จิตร ภูมิศักดิ์ (ไม่ใช่แค่) ยังไม่ตาย 58 ปี หลังเสียงปืน อุดมการณ์สำคัญกว่าตัวตน

จิตร ภูมิศักดิ์ (ไม่ใช่แค่) ยังไม่ตาย 58 ปี หลังเสียงปืน อุดมการณ์สำคัญกว่าตัวตน

‘จิตร ภูมิศักดิ์ ยังไม่ตาย’

คือวาทะที่พูดกันมาแทบทุกในงานรำลึกถึงบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในภาคสามัญชน อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้เคยถูกจงใจทำให้หลงลืม บังคับสูญหายจากไทม์ไลน์การต่อสู้

ทว่า ในวาระครบรอบ 58 ปี หลังเสียงปืนกึกก้องในราวป่า คร่าชีวิต พรากลมหายใจของบุคคลดังกล่าวให้สูญสิ้นไป

Advertisement
เจน อักษราพิจารณ์ นักเขียน และผู้แทนโครงการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงประวัติศาสตร์สมรภูมิภูพาน

สถาบันจิตร ภูมิศักดิ์ และ เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย จัดเสวนา ‘หลังเสียงปืน 58 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียน และนักปฏิวัติ’ ณ ห้องประชุม อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ ดำเนินรายการโดย แทนฤทัย แท่นรัตน์

เริ่มด้วย ปาฐกถาจิตร ภูมิศักดิ์ ประจำปี 2567 โดย ประยงค์ มูลสาร (ยงค์ ยโสธร) ประธานสถาบันจิตร ภูมิศักดิ์

อภิเชษฐ์ ทองน้อย คณะผู้เตรียมการฟื้นฟูเกียรติภูมิจิตร ภูมิศักดิ์

จากนั้น เข้าสู่วงเสวนาที่มากมายด้วยประเด็นน่าสนใจ เชื่อมโยงการเมืองร่วมสมัยแม้เวลาผ่านไปเกือบ 6 ทศวรรษ

Advertisement

จิตร ภูมิศักดิ์ ยังมีอิทธิพล
เชื่อ ‘ถ้ายังมีชีวิต คงติดคุกซ้ำ’

“เรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์ ยิ่งใหญ่อลังการทางการอ่านการเขียนทำจริงจังและหนักแน่นชนิดที่เป็นซึ่งต้องไปสัมผัสเอง สังคมไทยต้องให้การศึกษา ต้องค้นคว้าศึกษาด้วยตนเองการศึกษาที่มีความกล้าหาญจะต้องศึกษา จิตร ภูมิศักดิ์ 25 กันยายน 2473 ถ้ามีชีวิตอยู่ย่างเข้า 94 เป็นคน อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี”

ประยงค์ มูลสาร ประธานสถาบันจิตร ภูมิศักดิ์

คือท่อนต้นของปาฐกถา โดย ประยงค์ หรือ ‘ยงค์ ยโสธร’ ประธานสถาบันจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเผยว่า ตนได้รับอิทธิพลจากจิตร ภูมิศักดิ์ โดยไม่ได้ตั้งใจ

“ผมเขียนหนังสือ วิถีชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ ดึงดูดความสนใจของชีวิตคนยากคนจน จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตไปครึ่งศตวรรษแล้วแต่ยังมีอิทธิพลอยู่ ในปี 2508 เพลงภูพานปฏิวัติ เป็นเพลงถูกเปิดให้ฟังในสถานีเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย

จิตร ภูมิศักดิ์ ถือเป็นอัจฉริยะบุคคลร้อยวันพันปีที่จะมาเกิดในเมืองไทยอีกครั้ง เมื่อมี สถาบันจิตร ภูมิศักดิ์ ได้มีการตั้งรางวัลเหมือนรางวัลศรีบูรพา คือรางวัลจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ตั้งด้วยความยากลำบาก โดยปลายปีนี้จะมีการแจกรางวัลจิตร ภูมิศักดิ์ ครั้งที่ 2 ส่วนสถานที่จัดงานจะแจ้งให้ทราบในภายหลัง”

ด้าน เยี่ยมยอด ศรีมันตระ ผอ.สถาบันจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ กล่าวในวงเสวนา ‘หลังเสียงปืน 58 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียน และนักปฏิวัติ’ ว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นความมหัศจรรย์ที่มนุษย์ธรรมดาทำงานได้อย่างมากมายในระยะเวลาอันสั้น แต่ละงานก็เป็นงานคลาสสิก ทั้งตำราภาษา ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม

จิตร ภูมิศักดิ์ (24 กันยายน 2473-5 พฤษภาคม 2509)

“อ่านแล้วเกิดความรู้สึกความยิ่งใหญ่ หล่อหลอมตัวเองขึ้นมาทันที โดยอ่านหนังสือเล่มอื่นไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะบทกวีเปิบข้าว กาพย์ยานี 11 ที่ได้อ่านแล้วจะวางไม่ลง ถ้าจิตร ภูมิศักดิ์ ยังมีชีวิตอยู่จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ตอบยากเพราะว่าสถานการณ์บ้านเรามีการรัฐประหารซ้ำซาก จิตร ภูมิศักดิ์ อาจจะติดคุกซ้ำ” ผอ.สถาบันจิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์

จี้ชำระประวัติศาสตร์ ผลักดันสังคมใหม่
ใช้อุทาหรณ์ เมินโฆษณาชวนเชื่อ

อภิเชษฐ์ ทองน้อย คณะผู้เตรียมการฟื้นฟูเกียรติภูมิจิตร ภูมิศักดิ์ ย้อนเล่าว่า กิจกรรมฟื้นฟูเกียรติที่เริ่มต้นในปี 2530 ที่หมู่บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะเป็นจุดแห่งความขัดแย้งรุนแรงถึงกับชีวิต และเพิ่งผ่านเหตุการณ์การสลายพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ชาวบ้านก็ให้การต้อนรับดี มีการผูกข้อมือนับเป็นญาติพี่น้อง อย่างไรก็ตาม ก็มีคนคัดค้าน แต่โชคดีที่ท่านเจ้าอาวาสมีบารมีสูง มีการไปพบกำนันที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้สังหารจิตร ภูมิศักดิ์ ด้วย ส่วนที่ อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี บ้านเกิดของจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้เป็นสมรภูมิสู้รบอะไร ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าอาวาส ข้าราชการครูรุ่นใหม่ โดยวันที่ 25 กันยายน 2560 มีการจัดตั้ง ทีมจิตร ภูมิศักดิ์ รักบ้านเกิด และเป็นการรำลึกเนื่องในวันจิตร ภูมิศักดิ์ ครั้งแรกอีกด้วย

“จิตร ภูมิศักดิ์ ยังไม่ตาย ผลงานของจิตรยังอยู่ 100% จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นอัจฉริยะบุรุษ ผู้มีสติปัญญาทางความคิด และเป็นสามัญชนคนหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย” อภิเชษฐ์กล่าว

ภาพยืนกอดอกในคุก ซึ่งถูกใช้เป็นต้นแบบสร้างประติมากรรมที่อนุสรณ์สถาน ณ จุดเสียชีวิต บ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

ขณะที่ เจน อักษราพิจารณ์ นักเขียนและผู้แทนโครงการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงประวัติศาสตร์สมรภูมิภูพาน ฉายภาพบทเพลงและกวีนิพนธ์ว่าระหว่างที่จิตร ภูมิศักดิ์ ติดคุกมีการแต่งบทเพลงมากมาย อาทิ มาร์ชลาดยาว ฟ้าใหม่ มาร์ชชาวนาไทย เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ รำวงวันเมย์เดย์ และที่สำคัญเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ซึ่งวงคาราวาน นำมาขับร้อง และมีการแต่งเพลง ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ทำให้ผู้คนรับรู้นอกเหนือจากงานวรรณกรรม

นอกจากนี้ หมู่บ้านหนองกุง สกลนคร ระหว่างการสู้รบในป่า จิตร ภูมิศักดิ์ ยังแต่งเพลงภูพานปฏิวัติ เลือดต้องล้างด้วยเลือด

จิตร ภูมิศักดิ์ กินข้าวกับ ‘เพื่อนร่วมคุก’

“ความผูกพันของครอบครัวกับแม่และพี่สาว จะเห็นได้ว่าแต่ละช่วงวัยมีภาพถ่ายที่บันทึกตั้งแต่สมัยประถม มัธยม อุดมศึกษา และในช่วงที่เรือนจำลาดยาว จะเห็นภาพของจิตร ภูมิศักดิ์ ออกมาตลอด แต่หลังจากที่ได้รับอิสรภาพและเข้าป่าแทบจะไม่เห็นภาพถ่ายของจิตร ภูมิศักดิ์ เลย

ตอนนี้จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตมา 58 ปีแล้ว ตอนนี้สามารถเผยแพร่ผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ เผยแพร่ในสาธารณชน โดยไม่มีลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มีห้องเรียนซึ่งมีผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์มีบทเพลงในลักษณะที่ทันสมัย มีหนังสือที่จิตร ภูมิศักดิ์ ประพันธ์ไว้ น่าจะเป็นห้องสมุดที่สืบสาน เป็นรูปธรรมมากที่สุด” เจนระบุ

ภาพสุดท้าย ‘สหายปรีชา’ (จิตร ภูมิศักดิ์) ขึ้นศาลและได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีความผิด

เมธา มาสขาว เลขาธิการสถาบันจิตร ภูมิศักดิ์ และเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย กล่าวว่า งานของจิตร ภูมิศักดิ์เป็นที่ประจักษ์และยอมรับว่าผลงานทางวิชาการงานเขียนบทกวีเป็นสำคัญของประเทศไทย เป็นที่ชื่นชมของคนหนุ่มสาวนักเคลื่อนไหวในขณะนี้

ปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ที่นายทุนอยู่เหนือกลไกรัฐบาล โดยนายทุนคุมรัฐบาล เกิดความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก เจ้าสัวบางคนถือครองที่ดินอยู่ 600,000 ไร่ จากที่ดินในประเทศไทย 320 ล้านไร่ ซึ่งถ้าจิตร ภูมิศักดิ์ มีชีวิตอยู่ อาจจะเป็นปัญญาชนสยามในประเทศไทย เป็นผู้มีปัญญามีความสามารถที่ผู้คนนับหน้าถือตา หรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย รวมถึงผลิตหนังสือที่ดีได้อีกหลายร้อยเล่ม

“เราเสียโอกาสมาเยอะมากจากการเข่นฆ่าอนาคตของสังคมไทย คงถึงเวลาที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดสังคมที่ดี โดยการทบทวนบทเรียนต่างๆ นำประวัติศาสตร์มาชำระ และจัดการศึกษาร่วมกัน เราผลิตหนังสือซ้ำ จัดตั้งอนุสรณ์สถาน เพื่อการเรียนรู้เป็นอุทาหรณ์ โดยไม่ถูกชักจูงจากโฆษณาชวนเชื่อ” เมธากล่าว

จากจิตร ภูมิศักดิ์ สู่ความท้าทายของ ‘คนรุ่นใหม่’

อีกแง่มุมที่ไม่อาจละเลย คือ ความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์การเมืองร่วมสมัยที่มี ‘คนรุ่นใหม่’ ออกมาต่อสู้อย่างกล้าหาญ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย ชี้ว่า ตามจริงจิตร ภูมิศักดิ์ ยังไม่ตาย เหมือนเช เกวารา (ผู้นำปฏิวัติคิวบา) เป็นตำนานที่น่าสนใจ เพราะจิตรเกิดและเติบโตในช่วงปี 2500 มีผลงานดีเด่น จนเกิดการถกเถียง และตาสว่างในช่วง 14 ตุลา2516 นักศึกษาในช่วงนั้นได้รับอิทธิพลของงานเขียน จิตร ภูมิศักดิ์ ในการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย จนกลายเป็นพลังทางการเมืองประชาธิปไตยครั้งสำคัญมาก ในการต่อสู้สามประสานระหว่างนักศึกษา กรรมกร และชาวนา

ผลงานชิ้นสำคัญคือ ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ โดยใช้ทฤษฎีวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ ใช้ความขัดแย้งทางชนชั้น มาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ซึ่งในปี 2564 กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการออกแถลงการณ์ขอโทษจิตร ภูมิศักดิ์ ในกรณีการโยนบกเมื่อปี 2496

เสวนารำลึก ‘หลังเสียงปืน 58 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียน และนักปฏิวัติ’ ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

“จิตร ภูมิศักดิ์ ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งในปี 2563 คือ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตนร่วมใช้ชีวิตด้วยกันในห้องขังเดียวกัน โดยเพนกวินตอนตื่นเช้าขึ้นมาจะยืนขึ้น ปราศรัยพูดเรื่องประวัติศาสตร์ นักโทษที่อยู่ในห้องเดียวกันนั่งฟังอย่างใจจดใจจ่อ เพนกวินมีความกล้า และท้าทาย มีลักษณะเป็นศิลปิน แต่งเพลงก็ได้ ร้องเพลงฉ่อยก็ได้ รวมถึงเป็นนักกวี ต่างตรงที่จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งเป็นกาพย์ยานี 11 ส่วนเพนกวินแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ

ผมโชคดีที่ได้ติดคุกกับคนรุ่นใหม่ ได้มองหน้าต่างในช่วงสามทุ่มเพื่อจะมองเห็นดาว ชีวิตของนักโทษตอนนี้อานนท์ติดคุกเกือบหนึ่งปีแล้ว มีความกล้าหาญเหมือนจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งถ้ายังมีชีวิตอยู่คงได้เป็นราษฎรบัณฑิตของประเทศไทย” สมยศกล่าว

หวังจดจำอุดมการณ์มากกว่าตัวตน
อุปนายกองค์การนิสิต จุฬาฯ สะอื้นไห้
รั้วสามย่านทำลืมรุ่นพี่ที่ชื่อ ‘จิตร’?

ปิดท้ายที่มุมมองของ สลิณา จินตวิจิต อุปนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ที่ขึ้นเวทีบอกกล่าวถึง ‘ที่ทาง’ ของจิตร ภูมิศักดิ์ ในจุฬาฯ โดยผูกพันอยู่แค่ 2 คำ คือ ‘จำ’ และ ‘ลืม’

“คำว่า ลืม จิตร ภูมิศักดิ์ไม่ได้หายไปจากจุฬาฯ เสียทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่คุณค่าหลักที่จุฬาฯ เชิดชูยึดถือ ขณะเดียวกันในคณะอักษรศาสตร์ ไม่เคยเห็นห้องประชุม อนุสาวรีย์ รูปภาพของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ได้รับการเชิดชูอย่างเป็นทางการ แต่ขณะเดียวกัน จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ไม่ได้หายไปจากคณะอักษรศาสตร์เสียทีเดียว ยังมีวิชาเรียนที่พูดถึง ใช้หนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์ ในการเรียนการสอน และมีการรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ ของนิสิตกันเอง

ผู้ใหญ่ในจุฬาฯ อยากให้เราลืมจิตร ภูมิศักดิ์ ย้อนกลับไปเมื่อสองถึงสามปีก่อน สาราณียกรของจุฬาฯ พยายามเขียนบทความที่เกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์ แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับก็คือถูกจุฬาฯปฏิเสธให้ทุนในการทำหนังสือต่อ แต่สุดท้ายพี่ๆ รุ่นนั้น ก็สามารถทำให้หนังสือออกมาได้

จิตร ภูมิศักดิ์ ก็เหมือนผี ยังคงหลอกหลอนจุฬาฯอยู่ตรงนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าไม่มีใครจำจิตร ภูมิศักดิ์ ได้” สลิณากล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

ส่วนคำว่า ‘จำ’ นายก อบจ.ชี้ว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ขณะที่กระแสประชาธิปไตยในหมู่นิสิตนักศึกษา กำลังเฟื่องฟู จิตร ภูมิศักดิ์ มีความสำคัญอย่างมาก เป็นแรงบันดาลใจให้นิสิตจุฬาฯหลายคนในการออกมาทำอะไรสักอย่าง กล้าออกมาวิจารณ์ความไม่เป็นธรรมในสังคม ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของจิตร ส่วนตัวมีมุมมองอะไรมากกว่านั้น แต่สิ่งที่จุฬาฯทำคือไม่เชิดชูหรือให้พื้นที่ให้จิตร ภูมิศักดิ์ เลย ไม่มีห้องประชุม ไม่มีถนนที่ชื่อจิตร ภูมิศักดิ์

“ความท้าทายของนิสิตปัจจุบัน จะทำอย่างไรให้คนจดจำจิตร ภูมิศักดิ์ ได้ เราจะจำในฐานะนักวิชาการ นักอักษรศาสตร์ นักเขียนนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ นักสังคมนิยม ยังเป็นความท้าทายที่ตัวหนูเองยังคงเผชิญอยู่ เพราะว่าสำหรับเราแล้ว อยากจัดงานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ ในจุฬาฯ แต่คำถามที่ถามตัวเองและถามเพื่อนเพื่อนที่ร่วมงานด้วยกัน เราควรจะรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ อย่างไร เราควรจะมองจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะนิสิตที่โดนโยนบกแค่นั้นหรือ หรือจิตร ภูมิศักดิ์ มีอะไรมากกว่านั้น แต่สุดท้ายแล้วยังคาดหวังว่าจุฬาฯ ยังจดจำจิตร ภูมิศักดิ์ ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” สลิณากล่าว

ส่วนคำถามที่ว่า ถ้าจิตร ภูมิศักดิ์ มีชีวิตอยู่จะเป็นอย่างไร เจ้าตัวตอบตรงๆ ว่า “ไม่ทราบ”

“มันเป็นการสมมุติ มีได้เป็นร้อย เป็นล้านอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่คิดได้คือ มนุษย์คนหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ ในวัยเด็กก็มีแนวคิดแบบชาตินิยม ในขณะที่ต่อมาต่อต้านศักดินา เห็นความทุกข์ยากของมวลชน” นายก อบจ.กล่าว ก่อนทิ้งท้ายอย่างคมคายว่า

ตัวตนของจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้สำคัญเท่าอุดมการณ์ที่ส่งต่อให้คนรุ่นหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะรักษาไว้มากกว่ารำลึกเพียงแค่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว

ศศวัชร์ คมนียวนิช

ขอบคุณภาพถ่ายเก่า จิตร ภูมิศักดิ์ ทั้งหมดจาก
‘นิตยสารทางอีศาน’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image