เปิดปฏิบัติการ ฮ.ช่วยลูกช้าง กลางป่าลึก อช.เขื่อนศรีฯ ส่งบึงฉวาก อย่างปลอดภัย

เปิดปฏิบัติการ ฮ.ช่วยลูกช้าง กลางป่าลึก อช.เขื่อนศรีฯ ส่งบึงฉวาก อย่างปลอดภัย

 

วันนี้ 3 ธันวาคม พล.ต. วุทธยา จันทมาศ ผบ.พล.ร.9 ในฐานะ ผบ.กกล.สุรสีห์ สั่งการให้ พ.อ.รณวรรณ พจน์สถิตย์ ผบ.ร.9 ในฐานะ ผบ.ฉก.ลาดหญ้า พ.อ.ธัชเดช อาบัวรัตน์ รอง ผบ.ร.9/รอง ผบ.ฉก.ลาดหญ้า ร่วมอำนวยการประสานงานร่วมกับ นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 พร้อมด้วย นายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักสัตว์ป่า และนายสัมพันธ์ งานประพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานฯ ร่วมปฏิบัติการนำยุทโธปกรณ์ทางทหาร อากาศยานเพื่อขนลำเลียงลูกช้างป่าที่พลัดหลงจากฝูงและมีอาการบาดเจ็บ อยู่ในพื้นที่ป่า พิกัด 47P 0524240E 1654254N บ้านน้ำพุ ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อออกมาทำการรักษาพยาบาลที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี

ทั้งนี้ สืบเนื่องเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่พบลูกช้างป่าพลัดหลงจากฝูง จึงได้สร้างคอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก เพื่อรอฝูงช้างป่าให้เข้ามารับลูกช้างป่าพลัดหลงตัวดังกล่าว แต่ปรากฏว่าไม่พบฝูงช้างป่ามารับแต่อย่างใด จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่เข้าช่วยเหลือ ซึ่งช้างป่าตัวดังกล่าว เป็นเพศเมีย อายุประมาณ 2 เดือน มีน้ำหนักประมาณ 130-150 กิโลกรัม มีสภาพอ่อนแรงมาก ขาดน้ำรุนแรง ถ่ายเหลว มีเยื่อเมือกซีด พบแผลหลุมในช่องปาก พบแผลแมลงวันวางไข่บริเวณปลายริมฝีปากล่างและใบหู พบรอยขีดข่วนบริเวณลำตัว

Advertisement

ขณะที่สภาพพื้นที่ที่ทำการเลี้ยงดูแลลูกช้างป่าไม่เหมาะสม เส้นทางการเข้าออกลำบาก เส้นทางชัน (เดินขึ้นเขา) เป็นป่ารกทึบ ฝนตกเป็นระยะๆ ต้องเดินข้ามห้วย แนวการเดินค่อนข้างแคบ ลื่น ไม่สามารถใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ได้ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ต้องเดินเข้าป่าลึกระยะทาง 4 กิโลเมตร ถ้าเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินเกี่ยวกับตัวสัตว์และทีมเจ้าหน้าที่จะอันตรายมาก เนื่องจากไม่สะดวกทั้งการเดินทาง และติดต่อสื่อสาร ซึ่งทีมสัตวแพทย์ มีความเห็นว่า ควรใช้เฮลิคอปเตอร์ ขนาดที่เหมาะสมกับตัวลูกช้างป่า ซึ่งลูกช้างป่ามีขนาดความยาว 117 ซม. ความสูง 89 ซม. และความกว้าง (ซ้าย-ขวา) 49 ซม.

Advertisement

แต่ทั้งนี้ สภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นหุบเขา ร่องห้วย การใช้เฮลิคอปเตอร์ในการเคลื่อนย้าย จะต้องประเมินโดยนักบินผู้เชี่ยวชาญ ขณะที่ทีมสัตวแพทย์ ลงความเห็นว่า ควรนำลูกช้างป่าพลัดหลงตัวดังกล่าว มาดูแลรักษาเบื้องต้น ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เนื่องจากมีทีมสัตวแพทย์ ยารักษา และอุปกรณ์ที่มีความพร้อม สะดวกในการเดินทาง และระยะทางการเคลื่อนย้ายใกล้กว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพสัตว์

ซึ่งปฏิบัติการช่วยเหลือลูกช้างป่าเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นมา โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ขออนุมัติกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอสนับสนุน เฮลิคอปเตอร์ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติไทรโยค อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติพุเตย ส่งกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 30 นาย สนธิกำลังเข้าพื้นที่ป่าเพื่อจัดทำลานจอด ฮ.ชั่วคราว ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าจัดเตรียมความพร้อมด้านรถขนย้าย และ นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เร่งจัดเตรียมความพร้อมของสถานที่รักษาลูกช้าง แต่เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ของกรมฯ มีขนาดเล็ก ทำให้ไม่สามารถนำลูกช้างขึ้นเครื่องได้ จึงติดต่อประสานไปยัง พ.อ.ธัชเดช อาบัวรัตน์ รอง ผบ.ฉก.ลาดหญ้า เพื่อขอสนับสนุน เฮลิคอปเตอร์ของทหาร ซึ่งมีลำใหญ่ เพื่อนำลูกช้างออกจากป่าให้ได้

ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม ภายหลังการประสานงานขอความอนุเคราะห์ขอใช้เฮลิคอปเตอร์ของทหารจาก กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ เมื่อประเมินความพร้อมแล้วยังไม่สามารถนำเฮลิคอปเตอร์ ลงได้เพราะต้องขยายการจัดทำลานจอด ให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

ด้านผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้วางแผนหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญด้านการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าขนาดใหญ่ ได้แก่ นายไพฑูรย์ อินทรบุตร เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ นายทรงฉัตร ประคัลภานนท์ เจ้าหนักงานป่าไม้อาวุโส หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) นายเสรี นาคบุญ เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ นายภาคภูมิ อร่ามศิริรุจิเวทย์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า วางแผนการเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าหลังจากเฮลิคอปเตอร์ของทหารลงจอดจะเคลื่อนย้ายลูกช้างด้วยวิธีการอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

สรุปว่า จะเคลื่อนย้ายลูกช้างป่า โดยได้รับการประสานจากสัตว์แพทย์ในพื้นที่ว่าจะวางยาสลบ ไม่ได้นำลูกช้างใส่ในกล่อง สภาพลูกช้างสามารถพยุงตัวยืนได้ ควบคุมการเคลื่อนย้ายบนเฮลิคอปเตอร์ โดยทีมสัตวแพทย์

ล่าสุด ปฏิบัติการเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 08.00 น. ของวันนี้ ทีมสัตว์แพทย์ได้ทำการวางยาสลบลูกช้างป่า จากนั้นได้ลำเลียงขึ้นเฮลิคอปเตอร์ทหาร ฮท.212 โดยมี สพ.ญ.ลักขณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สอป.สบอ.3 (บ้านโป่ง) สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก) ดูแลอาการอย่างใกล้ชิด

โดยใช้เวลาในการบินประมาณ 30 นาที มายังพิกัดจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ โรงเรียนวัดคอกช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี โดยปลอดภัย จากนั้นทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างโดยรถบรรทุกขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นรถย้ายสัตว์ป่าโดยเฉาะซึ่งมีตู้ควบคุมอุณหภูมิและอุปกรณ์กู้ชีพเบื้องต้น ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร (ประมาณ 2 ชั่วโมง) เพื่อนำลูกช้างไปทำการรักษา ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี ก่อนนำลูกช้างส่งต่อเพื่อพักรักษาตัว ณ อาคารอเนกประสงค์ ซึ่งเตรียมความพร้อมสถานที่โดยการฆ่าเชื้อโรคเรียบร้อย และมีความพร้อมด้านยารักษา อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ทำการวางแผนการรักษาฟื้นฟูลูกช้างต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image