สุชาติ เผย ความฝันแรกของนิธิ คือ ‘นักเขียน’ เคยลงเรื่องสั้น ‘แด่มนุษยชาติ’ ภาษาทรงพลัง

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 13 สิงหาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ภาคประชาชนจัดงานรำลึก ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา

บรรยากาศทั่วไปมีผู้ทยอยเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดพื้นที่สำหรับเขียนข้อความ “คิดถึงอาจารย์นิธิ” บริเวณหน้าอนุสรณ์สถานฯ โดยในช่วงเสวนา ‘นิธิ ในสายตาสามัญชน’ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และอดีตบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า ความฝันแรกๆ ของ ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ คืออยากเป็นนักเขียน ถ้าไปดูหนังสือเล่มละบาท หรือหนังสืออนุสรณ์ในมหาวิทยาลัย จะพบงานเขียนของนิธิ ซึ่งเคยเขียนเรื่องสั้นด้วย ตนเคยนำมารวมพิมพ์ในชุด ‘เรื่องสั้นสันติภาพ’ ที่ตนเป็นบรรณาธิการ ชื่อว่า ‘แด่มนุษยชาติ’ โดยใช้ชื่อ นิธิ ตามชื่อจริง เนื้อหาเกี่ยวกับผลร้ายของสงคราม

“ผมถามนิธิว่าเขียนเอง หรือแปลงมาจากเหตุการณ์แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ได้คำตอบว่า เขียนเอง แล้วอ่านดูก็รู้เลย ภาษาของนิธิ เป็นภาษาของคนวรรณกรรม แต่เมื่อมาทำงานเป็นครูบาอาจารย์ ระหว่างการเป็นนักเขียนในร่างของนักวิชาการ เป็นนักวิชาการในร่างของนักเขียน ระหว่างกลางในการเป็นนักเขียนกับนักวิชาการ นิธิมีความเป็นครูในฐานะวิชาชีพและการทำงานทางความคิด

เราเห็นผลงานของนิธิมากมาย ที่บอกว่ามีความเป็นครูนั้น ในผลงานเหล่านั้น นิธิสอนโดยไม่สอน บทความในลักษณะความเรียงที่เขียนลงในมติชน ศิลปวัฒนธรรม แม้มีประเด็นทางวิชาการ ร้อยแปดพันก้าว แต่มีลักษณะการจุดประเด็นให้คนคิดต่อ ความเป็นนิธิคือ ปลายเปิดเสมอ ทุกเรื่องถ้าเป็นเหรียญก็มี 2 ด้านให้คนตีความใหม่ได้ และท้าทายความคิดใหม่ๆ” นายสุชาติ กล่าว

Advertisement

นายสุชาติ กล่าวว่า สิ่งที่ตนทึ่งในตัวนิธิ ถ้าจะสรุปกว้างๆ ในความเป็นนิธิคือ ‘เรียบง่ายแต่ทรงพลัง’

“สิ่งที่คิดว่าเรียบง่ายและทรงพลัง คือภาษาที่ใช้ในงานเขียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิชาการ หรืออะไรก็แต่ อย่างไรก็ตาม หัวใจของคนทำงานวรรณกรรมคือภาษา

ภาษาของนิธิ ไม่ว่าคนรุ่นไหนอ่าน อย่างผม อ่านในฐานะบรรณาธิการ ภาษาของเขาแก้ไขได้น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นวรรคตอน การสะกด เห็นเลยว่าหล่อหลอมมาจากสถาบันที่มีลักษณะพิเศษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งคนคิดว่าเป็นแบบจารีตนิยม อนุรักษนิยม แต่ผลิตคนอย่างจิตร ภูมิศักดิ์, นิธิ เอียวศรีวงศ์ และอนุช อาภาภิรมย์ รู้เลยว่ามีวรรณศิลป์ และพยายามสร้างคำใหม่ตลอดเวลา บัญญัติศัพท์ของตัวเองที่เข้าใจง่าย หลายคำถูกนำไปใช้ โดยไม่รู้ว่าต้นทางมาจากนิธิ ที่พอจะจำได้ เช่น รากหญ้าสร้างบ้าน ชนชั้นกลางสร้างเมือง, วัฒนธรรมไฟกะพริบ ไวยากรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นเรื่องของคนที่จะใช้ภาษามานำความคิด ผิดไปจากคนที่คิดอะไรได้ก็เขียน

Advertisement

การใช้ภาษาของนิธิ เชื่อว่าโยงมาถึงสิ่งที่นิธิให้ความสนใจคือเรื่องวัฒนธรรม เวลาพูดเรื่องการเมือง นิธิจะโยงเข้าวัฒนธรรม พูดเรื่องเศรษฐกิจก็จะโยงเข้าวัฒนธรรม พูดเรื่องสังคมก็จะโยงเข้าวัฒนธรรม เหมือนต่อขยายจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งงานเขียนของทั้ง 2 มีลักษณะเดียวกัน คือ จิตร เขียนเรื่องลง นสพ.เป็นตอนๆ ในชั่วชีวิตมีงานพิมพ์รวมเล่มเพียงเล่มเดียว คือ ศิลปะเพื่อชีวิต นอกนั้นถูกรวมหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว โดยมีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเหมือนกัน แต่ภาษาแข็งแบบฝ่ายซ้าย ในขณะที่ภาษาของนิธิเป็นแบบวรรณศิลป์ เหมือนได้อ่านงานวรรณกรรม” นายสุชาติกล่าว


QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image