แซ่บนัวส่งท้ายปีไม่มีแผ่ว ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ชวนขุดราก‘พลังลาวชาวอีสาน’ จากสวนสันติชัยปราการถึงแม่น้ำโขง

สวนสันติชัยปราการ ที่ตั้งของป้อมพระสุเมรุ หนึ่งในสถาปัตยกรรมยุคสร้างกรุงเทพฯ ที่รัชกาลที่ 1 โปรดให้เกณฑ์ลาวจากเวียงจันทน์และอีสานมาร่วมขุดรากก่อกำแพงพระนครและสร้างป้อมปราการ

นับเป็นทริปสุดท้ายในพุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบสี่ที่ร้อนแรงไม่มีแผ่ว สำหรับรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ประจำเดือนธันวาคม ในตอน ‘พลังลาว ชาวอีสาน ตำนานพญานาค’ ซึ่งพร้อมเผยแพร่ให้รับชมพร้อมกันในเวลา 2 ทุ่มตรงของพรุ่งนี้ วันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน ตรงกับ 30 ธันวาคม ก่อนสิ้นปีเพียง 1 วัน

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์การดูแคลนคนอีสานและลาวเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ทว่า สะท้อนทัศนคติที่ควรปรับเปลี่ยนเสียทีในห้วงเวลาที่โลกใบนี้ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมมากขึ้นตามลำดับ

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน ชวนแฟนานุแฟนไปยัง ‘สวนสันติชัยปราการ’ ที่ตั้งของ ‘ป้อมพระสุเมรุ’ ถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ อันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพลังลาวชาวอีสานอย่างที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงหรือหลงลืมไป

ซากกำแพงวังบางยี่ขัน ซึ่งสร้างให้ ‘เจ้าลาว’ ประทับเมื่อเสด็จมายังกรุงเทพ

นั่นเพราะเมื่อย้อนไปในแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี โปรดให้เกณฑ์ลาวจากเวียงจันทน์และอีสานมาร่วมสร้างกรุงเทพฯ โดยรับหน้าที่ขุดรากก่อกำแพงพระนครและสร้างป้อมปราการงดงามตระหง่านกรุงรัตนโกสินทร์

Advertisement

ไม่เพียงเท่านั้น ครั้นยืนทอดสายตาจากลานป้อมพระสุเมรุ ข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมองเห็นย่าน ‘บางยี่ขัน’ และสะพานพระรามที่ 8 เชิงสะพานดังกล่าวมีซากกำแพงวังบางยี่ขัน ซึ่งสร้างให้ ‘เจ้าลาว’ ประทับเมื่อเสด็จมายังกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ เจ้าอนุวงศ์ นิราศบางยี่ขัน ของ คุณพุ่ม กวีหญิงในยุคนั้นมีการกล่าวถึงวังดังกล่าวด้วย

“ลาวมีส่วนสำคัญในการสร้างกรุงเทพฯ แต่ประวัติศาสตร์ไทยไม่พูดถึง ก่อนมีประเทศไทย อีสานกับลาว เดิมถือเป็นพื้นที่เดียวกัน สมัยอยุธยา ศูนย์กลางอยู่เวียงจันทน์แต่อำนาจรัฐมาถึงร้อยเอ็ด หัวใจของความเป็นอีสานคือแม่น้ำโขง มีตำนานพญานาค หลักฐานสำคัญที่สุดคือ อุรังคนิทาน ตำนานพระธาตุพนม ประวัติศาสตร์ไทยที่ขาดอีสาน ไม่มีแม่น้ำโขง ไม่มีทางเขียนได้ เจ๊ง โกหก” สุจิตต์เกริ่นเป็นน้ำจิ้มแจ่ว ชวนน้ำลายสอไปกับความแซ่บของเนื้อหาที่จะออนแอร์พร้อมกันคืนพรุ่งนี้

ลาวกับอีสาน มีความเป็นมาอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่อาจแยกจากกันได้

Advertisement
แผนที่อีสาน แสดงแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขาน้อยใหญ่แยกย่อยจำนวนมาก

แม้ ‘พื้นที่’ จะมีแม่น้ำโขงไหลผ่าน ฝั่งซ้ายคือ สปป.ลาว ฝั่งขวา คืออีสาน ประเทศไทย
ส่วน ‘อำนาจรัฐ’ ลาวเคยมีศูนย์กลางอยู่ที่เวียงจันทน์และจำปาสัก โดยมีอำนาจเหนือพื้นที่ลุ่มน้ำชี เอกสารสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บ่งชี้ว่าลาวมีอาณาเขตถึง ‘ลำสะแทก’ ด้านเหนือนอกเมืองพิมาย จังหวัดนครราชสีมาของไทยในปัจจุบัน

2 วิทยากรอาวุโส ยังเตรียมเปิดเผยหลักฐานเกี่ยวกับการมาถึงของคนลาวสู่ ‘กรุงธนบุรี’ และ ‘กรุงเทพฯ’ รวมถึงการที่ ‘พระเจ้าตาก’ โปรดให้พระยาจักรี (รัชกาลที่ 1) ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ.2321 แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมายังกรุงธนฯ อีกทั้งกวาดต้อนผู้คนจำนวนมากมาพร้อมกัน ผลของสงครามครั้งนั้น ทำให้หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสัก ตกอยู่ในอำนาจของกรุงธนบุรี

หลัง พ.ศ.2321 ลาวเริ่มตั้งบ้านเรือนในกรุงธนฯ-กรุงเทพฯ ก่อนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบรรพชนคนกรุงเทพฯ ในวันนี้

ส่วนเรื่องตำนานพญานาคจากปาก ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ไม่เพียงมากมายด้วยสีสัน หากแต่ลึกซึ้งถึงรากเหง้า ขุดรากจากความทรงจำตามคำบอกเล่าผ่านความเชื่อที่ว่าแผ่นดินอีสานของไทยเกิดจากการกระทำของพญานาคซึ่งลาวเรียกว่า ‘ลวง’ หรือตัวลวง

หลักฐานสำคัญปรากฏใน ‘อุรังคธาตุ’ หรือตำนานพระธาตุพนม เนื้อหาโดยสรุปมีอยู่ว่า นาค 2 ตัวนามว่า พินทโยนกวตินาค และ ธนะมูลนาค เป็นเพื่อนกัน แหวกว่ายอาศัยอยู่ในหนองแส ต่อมาเกิดทะเลาะเบาะแว้ง เลยถูกขับไล่ไปอยู่ทางใต้

กับข้าว กินกับข้าวเหนียว บ้านคอนสาย วารินชำราบ อุบลราชธานี ภาพถ่ายโดย วิโรฒ ศรีสุโร เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2513 หรือกว่า 50 ปีก่อน

พินทโยนกวตินาคไปอยู่เมืองโยนก ทางแม่น้ำปิง

ธนะมูลนาคไปอยู่ทางอีสาน หย่อมย่านแม่น้ำมูล-ชี ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีนาค 9 ตัว ช่วยพิทักษ์ปกปักรักษาแม่น้ำโขง เรียกว่า ‘เก้าลวง’ ซึ่งเป็นคำเดียวกับ ‘กาหลง’ ในวรรณกรรมเก่าแก่อย่าง ‘ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง’ รวมถึง ‘พระลอ’

“น้ำโขง น้ำชี น้ำมูล หนองหาน ฯลฯ มีคําบอกเล่าเป็นนิทานอุรังคธาตุ พรรณนากําเนิดของแม่น้ำสําคัญๆ โดยเฉพาะแม่น้ำมูลกับแม่น้ำชี ว่าเป็นการกระทําของพวกนาค นิทานเรื่องนี้พยายามจะบอกว่าในยุคดึก
ดําบรรพ์นานมาแล้ว มีคนกลุ่มหนึ่งเคลื่อนย้ายมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแม่น้ำโขง ผ่านลําน้ำอูเข้าไปอยู่สองฝั่งโขงบริเวณที่เป็นประเทศลาวและภาคเหนือกับภาคอีสานของไทย นาคในนิทานเรื่องนี้เป็นสัญลักษณ์ของคนพื้นเมือง ส่วนหนองแสซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของนาคคือทะเลสาบเตียนฉือ ที่เมืองคุนหมิง มณฑล
ยูนนานของจีน” อดีต 2 กุมารสยามอธิบาย พร้อมย้ำว่า พลังลาวชาวอีสานเปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์มหาศาล โดยเฉพาะอาหารการกินและบทเพลงอันไพเราะชวนสดับรับฟัง

ข้าวเหนียว ลาบ ตำส้มหรือส้มตำ ไส้กรอกอีสาน ซุปหน่อไม้

คนลาวชาวอีสาน ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรปที่เข้ามาในสยามสมัย ร.5 จากหนังสือของ Carl Bock พิมพ์ครั้งแรกที่ลอนดอน เมื่อ ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427)

ลูกทุ่งหมอลำ หมอลำหมอแคน โปงลาง

ฯลฯ

นับเป็นความแซ่บนัวที่มีที่มาและที่ไป ซึ่งสุจิตต์และขรรค์ชัยเตรียมเล่าให้ฟังอย่างเพลินใจในบรรยากาศสวนสวยแห่งพระนคร

ในกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรที่มีพลังลาวชาวอีสานร่วมสร้าง ผู้คนเหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กว่า 2 ศตวรรษของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มั่นคงสถาพรสืบมาจนบัดนี้

พรรณราย เรือนอินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image