รัฐบาลควรเอาจริงกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมียวดี

รัฐบาลควรเอาจริงกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมียวดี

ผลสะเทือนจากการลาออกของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มิใช่เพียงจะมีต่อความเหมาะสมของการปรับคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ยังทำให้เกิดข้อกังขาว่า มีความเห็นต่างในเชิงนโยบายหรือการปฏิบัติประการใดระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีหรือไม่ อันที่จริง ผมพยายามสืบค้นจากอินเตอร์เน็ตว่ามีกฎ-ระเบียบที่จำกัดจำนวนรองนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แต่สืบค้นไม่พบ หากไม่มีการจำกัดจำนวน นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งใครเป็นรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมย่อมทำได้โดยไม่จำเป็นต้องปลดนายปานปรีย์ ส่วนการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีว่า ต้องการให้นายปานปรีย์ทุ่มเทเวลากับการทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศนั้น ฟังไม่ขึ้น รัฐบาลชุดก่อน ให้เหตุผลตรงกันข้ามว่า ต้องแต่งตั้งให้รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นรองนายกฯด้วย เพราะในการไปประชุมหรือติดต่อต่างประเทศ สามารถรับมอบให้ทำการแทนนายกรัฐมนตรีได้สะดวก แล้วทำไมพอมาถึงรัฐบาลชุดนี้ กลับเห็นว่าการควบตำแหน่งไม่เหมาะสมถึงขนาดต้องปลดออกโดยไม่บอกกล่าว 

ข้อกังวลข้อหนึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีต่างประเทศ คือความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา โดยเฉพาะที่เมืองเมียวดี ที่มาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อพอดี

คงจำกันได้ว่า คณะผู้นำกองทัพทหารพม่าทำรัฐประหาร เมื่อต้นปี 2564 โดยอ้างว่าพรรคเอ็นแอลดีที่มีนาง ออง ซาน ซูจี เป็นผู้นำ โกงการเลือกตั้ง ทำให้พรรคฝ่ายทหารแพ้ และสัญญาว่าจะคืนประชาธิปไตยให้ชาวพม่าภายใน 1 ปี แต่ย่างเข้าปีที่ 4 แล้วก็ยังเฉย จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างทหารกับกองกำลังประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลซูจี และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ โดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารสามารถยึดเมืองต่างๆ ได้เกือบ 40 เมือง ครึ่งหนึ่งอยู่ในรัฐฉานของไทใหญ่ ล่าสุดคือเมืองเมียวดีที่อยู่ติดชายแดนแม่สอดถูกกองกำลังกะเหรี่ยงตีแตก ทหารกะเหรี่ยงเข้ายึดค่ายทหารผาซอง 275 จากทหารพม่าได้ในวันที่ 10 เมษายน 2567 โดยทหารพม่าถอยร่นมาอยู่ที่บริเวณสะพานมิตรภาพสอง ในช่วงนั้นมีชาวกะเหรี่ยงหนีภัยสงครามมาฝั่งไทยราวสามพันคน อย่างไรก็ดี สถานการณ์สู้รบที่เมียวดียังสับสนอยู่ ดังจะกล่าวต่อไป

Advertisement

จะขอกล่าวถึงท่าทีของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมา โดยขอเริ่มจากฝ่ายนิติบัญญัติก่อน สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานเมื่อวันที่ 8 เมษายนว่า คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลให้ดำเนินการ 4 ข้อ ดังนี้

1. รีบตั้งกลไกติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด

2. มีแผนรองรับผู้อพยพหนีภัยสงครามและผลกระทบการสู้รบในเมียนมา

Advertisement

3. ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้ครอบคลุมทั้งคนเมียนมาและชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลจากการสู้รบ

4. ผลักดันการเจรจาสันติภาพในเมียนมาผ่านกลไกทรอยก้าพลัส โดยไทยควรขอให้ประธานอาเซียนพิจารณาในเรื่องนี้ และอาจเชิญจีนและอินเดียเข้าร่วมผลักดันการเจรจาสันติภาพในเมียนมาด้วย ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และได้จังหวะเวลาที่สุด

ผู้อ่านอาจสงสัยว่ากลไกทรอยก้าพลัสคืออะไร ทรอยก้าเป็นภาษารัสเซีย ในที่นี้หมายถึงกลุ่มบุคคลสามคน หรือกลุ่มประเทศสามประเทศ ที่มาร่วมมือร่วมแรงกันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในบริบทของอาเซียน ทรอยก้าประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศที่เพิ่งเป็นประธานอาเซียน (หมายถึงอินโดนีเซีย) เป็นประธานปัจจุบัน (หมายถึงลาว) และเป็นประธานถัดไป (หมายถึงมาเลเซีย) แต่ในกรณีที่ต้องการเพิ่มประเทศหรือบุคคลเข้าไปเสริมทรอยก้า จะเรียกชื่อใหม่เป็นทรอยก้าพลัส 

ต่อมานายนิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลไทยเห็นด้วยกับการตั้งกลไกทรอยก้าพลัส ซึ่งมีนัยว่า รัฐบาลไทยพร้อมที่เข้าไปเสริมทรอยก้าให้เป็นทรอยก้าพลัสนั่นเอง ด้วยเหตุผลว่าไทยอยู่ติดกับเมียนมา และต้องการให้เกิดสันติภาพอยู่แล้ว ล่าสุด นายนิกรให้สัมภาษณ์อีกว่าได้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลลาวในฐานะประธานอาเซียนแล้ว และลาวยอมรับข้อเสนอของไทยไปพิจารณา จึงหวังว่าอาเซียนจะร่วมขับเคลื่อนกลไกทรอยก้าพลัส และหวังด้วยว่ารัฐบาลเมียนมาจะยินยอมให้ความร่วมมือกับทรอยก้าพลัสเพื่อยุติการสู้รบ และสร้างกลไกทางการเมืองมาแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติต่อไป

ขอย้อนกล่าวถึงสถานการณ์ที่ชายแดนเมียนมา-จีน ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 มีรายงานข่าวกรณีที่คนไทยไม่น้อยกว่า 200 คนถูกหลอกไปทำงานต้มตุ๋นออนไลน์ในเมืองเล่าก์ก่าย เขตปกครองพิเศษโกก้าง ภาคเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่าที่อยู่ติดกับชายแดนจีน และต้องเผชิญกับสถานการณ์การสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างกองทัพพม่าและทหารของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม

 เนื่องจากรัฐบาลจีนเอาจริง โดยให้รัฐบาลเมียนมาส่งตัวจีนเทาที่ตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในตอนเหนือของรัฐฉานกลับไปสอบสวนดำเนินคดี และได้ส่งหลักฐานกลับไปให้รัฐบาลเมียนมาว่า นายทหารเมียนมาคนไหนบ้างที่มีส่วนรับผลประโยชน์จากการต้มตุ๋น เมื่อจีนถอนความสนับสนุน เมืองเล่าก์ก่ายก็แตก พวกมิจฉาชีพทั้งหลายได้ย้ายฐานจากตอนเหนือของรัฐฉานไปยังประเทศใกล้เคียง แต่ส่วนใหญ่ย้ายมาที่เมียวดี เนื่องจากเมืองนี้อยู่ติดไทย ไม่ติดกับจีนเหมือนเล่าก์ก่าย จีนจึงเข้าถึงยากและกดดันได้ไม่มาก อาจทำได้เพียงอพยพคนจีนกลับไป เรื่องคงตกหนักที่ไทย ไม่ใช่เฉพาะการหยุดยิงและการสร้างสันติภาพ แต่ไทยจะเอาอย่างไรกับกลุ่มผิดกฎหมายที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำเมย 

กองกำลังที่สู้รบกันอยู่ที่เมียวดีมีอย่างน้อยสามฝ่าย คือฝ่ายทหารหรือที่เรียกกันว่าทัตมาดอว์ ฝ่ายกะเหรี่ยงที่ต่อสู้กับรัฐบาลกลางมายาวนานและมีชื่อย่อว่า KNU และกองกำลังกะเหรี่ยงที่เรียกชื่อว่า “กองกำลังป้องกันชายแดน หรือ BGF” กองกำลังที่สามนี้อยู่ภายใต้การนำของพันเอกชิตู และให้การสนับสนุนรัฐบาลกลางมาโดยตลอด แลกกับโอกาสการแสวงผลประโยชน์มากมายจากธุรกิจสีเทา รวมทั้งการตั้งคอลเซ็นเตอร์ ธุรกิจสีเทารวมตัวกันอยู่ที่เมืองชเวโก๊กโก่ และเมืองเคเคปาร์คเป็นส่วนใหญ่ (ดูแผนที่ข้างต้น)

เมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาเกิดระส่ำระสาย เสียเมืองให้แก่กองกำลังของฝ่ายต่อต้านและฝ่ายชาติพันธุ์ไปมาก พันเอกชิตูก็ไหวตัว หันมาช่วยฝ่าย KMU รุมฝ่ายทัตมาดอว์ ทำให้เข้ายึดค่ายทหารผาซอง 275 ได้สำเร็จดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ดี ฝ่ายทัตมาดอว์ไม่อยากเสียเมืองเมียวดีที่ให้ผลประโยชน์นอกระบบแก่ผู้นำทหารหลายคน จึงส่งผู้บัญชาการทหารบกมาตั้งศูนย์บัญชาการที่รัฐมอญ และเริ่มส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิด ทำให้พลเรือนต้องลี้ภัยสงคราม โดยส่วนหนึ่งได้ข้ามแม่น้ำมาอยู่ฝั่งไทย คราวนี้พันเอกชิตูคงไหวตัวอีก ถ้าปล่อยให้ทิ้งระเบิดเมืองเมียวดี ชเวโก๊กโก่ และเคเคปาร์ค ก็เหมือนทุบหม้อข้าวตนเอง มีประโยชน์อะไรที่จะทำให้ตึกรามบ้านช่อง อาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจสีเทา ต้องถูกระเบิดพังทลายลง พันเอกชิตูจึงหันมากดดัน KNU ให้ถอยจากค่ายผาซอง 275 ฝ่ายทัตมาดอว์จึงได้กลับไปชักธงเมียนมาที่ค่ายดังกล่าว การทิ้งระเบิดสิ้นสุดลง และผู้ลี้ภัยที่มาอยู่ฝั่งไทยก็ขอกลับสู่บ้านช่องเดิม ทุกอย่างดูสงบเรียบร้อย แต่ต่างจากกรณีการเข้ายึดเมืองเล่าก์ก่ายของกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อไม่มีรัฐบาลจีนคอยช่วยปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมาย มหกรรมคอลเซ็นเตอร์ก็ดำเนินได้เหมือนเดิม ด้วยการรู้เห็นเป็นใจของฝ่ายไทยบางส่วนที่คงขอส่วนแบ่งผลประโยชน์ได้ลงตัว

ในเรื่องนี้ ผมขออ้างถึงบทสัมภาษณ์ของ ปิ่นแก้ว เหลืองอรามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ทำวิจัยเรื่องทุนนิยมกาสิโน โดยปิ่นแก้วให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวชายขอบเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2567 ซึ่งพาดหัวข่าวว่า “แฉนักธุรกิจไทยร่วมเอี่ยว จี้รัฐเข้มท่าเรือข้ามห้ามขนคน เชื่อหากพม่ายึดคืนเมียวดีได้ แหล่งอาชญากรรมขยายตัวแน่” ขออนุญาตนำเรื่องที่ปิ่นแก้วให้สัมภาษณ์ไว้ มาเล่าต่อดังนี้

ทุนจีนเทาที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในแหล่งอาชญากรรมชเวโก๊กโก่ เคเคปาร์คและพื้นที่ต่างๆ ริมแม่น้ำเมยฝั่งเมืองเมียวดี กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพกะเหรี่ยง KNU เมืองชเวโก๊กโก่ และเมืองเคเคปาร์คทั้งสองเมือง ไม่มีทางอยู่ได้ ถ้าไม่มีเครื่องอุปโภค บริโภค ส่งไปจากไทย โดยเฉพาะท่าข้ามธรรมชาติ 5-6 ท่าที่แม่สอด ที่ใช้ขนคนและขนน้ำดื่ม วัสดุก่อสร้างจากร้านใหญ่ในแม่สอด ตลอดจนเครื่องปั่นไฟไปขาย เรื่องนี้ รัฐต้องมีมาตรการเด็ดขาด ตัดทางลำเลียงทุกอย่างที่หล่อเลี้ยงเมืองอาชญากรรมนี้ และต้องให้สภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้ามีบทบาทจัดการเรื่องนี้ด้วย

ข้อเสนอนอกเหนือจากการช่วยผู้ประสบภัยจากสงครามแล้ว รัฐบาลควรแสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อเมืองอาชญากรรมทั้งสองแห่ง เรียกร้องให้ไม่ว่าฝ่ายใดที่จะขึ้นมาบริหารเมียวดีก็ตาม ต้องจัดระเบียบและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างจริงจัง โดยรัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน เมืองแม่สอดที่เป็นเมืองสำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของเมืองอาชญากรรม จะต้องแสดงท่าทีชัดเจนเช่นกันว่า จะไม่สนับสนุนเมืองอาชญากรรม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการยุติบทบาทการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนี้ลง เจ้าของท่าข้ามธรรมชาติทั้งหลาย ต้องหยุดให้บริการขนส่งสินค้าและคน ที่เอื้ออำนวยให้อาชญากรรมเหล่านี้เติบโต

นายพลของ KNU บางคนมีผลประโยชน์อยู่ที่เคเคปาร์ค ซึ่งเป็นพื้นที่ในสัญญาสัมปทานที่ลงนามโดยนายพลของ KNU บางคน และมีคนไทยหลายคนมีชื่อในบริษัทต่างๆ ด้วย เรามักมองว่าเป็นทุนข้ามชาติจีน แต่มีไทยเข้าไปเกี่ยวด้วยแน่ๆ และพันเอกชิตูก็เปิดบริษัทร่วม ปีหนึ่งมีรายได้ประมาณ 3,500 ล้านบาท ในช่วงจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชเวโก๊กโก่ มีคนไทยไปร่วมไม่น้อย และข้ามกันไป-มาในช่องทางธรรมชาติ คนไทยไม่น้อยเป็นเจ้าของที่ดินฝั่งโน้น นักธุรกิจไทยที่ร่วมงานกับพันเอกชิตูก็ทราบถึงปัญหาแต่ไม่ขอเข้าไปยุ่ง รับแต่รายได้ที่เป็นกำไรอย่างเดียว

ตลอดแนวชายแดนไปถึงแม่ระมาด มีท่าข้ามธรรมชาติกว่า 50 แห่ง มีเสาสัญญาณโทรศัพท์กว่า 170 ต้น แม้จะตัดไฟฟ้าและตัดสัญญาณโทรศัพท์แต่ก็ยังมีเคเบิลใต้น้ำ และหมู่บ้านต่างๆ ก็ขายสัญญาณให้ฝั่งโน้น ถ้าไฟฟ้าถูกตัดก็มีเครื่องปั่นไฟช่วย 

หากย้อนไปยุคที่นางออง ซาน ซูจีเป็นรัฐบาล มีการร้องเรียนเรื่องการค้ามนุษย์และการหลอกคนไปทำงาน การทารุณกรรม มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและบีบกองกำลังป้องกันชายแดน BGF เพราะพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร พลเอก มินอ่องหล่าย มีอำนาจ ทำให้การตรวจสอบหยุดลงชั่วคราว เห็นได้ว่าประชาธิปไตยมีผล ดังนั้น รัฐไทยต้องสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า การตรวจสอบเกิดขึ้นได้เมื่อมีประชาธิปไตย

รัฐบาลจีนพยายามกดดันรัฐบาลทหารพม่า นัดประชุมกันหลายครั้ง ตำรวจจีนมีรายชื่อจีนเทา แต่ตำรวจพม่าพูดอยู่คำเดียวว่าต้องปรึกษาทางเนปีดอว์ก่อน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์มีการส่งกลับคนจีน ทูตจีนมาเอง มาขนคนจีนที่เป็นเหยื่อจาก เคเคปาร์ค ขึ้นเครื่องบินกลับไป แต่ปิดลับ มีข้อสันนิษฐานว่ารัฐบาลจีนต่อตรงกับเคเคปาร์ค ทั้งกับคนคุมพื้นที่และทุนจีน เท่าที่ทราบคือทุนจีนยอมว่าต่อไปนี้จะไม่เอาเหยื่อคนจีนมาทำงาน แต่ที่นี่เป็นแหล่งอาชญากรรมระดับโลก กลุ่มจากแอฟริกาเป็นเหยื่อมากที่สุด ในเคเคปาร์ค มีคนอยู่เป็นแสน แต่ไม่ใช่เหยื่อทั้งหมด เหยื่อน่าจะเป็นหลักหมื่น คนที่ทำงานในนั้นเล่าว่า ที่นั่นเหมือนเป็นนิคมย่อยๆ เป็นตึกรามบ้านช่อง พนักงานที่เข้าไปทำงานอย่างเต็มใจก็มี และมีบอสเป็นเจ้าของกิจการ คนที่เคยเป็นล่ามบอกเล่าว่า เขาทำหน้าที่ช่วยบอสประสานงานกับทางการไทย 

ในอดีตมีแนวคิดเมืองแฝดระหว่างแม่สอดกับเมียวดีที่สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจสองฝั่ง แต่แนวคิดนี้หายไปเมื่อมีบ่อนกาสิโนและคอลเซ็นเตอร์ สิ่งที่น่าห่วงคือ มีแนวคิดให้ไทยตั้งกาสิโนเสียเอง และที่แม่สอดมีการผลักดันหนักมากว่าทำไมเราไม่ทำเอง ที่ชเวโก๊กโก่ มีบอสใหญ่อย่างน้อย 8 คน หากเราตั้งบ่อนแล้ว พวกเขาอาจมาลงทุน และตั้งคอลเซ็นเตอร์แฝงอยู่ด้วย แล้วเราจะทำอย่างไรกับข้าราชการไทยบางคนที่อาจจะไปร่วมกับเขา

เรื่องที่ปิ่นแก้วเล่ามาทั้งหมดและผมขอมาเล่าต่อในที่นี้นั้น ฟังดูน่าเชื่อถือ การที่รัฐบาลไทยประกาศว่าพร้อมให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และริเริ่มให้อาเซียนจัดตั้งทรอยก้าพลัสเพื่อสันติภาพในเมียนมาเป็นเรื่องดี แต่ขอให้ช่วยจัดการกับบรรดาคอลเซ็นเตอร์ที่เมืองชเวโก๊กไก่และเมืองเคเคปาร์คอย่างจริงจังด้วย เพราะเป็นภัยคุกคามต่อทั้งคนไทยและคนทั่วภูมิภาค ไทยมีศักยภาพที่จะจัดการได้ จึงขอฝากรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่และนายกรัฐมนตรีด้วย 

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image