จตช.หน.ศูนย์ปราบคนร้ายข้ามชาติให้ความรู้ชุดปฏิบัติรองรับเปิดประเทศ

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จตช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปชก.ตร. เปิดเผยว่า รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในมิติการสกัดกั้น ปราบปราม คนร้ายข้ามชาติ และหลบหนีเข้าเมืองในประเทศไทย จึงจัดสัมมนาโดยระดมนักสืบมือดีจากส่วนกลาง ทั้งสันติบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยพื้นที่จากตำรวจภูธรภาค 8 เพื่อระดมความคิด แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ในเวที “สัมมนาบูรณาการการข่าว ศปชก.ตร.” ระหว่างวันที่ 2-3 พ.ค.2565 ที่ จ.ภูเก็ต กว่า 30 นาย โดยมีตำรวจนักสืบสวนมือดีด้านอาชญากรรมข้ามชาติมาเป็นวิทยากร เช่น พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม. พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.ภ.8 และ พล.ต.ต.วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ รอง ผบช.ส. ปรมาจารย์ข่าวกรอง เป็นผู้ควบคุม Moderator ทั้งหมดโดยภาพรวม

พล.ต.อ.วิสนุกล่าวว่า ประเทศไทยมีสถานะเป็นประเทศที่มีภูมิยุทธศาสตร์กึ่งกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังรัฐบาลใช้มาตรการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยเข้าประเทศเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนร้ายข้ามชาติสูงขึ้นตามไปด้วย จึงต้องรองรับการเคลื่อนย้ายของคนต่างชาติทั่วโลกในฐานะประเทศศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคด้วย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเคลื่อนไหวและเป็นแหล่งพำนักของอาชญากรรมข้ามชาติลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะการใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่โต้ตอบกันระหว่างกลุ่มประเทศคู่ขัดแย้ง รวมถึงการใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ก่ออาชญากรรมเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเหยื่อในประเทศอื่น เช่น กลุ่มอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

พล.ต.อ.วิสนุกล่าวว่า ปัญหาสำคัญในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คือ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ เนื่องจากผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องทราบถึงบริบททางสังคมระหว่างประเทศโดยภาพรวมด้วย รวมถึงปัญหาในการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ดังนั้น การสัมมนาครั้งนี้จึงเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัตินำปัญหามาถกแถลงกันอย่างตรงไปตรงมา และร่วมกันนำเสนอแนวทางแก้ไข โดยตนร่วมวงการสัมมนาด้วยอย่างใกล้ชิด โดยข้อเสนอต่างๆ มีทั้งในส่วนแนวทางที่สามารถกลับไปลงมือปฏิบัติได้ทันที และปัญหาที่ต้องอาศัยการสั่งการจากระดับนโยบาย ซึ่งประเด็นนี้จะรับกลับไปนำเสนอต่อ ผบ.ตร.เพื่อนำไปสู่การแก้ไขต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแก้ไขด้านระเบียบ ข้อกฎหมาย และการปรับปรุงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจากส่วนกลาง รวมถึงการประสานข้อมูลข่าวสาร และความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไป จากการฟังผลการสัมมนาครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับการเปิดประเทศ และเตรียมรองรับการเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำประเทศในกลุ่มเอเปคในช่วงปลายปีต่อไป

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image