ชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบนครบาลจับผู้ต้องหา 4 หมายจับ หลอกลงทุนซื้อขายทองสูญเกือบ 12 ล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผบก.สส. บช.น., พ.ต.อ.ธีระชัย ชำนาญหมอ รอง ผบก.สส. บช.น., พ.ต.อ.อิสเรศ ปาลาพงศ์ รอง ผบก.สส. บช.น., พ.ต.อ.สมบูรณ์ สุขศรีดาวเดือน ผกก.สส.3 บก.สส. บช.น., พ.ต.ท.เฉลิมพงษ์ ธรรมมียะ, พ.ต.ท.วิโรฒ จนุบุษย์ รอง ผกก.สส.3 บก.สส. บช.น. นำกำลังจับกุมตัว นายศักดา (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี สัญชาติไทย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 73/2564 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันกรรโชก, ร่วมกันพยายามฉ้อโกง และร่วมกันพยายามกรรโชก, และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด” จับกุมได้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

พล.ต.ต.นพศิลป์เปิดเผยว่า นโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ให้จัดชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบสวนติดตามคนร้ายที่เป็นภัยออนไลน์ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก และยังก่อเหตุต่อเนื่อง จึงฝากเตือนไปยังประชาชนอย่าหลงเชื่อในการลงทุนทางออนไลน์ ต้องเลือกแหล่งลงทุนที่มีความน่าเชื่อ เช่น สถาบันทางการ และสังเกตผลตอบแทนในการลงทุนว่าเสนอให้เกินจริงหรือไม่ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนร้ายเหล่านี้

พล.ต.ต.นพศิลป์กล่าวว่า พฤติการณ์ในการกระทำความผิดคือ ช่วงประมาณเดือนตุลาคม 2559 ถึง ประมาณเดือนสิงหาคม 2560 ผู้ต้องหาชักชวนให้ผู้เสียหายมาลงทุนเทรดซื้อขายทองคำในตลาดทองคำทางอินเตอร์เน็ตโดยอ้างว่าทำงานอยู่บริษัทที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสามารถช่วยลูกค้าที่เล่นเทรดซื้อขายทองขาดทุนกลับมามีกำไรได้ โดยลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ชื่อบริษัท เอ็กเพย์ กรุ๊ป จำกัด เมื่อได้เงินกำไรแล้วจะโอนเข้าบัญชีธนาคารให้กับผู้เสียหาย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้โอนเงินไปลงทุน ซึ่งผู้ต้องหาไม่ได้ทำการเปิดพอร์ตลงทุนให้ผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่กลับอ้างว่าการลงทุนในพอร์ตของผู้เสียหายขาดทุนถูกปิดพอร์ต และยังได้หลอกชักชวนให้ผู้เสียหายนำเงินไปลงทุนในพอร์ตของบุคคลอื่นที่อ้างว่าเป็นลูกค้าที่ผู้ต้องหาดูแลพอร์ตการลงทุนอยู่ ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อได้โอนเงินให้ 32 ครั้ง จำนวน 7,935,365 บาท อีกทั้งยังมีค่าดูแลพอร์ตอีกเป็นจำนวนเงิน 867,060 บาท

Advertisement

ผบก.สส.บช.น.กล่าวอีกว่าต่อมา แจ้งว่าในการเข้าเทรดนั้นขาดทุน และยังได้หลอกว่าจากการที่เข้าใช้บัญชีพอร์ตลงทุนของบุคคลที่สามมีแต่ขาดทุน และจากนั้นได้หลอกว่าจากการที่ผู้เสียหายโอนเงินไปลงทุนซื้อขายโดยใช้บัญชีพอร์ตลงทุนของบุคคลที่สามแล้วขาดทุนนั้น ผู้เสียหายมีส่วนในการเข้าใช้พอร์ตดังกล่าวต้องชดใช้เงินให้กับบุคคลที่สาม เป็นเงิน 14,000,000 บาท โดยมีการขู่ผู้เสียหายว่าหากไม่ชดใช้เงิน จะฟ้องดำเนินคดีทางอาญากับผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจริงตามกฎหมายและกลัวจะถูกดำเนินคดี จึงได้ต่อรองเหลือเป็นจำนวน 3,000,000 บาท และได้โอนเงินไป 1 ครั้ง จำนวน 3,000,000 บาท เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายทั้งสิ้นรวมเป็นเงินจำนวน 11,802,425 บาท ต่อมาผู้เสียหายเชื่อว่าถูกผู้ต้องหาหลอกลวง โดยไม่ได้มีการเปิดบัญชีพอร์ตลงทุนเทรดทองคำในชื่อผู้เสียหาย และไม่ได้มีการไปใช้บัญชีพอร์ตลงทุนของบุคคลที่สามตามผู้ต้องหากล่าวอ้าง จึงไม่มีหนี้ที่เกิดจากการไปใช้บัญชีพอร์ตของบุคคลที่สามจริง และผู้ต้องหายังได้มีการพยายามหลอกผู้เสียหายให้โอนเงินไปอีกโดยอ้างว่าให้ชดใช้หนี้ที่เกิดจากการไปใช้บัญชีพอร์ตการลงทุนดังกล่าวที่ยังไม่จ่ายไม่ครบ โดยขู่จะฆ่าผู้เสียหายและคนในครอบครัว ผู้เสียหายจึงได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวน เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบฐานข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่านายศักดา เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในหลายพื้นที่ รวมจำนวน 4 หมาย ดังนี้ กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม, สน.บางซื่อ, สน.ทุ่งมหาเมฆ และ สน.ยานนาวา

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image