วช.-รร.นรต. เสนอ 4 แนวทาง แก้ไขปัญหาเด็ก-เยาวชน ทำผิดซ้ำคดียาเสพติด หลังการปล่อยตัว

วช.-รร.นรต. เสนอ 4 แนวทาง แก้ไขปัญหา เด็ก-เยาวชน ทำผิดซ้ำคดียาเสพติด หลังการปล่อยตัว

ผศ.พ.ต.ท.หญิง ดร.วาชิณี ยศปัญญา อาจารย์ (สบ 3) กลุ่มงานคณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เปิดเผยว่า ได้จัดโครงการการพัฒนาความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างภาครัฐและเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนในคดียาเสพติดภายหลังการปล่อยตัวภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการนำเสนอผลการวิจัยผลการวิจัย พบ 3 ปัญหาหลัก ได้แก่ คณะกรรมการการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดยังไม่ครอบคลุมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ความรับผิดชอบของพ่อแม่ ผู้ปกครอง แลพ ปัญหาการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางกฎหมายระหว่างภาครัฐและเอกชน จากประเด็นปัญหาที่พบคณะผู้วิจัยเห็นควรมีการปรับปรุงแก้ไขในด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม 4 แนวทาง ดังนี้ 1.ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ.2561 มาตรา 5 โดยให้คณะกรรมการการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเพิ่มเติม จากเดิมมีคณะกรรมการฯ 16 หน่วยงาน เพิ่มเติมอีก 10 หน่วยงาน รวมเป็น 26 หน่วยงาน โดยให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนด้านงบประมาณ

2. เพิ่มเติมบทกำหนดโทษในประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 164/1 กำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ต้องรับผิดด้วย หากเด็กและเยาวชนกระทำความผิดซ้ำในคดียาเสพติด 3. เห็นควรจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างภาครัฐและเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 26 หน่วยงาน ในการสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการบำบัดรักษายาเสพติด ด้านการป้องกันยาเสพติด ด้านงบประมาณ ด้านการพัฒนาอาชีพ ด้านการจ้างงาน ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านการพัฒนาจิตใจ หรือสนับสนุนส่งเสริมด้านอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร และ4. จัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนในคดียาเสพติดภายหลังการปล่อยตัว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรม

พ.ต.อ.ดร.มานะ เผาะช่วย ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าว ตอนหนึ่งในการเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างภาครัฐและเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนภายหลังการปล่อยตัว” ว่า สถานีตำรวจเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติงานในการบูรณาการเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนทำผิด โดยแต่ละท้องที่ต้องมีข้อมูลว่าเด็กเยาวชนที่ปล่อยตัวมาจากคดียาเสพติดมีจำนวนกี่ราย ซึ่งต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หลังจากนั้นจึงดำเนินการเฝ้าระวังร่วมกับชุมชนและครอบครัวของเด็กและเยาวชน เพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นกลับเข้ามาสู่กระบวนการทางคดีอีก

Advertisement

นายธนเสฏฐ์ อ่อนละเอียด อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงประเด็นความรับผิดชอบของบิดามารดาหรือผู้ปกครองในกรณีที่บุตรหลานซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนกระทำความผิดซ้ำ ว่าปัจจุบันมีมาตรการทางกฎหมายตามคำสั่ง คสช. ที่ 22/2558 บังคับใช้ในกรกณีการกระทำผิดในลักษณะ “เด็กแว้น” ส่วนการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดคงต้องพิจารณามาตรการอื่นๆ ตามความเหมาะสม เนื่องจากยังไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดทำโครงการ “คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน” ซึ่งขับเคลื่อนโดยสถาบันนิติวัชร์ที่เน้นกระบวนการเฝ้าระวังไม่ให้เด็กและเยาวชนกลับไปกระทำผิดซ้ำ โดยให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมดูแลบุตรหลานของตนเองผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านกลุ่มไลน์ การเรียนรู้เทคนิคการสร้างความเข้มแข็งในครอบครัว เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image