ 12 มิถุนายน เฟชบุ๊ก กองทุนสัตว์ป่าโลก ประเทศไทย(WWF Thailand) ได้เผยแพร่บทความ เรื่องการเพาะพันธุ์เสือโคร่งขาว ไม่ใช่การอนุรักษ์ โดยเนื้อหามีดังนี้
โครงการเพาะพันธุ์เสือโคร่งที่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม อาจช่วยบรรเทาวิกฤตประชากรเสือโคร่งในป่าได้อยู่บ้าง แต่สถานเพาะพันธุ์เสือโคร่งส่วนใหญ่กลับบิดเบือนข้อเท็จจริงหลายประการของเสือโคร่ง โดยเฉพาะ “เสือโคร่งขาว” และใช้ข้ออ้างงานอนุรักษ์ในการกวาดรายได้มหาศาลเข้ากระเป๋าตัวเอง
1. เสือโคร่งขาว ไม่ใช่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์
  “เสือโคร่งขาว” มักถูกสร้างภาพให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นสายพันธุ์หายาก และใกล้สูญพันธุ์ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้เป็นข้ออ้างในการเพาะพันธุ์เพิ่ม แต่จริง ๆ แล้ว เสือโคร่งขาวไม่ใช่เสือโคร่งเผือก หรือเป็นสายพันธุ์เฉพาะทางแต่อย่างใด ลายพรางสีขาวพวกมันเกิดจาก ‘ความผิดปกติของเม็ดสี’ หรือ ‘ยีนส์ด้อย’ ที่ทำให้ผิวหนังเกิดภาวะด่าง (Leucism) ลายพรางสีขาวยังเป็นอุปสรรคต่อตัวเสือโคร่งเองเมื่อต้องใช้ชีวิตในป่าใหญ่ เพราะทำให้พวกมันพรางตัวยากขึ้น และอาจตกเป็นเป้าของนายพรานได้ง่าย
2. เสือโคร่งขาว สุขภาพย่ำแย่ ภูมิคุ้มกันโรคต่ำ
 การเพิ่มขึ้นของประชากรเสือโคร่งขาวสามารถทำได้ด้วยการผสมพันธุ์เสือโคร่งขาวด้วยกันเอง ซึ่งในสถานเพาะพันธุ์ การผสมพันธุ์ของสัตว์ที่เกิดขึ้นเป็นการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด (Inbreeding) หรือการนำเสือโคร่งที่เป็นสายเลือดเดียวกันมาผสมพันธุ์กันเอง การผสมพันธุ์แบบเลือดชิดไม่เพียงเกิดขึ้นกับเสือโคร่งขาวเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับเสือโคร่งทั่วไป และสัตว์ประเภทอื่นด้วยเช่นกัน การผสมพันธุ์แบบนี้ ทำให้ลูกเสือที่กำลังลืมตาออกมาดูโลกมีภูมิคุ้มกันต่ำลง และมีอัตราการตายเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความเสื่อมโทรมทางสายเลือด (Inbreeding depression)
3. เสือโคร่งขาว ถูกจับผสมพันธุ์เพื่อการค้า
 ในปัจจุบัน พบการเพาะพันธุ์เสือในเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น และมากกว่าเพื่อการอนุรักษ์ อีกทั้ง การค้าชิ้นส่วนของเสือโคร่งเลี้ยงก็ยังคงดำเนินคู่ขนานไปกับการล่าและค้าชิ้นส่วนเสือโคร่งจากป่า ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ลูกเสือตัวเล็ก ๆ มักตกเป็นเป้าความสนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยว เนื่องจากหน้าตาน่ารักน่าชัง ทำให้ผู้ประกอบการทำเงินได้มากมายจากกิจกรรมถ่ายรูปกับเสือ บวกกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูที่น้อยกว่าเสือตัวโต ยิ่งกระตุ้นให้สถานเพาะเลี้ยงเร่งผสมพันธุ์เสือเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยว แต่เมื่อลูกเสือโคร่ง กลายเป็นเสือโคร่งโตเต็มวัย ผู้ประกอบการหลายแห่งเลือกใช้วิธีฆ่าและจำหน่ายชิ้นส่วนเสือโคร่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการแบกรับค่าใช้จ่ายจากการจัดหาอาหารปริมาณมากขึ้น ค่าเลี้ยงดูแลที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยที่ต้องมีเพิ่มมากขึ้นสำหรับเสือโคร่งตัวโต
สถานเพาะพันธุ์เสือโคร่งหลายแห่งจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าไปในที่สุด
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image