พณ.ประเดิม ‘อมก๋อย โมเดล’ กระจายกระเทียมแม่ฮ่องสอน นายกฯ อบต.ปาย แนะช่วยเกษตรกรต้นทุน ตัดทอนพ่อค้าคนกลาง

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยความคืบหน้าการขับเคลื่อนมาตรการจัดการพืช 3 หัวปี 2566 ตามนโยบายตลาดนำการผลิตของรัฐบาล ผ่านแนวคิด อมก๋อย โมเดลว่า ได้คิกออฟเปิดโครงการเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ที่สหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่บ้านกาดพัฒนา จำกัด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้ประกอบการจำนวน 16 ราย ประกอบด้วย ผู้รวบรวม 8 ราย ผู้ประกอบการแปรรูป 4 ราย และตลาดกลาง 4 ราย ดำเนินการรับซื้อผลผลิตถึงแหล่งปลูกในราคานำตลาดในช่วงต้นฤดูการผลิตเพื่อกระจายสู่ห้างค้าส่ง-ค้าปลีกและสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 4 แห่ง รวม 1,318 สาขา ร้านธงฟ้าในกำกับดูแลของกรมอีก 1 หมื่นร้านค้า

นายกรนิจ กล่าวว่า ในปีนี้กรมฯมีเป้าหมายซื้อกระเทียมล่วงหน้า โดยทำสัญญาในราคานำตลาดจำนวน 64,891 ตัน จากแหล่งปลูกสำคัญใน 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูน โดยในสัปดาห์นี้จะรับซื้อที่แม่ฮ่องสอนเนื่องจากผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดก่อนพื้นที่อื่น

“แหล่งผลิตสำคัญกลุ่มใหญ่อยู่ที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เฉพาะแม่ฮ่องสอนกระเทียม รวมแล้ว 3,700 ตัน เชียงใหม่ 3,000 ตัน ลำพูน 1,300 ตัน เราดูดซับออกมา 2 พันตันหรือ 20% ในราคานำตลาด ทำให้กระแสความต้องการมากขึ้น ตลาดคึกคักขึ้น เช่น อ.ปาย มีผู้ประกอบการที่เราเชื่อมโยงมา เข้ารับซื้อในราคา 20 บาท ช่วยสร้างความคึกคักให้ตลาด” นายกรนิจกล่าว

Advertisement

นางนันทนา พรมพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เมืองแปง อ.ปาย ในฐานะประธานแปลงใหญ่กระเทียม อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า หลังจากกรมการค้าภายในให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม ส่งผลให้ราคากระเทียมปีนี้ค่อนข้างดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กระเทียมของ อ.ปาย ในปัจจุบันพบปัญหาหลายด้าน ทั้งพื้นที่ปลูกลดลงทุกปีประมาณ 20% ผลจากอุทกภัย ปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และยังมีบริษัทตัวแทนผู้ซื้อหรือพ่อค้าคนกลางมาลงทุนให้เกษตรกรโดยทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า “พาณิชย์พยุงราคาถือว่าดี แต่มาปลายฤดู บางทีทำอะไรไม่ได้ เพราะมีบริษัทตัวแทนผู้ซื้อ พ่อค้าคนกลางลงทุนให้เมื่อถึงเวลาขายก็ต้องขายให้กลุ่มนี้ เพราะเกษตรกรไม่มีเงินลงทุนเอง พ่อค้าลงทุนให้ก่อนแล้วค่อยหักลบจบหนี้ตอนขายผลผลิต นี่คือปัญหาหลัก วิธีแก้รัฐต้องหาแหล่งทุน หรือพาณิชย์ต้องหาบริษัทเข้ามาช่วยตั้งแต่ต้น เกษตรกรจึงจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด แต่ก็ยังดีที่มาตอนถอนหรือปลายฤดู”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image