‘อนุทิน’ เผย รพ.ทั่วไทยเปิดบูธวัคซีน ‘โควิด-ไข้หวัดใหญ่’ ย้ำพร้อมดูแลบุคลากร

‘อนุทิน’ เผย รพ.ทั่วไทยเปิดบูธวัคซีน ‘โควิด-ไข้หวัดใหญ่’ ฉีดพร้อม 2 เข็ม ยันดูแลบุคลากร

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สธ.เข้าร่วมหารือ โดยนายอนุทินเปิดเผยว่า กรณีโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน XBB ที่มองว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ เกิดการกลายพันธุ์นั้น ในทางการแพทย์ยืนยันว่าการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสต่างๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามวัคซีนที่ประชาชนได้รับ และที่จะรับในฐานะเป็นเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่น 2 ชนิดไบวาเลนท์ ยังคงมีประสิทธิผล ลดความรุนแรงของอาการได้

“โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ ควรเข้ารับวัคซีน นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไป หากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 6 เดือน ทาง สธ.ขอเชิญชวนไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น และในที่สุดโรคโควิด-19 ก็จะเป็นโรคประจำถิ่น และการฉีดวัคซีนจะเกิดขึ้นทุกปี วันนี้ ได้มีการสั่งการหน่วยงานในสังกัด สธ. โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศ ให้มีการตั้งแผนกฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันโควิด-19 ซึ่งที่ประชุมได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลจากคณะกรรมการวิชาการ เช่น รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์, ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ และ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ ให้ข้อมูลว่า ช่วงนี้ก่อนเข้าฤดูฝน ประชาชนจะไปรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ก็ให้ไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วย เป็นการฉีด 2 เข็มพร้อมกัน ซึ่งไม่ต้องกังวลว่า จะฉีดพร้อมกันไม่ได้ เพราะอาจารย์แพทย์ฝ่ายวิชาการยืนยันแล้ว่า ฉีดได้พร้อมกัน เพื่อให้เกิดความสะดวก” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ในส่วนกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ที่ให้บริการสาธารณะ จะไปรับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น พร้อมกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งทาง สธ.ก็จะให้บริการ ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาออกแพคเกจที่จะทำให้ประชาชนลดความวิตกกังวล เกิดความสบายใจในการเข้ารับวัคซีน  แต่ไม่อยากใช้คำว่า “โปรโมชั่น” แต่ให้ประชาชนพิจารณาว่า หากไปตอนนี้ก็ดี ได้ฉีด 2 เข็มในเวลาเดียวกัน เพราะถือว่า ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง เสี่ยงรับโควิด-19 และเชื้อไข้หวัดใหญ่

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า แพคเกจฉีดวัคซีน 2 ชนิด ทั้งป้องกันไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 จะเป็นลักษณะเชิญชวนหรือจูงใจประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่อยากใช้คำว่าจูงใจ แต่เป็นการให้ความสะดวก
อย่างหากไม่มีโควิด-19 ช่วงนี้คนส่วนใหญ่ก็เริ่มเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แต่ตอนนี้เรามีโควิด-19 ด้วย ในเมื่อเราให้บริการวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่น 2 เพราะเราได้รับการมอบจากประเทศต่างๆ มากมาย เย็นวันนี้ (20 เมษายน 2566) จะไปขอบคุณท่านทูตเยอรมนี ในการให้วัคซีนรุ่น 2 และทางอิตาลี ก็แสดงความประสงค์เช่นกัน และปีนี้ก็ไม่ต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อ เรามีเพียงพอ ส่วนการบริการ เราก็เตรียมพร้อมหมด มีเตียง มีเวชภัณฑ์ ไม่ต้องกังวล

เมื่อถามว่า กรณีการคาดการณ์ว่าปีนี้จะระบาดทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 จะเตรียมพร้อมอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า เตรียมพร้อมอยู่แล้ว ไข้หวัดใหญ่ก็เป็นโรคประจำถิ่น เรามียา มีวัคซีน เรามีสถานที่ตั้งจุดฉีดต่างๆ โดย สปสช.มีเหมาจ่ายฉีดวัคซีนโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ มีค่าเหมาจ่ายฉีดวัคซีนสำหรับหน่วยบริการวัคซีนโควิด-19 เป็นเงิน 40 บาท ค่าฉีดวัคซีนหวัดใหญ่ 20 บาท แต่ตนบอกว่า เมื่อโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็ควรลดให้ทั่วไป ค่าฉีดเพื่อขวัญกำลังใจให้เป็น 20 บาท ฉีด 2 เข็ม แต่ตรงนี้เป็นเรื่องของหน่วยบริการ แต่ประชาชนไม่ต้องจ่าย

เมื่อถามต่อไปว่า ขณะนี้บุคลากรสาธารณสุขบางส่วนตัดพ้อ ว่า สธ.มีสัญญาณว่าโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่จะระบาดปีนี้ และบุคลากรก็จะต้องรับมือทำงาน ขณะที่ค่าเสี่ยงภัยยังไม่ได้รับ บางส่วนไม่อยากทำงานอีก เพราะรัฐไม่สนใจ

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่เชื่อ ทุกวันนี้แม้ไม่มีค่าฉีดวัคซีน ก็ต้องทำงานต้องฉีดวัคซีนอยู่แล้ว ตนไม่เชื่อ ทุกวันนี้แม้ไม่มีค่าฉีดวัคซีน ก็ต้องทำงานต้องฉีดวัคซีนอยู่แล้ว แต่ตรงไหนที่เราสามารถบริหารจัดการค่าเสี่ยงภัยคนทำงานโควิด-19 ได้ ปลัด สธ.ไม่เคยปล่อยผ่านไป ท่านคิดตลอดว่า เมื่อไรงบประมาณมา เมื่อไรบริหารจัดการได้ และผมไม่เชื่อว่าบุคลากรสาธารณสุขจะพูดว่า หากไม่ได้ค่าเสี่ยงภัย ไม่ได้ค่าบริการต่างๆ จะไม่ให้บริการประชาชน ไม่ใช่ที่กระทรวงสาธารณสุขแน่นอน ช่วงนี้มีการเปิดประเทศ โอกาสที่คนไทยจะได้รับเชื้อ XBB มีแน่นอน แต่เชื้อนี้ส่วนหนึ่งเป็นโอมิครอน จึงไม่ได้รุนแรง ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเชื้อ XBB ดื้อยา ส่วนความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ในกลุ่มเดิม คือ กลุ่ม 608 หรือผู้ไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้ที่รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มสุดท้ายมาแล้ว 6 เดือน ถึง 1 ปี และวัคซีนไบวาเลนท์ก็เชื่อว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนรุ่นก่อนๆ สุดท้ายโควิด-19 ก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image