เปิด ‘ร่างที่ 13’ ผ่านรัฐสภา แก้ระบบเลือกตั้ง ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ คืนสู่ ‘บัตร 2 ใบ’

เปิดเนื้อหา “ร่างที่ 13” ผ่านรัฐสภา แก้ระบบเลือกตั้ง จาก “จัดสรรปันส่วนผสม” คืนสู่ “บัตร 2 ใบ” 

ตามที่ที่การประชุมรัฐสภา มีมติ 552 ต่อ 24 งดออกเสียง 130 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 27 รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ร่างที่ 13” ในวาระแรกเพียงร่างเดียวจากทั้งหมด 13 ร่าง ซึ่งเป็นร่างที่ ส.ส. 3 พรรคร่วมรัฐบาล “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา” โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำเสนอนั้น

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

สำหรับ “ร่างที่ 13” ที่ผ่านเข้าไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ของรัฐสภานั้น มีทั้งหมด 4 มาตรา เป็นการแก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในเรื่องระบบเลือกตั้งจาก “จัดสรรปั่นสวนผสม” ให้กลับคืนไปสู่บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

สาระสำคัญอยู่ในมาตรา 3-4 โดยใน มาตรา 3 ของ “ร่างที่ 13” นี้ ระบุ ให้ยกเลิกความในมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

Advertisement

“มาตรา 83 สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสี่ร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งร้อยคน

“ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างวงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการเลือกตั้ง หรือประกาศชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่

“ในกรณีมีเหตุใดๆ ที่ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งร้อยคน ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่”

Advertisement

ขณะที่ มาตรา 4 ระบุ ให้ยกเลิกความในมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 91 การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” 

ทั้งนี้ ใน “บันทึกหลักการและเหตุผล” ประกอบการเสนอ “ร่างที่ 13” ได้ระบุ “ปัญหา” จากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกจำนวน 500 มาจากแบ่งเขต 350 คน แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ว่า เป็นจำนวนไม่สอดคล้องต่อจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง

“หากมีการกำหนดให้ ส.ส.เขต จำนวน 400 คน จะทำให้การดูแลปัญหาของประชาชนมีความใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการคำนวณคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็จะมีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และเป็นธรรมต่อพรรคการเมือง และต้องเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน การให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต ย่อมทำให้ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image