‘บิ๊กโจ๊ก’ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เดินหน้าเอาผิดเครือข่ายขบวนการทุจริตน้ำมันเขียว

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่สโมสรตำรวจ วิภาวดี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร.ฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุมเฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่งการให้ตำรวจน้ำ ร่วมกับ กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร กรมประมง กรมเจ้าท่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบเติมน้ำมันเขียวโดยผิดกฎหมายทั้งหมด ประกอบด้วย 1.สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เนื่องจากให้การรับรองเรือประมงพื้นบ้าน หรือเรือประมงประเภทอื่นๆ ที่ขาดคุณสมบัติตามประกาศของกรมศุลกากร 2.เจ้าของเรือประมงที่ขาดคุณสมบัติ แต่ได้รับประโยชน์จากการรับรองของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย 3.ผู้ควบคุมเรือประมง และคนประจำเรือที่นำเรือไปเติมน้ำมันเขียวในเขตต่อเนื่อง 4.เรือสถานีบริการน้ำมัน (Tanker) และบริษัทผู้ให้บริการ โดยจะมีการเรียกกลุ่มผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ ที่สโมสรตำรวจ วิภาวดี ระหว่างวันที่ 29-31 ส.ค.65

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวว่า จะมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบเติมน้ำมันเขียว โดยผู้ที่จะเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาคดีน้ำมันเขียวมีบริษัท 5 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด 2 ราย บุคคลธรรมดา 6 ราย กรรมการของบริษัท 7 ราย ผู้ควบคุมเรือ หรือไต๋เรือ 32 ราย ในความผิด 1.พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 189 ฐานความผิดขนถ่ายน้ำมันในเขตต่อเนื่องโดยไม่มีเหตุสมควรหรือไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาน้ำมันที่อยู่ในเรือ หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มาตรา 203 ฐานความผิดครอบครองน้ำมันที่มิได้เสียภาษี หรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน มีโทษปรับสองถึงสิบเท่าของค่าภาษี 3.พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 166 ผู้สนับสนุนหรือได้รับผลตอบแทนจากการทำประมง IUU ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดนั้น 4.กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นรายคดี เช่น การแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน เป็นต้น

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวว่า หลังจากที่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบเติมน้ำมันเขียวโดยผิดกฎหมายนั้นก็ตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียด เพื่อจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในภาพรวมทั้งหมด เนื่องจากเป็นการกระทำผิดที่ส่งผลเสียต่อประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งส่งผลกระทบต่อการเก็บภาษีของรัฐที่ควรจะได้รับปีละ 4,270 ล้านบาท หรือ 25,620 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2555-2564 และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์การทำประมงของประเทศไทยอีกด้วย นานาประเทศอาจมองว่าประเทศไทยไม่มีความจริงใจในการป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ซึ่งการประเมินโดยสหภาพยุโรปนั้นใกล้เข้ามาแล้ว จึงต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด ซึ่งจะช่วยให้พี่น้องชาวประมงที่ประกอบอาชีพโดยสุจริตได้เติมน้ำมันเขียวตามปกติ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการทำประมงของไทย เป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายของไทยอย่างต่อเนื่อง

ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวว่า สำหรับโครงการน้ำมันเขียวเป็นโครงการที่ภาครัฐจัดน้ำมันดีเซลที่เติมสารสีเขียว เพื่อให้แยกแยะจากน้ำมันบนฝั่งได้ และได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต ทำให้มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบนบกประมาณลิตรละ 7 บาท เพื่อลดภาระต้นทุนการทำประมงให้กับชาวประมงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.2555 เป็นต้นมา รวมระยะเวลา 10 ปี ถึงปัจจุบัน ต่อมารัฐบาลมีการปฏิรูปการทำประมงของประเทศไทยทั้งระบบ ทำให้จำนวนเรือประมงพาณิชย์ที่ได้รับสิทธิเติมน้ำมันเขียวลดลงจาก 10,459 ลำ ในปี 2559 เหลือ 8,445 ลำ ในปี 2564 แต่ทว่าขณะที่เรือประมงพาณิชย์ที่เติมน้ำมันเขียวมีจำนวนลดลง แต่ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเขียวกลับมิได้ลดลงตามสัดส่วนจำนวนเรือ กลับคงที่อยู่ประมาณปีละ 610 ล้านลิตร คิดเป็นภาษีที่รัฐบาลยกเว้นถึงปีละ 4,270 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนต้นทุนการประกอบอาชีพให้เรือประมงพาณิชย์จนถึงปัจจุบัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image