ข้อพิพาทในข่าวชาวบ้าน กับอำนาจรัฐในซอยตัน (ที่ตามกฎหมายแล้วผ่านเข้าออกได้)

เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อชายคนหนึ่งขับรถตาม GPS เข้ามาในซอยราชปรารภ 6 ตามแผนที่ในระบบนั้น แม้ว่ามันเป็นซอยแคบที่รถสวนไม่ได้แต่ก็สามารถเป็นทางเข้าแล้วไปออกอีกทางหนึ่งได้ หากขับรถเข้ามาเกินครึ่งซอยเขาก็พบว่าในซอยเต็มไปด้วยร้านแผงลอยและรถเข็นขายอาหารที่กินพื้นที่ไปครึ่งซอยจนรถไม่อาจผ่านมาได้ 

เขาเข้ามาลึกเกินถอย โดยที่แผงค้ารถเข็นเหล่านั้นก็พยายามเก็บหลบให้ แต่ก็ไปติดตรงที่มีรถจักรยานยนต์จอดล็อกคออยู่โดยหาตัวคนที่มาจอดไว้ให้มาเคลื่อนย้ายก็ไม่ได้ กว่าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาช่วยจัดการแก้ไขปัญหา โดยยกจักรยานยนต์ที่จอดขวางไว้ให้ได้ก็กินเวลาเกือบครึ่งวัน ซึ่งทำให้โทสะของเขาพุ่งสูงทะลุอุณหภูมิแดนสวรรค์ 40 องศาขึ้นไป ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและพนักงานเทศกิจ ที่เป็นตัวละครสำคัญของเรื่องนี้ ก็จะต้องมารับแรงกระแทกทางอารมณ์โดยชอบธรรม

เพราะต้นเหตุของเรื่องนี้ก็เกิดจากทางการหน่วยงานท้องถิ่นคือเขตราชเทวี โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจนั่นเองที่เป็นผู้ผ่อนผันให้รถเข็นและแผงลอยขายของในซอยนี้ได้ เช่นนี้เหตุผลของฝ่ายคนที่ขับรถเข้ามานั้นก็เข้าใจและน่าเห็นใจทีเดียว คือเขาบอกว่า ถ้าเพียงทางการบ้านเมืองจะอนุญาตให้ขายของปิดทางเข้าออกกันขนาดนี้ ก็ควรจะกำหนด ประกาศ หรืออย่างน้อยก็ติดป้ายบอกไว้ด้านขาเข้าว่าเป็นซอยตันหรือถนนปิด ห้ามรถยนต์ผ่าน หากทำอย่างนี้ตั้งแต่ต้นเขาก็คงจะไม่หลงเข้ามาให้เป็นเรื่องกัน

ทิศทางของข่าวนี้ในสื่อหลักส่วนใหญ่ก็คงไปในแนวทางที่ว่า ฝ่ายคนขายของในซอยและผู้อยู่อาศัยที่เอารถจักรยานยนต์มาจอดไว้เป็นฝ่ายผิดที่มักง่าย จนซอยซึ่งเป็นถนนสาธารณะนั้นไม่สามารถใช้ผ่านเข้าออกได้ แต่ผมอยากแนะนำให้ลองไปชมสกู๊ปข่าวของช่องข่าวเวิร์คพอยท์ 23 ที่แค่ชื่อเรื่องก็พลิกมุมคิดไปคนละทางแล้วแม่ค้าร่ำไห้ ขายของไม่ได้เพราะคนคนเดียวซึ่งเหมือนกับจะเข้าข้างหรือเห็นใจฝ่ายผู้ที่มาขายของในซอย

Advertisement

เพราะความรอบด้านอย่างน่าปรบมือให้ของสกู๊ปข่าวนั้นเอง ที่ชวนให้ขบคิดไปได้ยาวจนอยากมาบอกเล่าเสนอมุมมองในคอลัมน์นี้

ปัญหาตั้งต้นของเรื่องคือ จากการขายของแบบหาบเร่แผงลอยและอาหารรถเข็น ซึ่งจะว่ากันตามตรง มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้พื้นที่ในทางสาธารณะในสังคมไทย เรื่องนี้อยากให้ลองอ่านเพิ่มเติมในคอลัมน์พื้นที่ระหว่างบรรทัดตอนทางเท้าที่ไร้หัวใจ (1)” ของ อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 19-25 เมษายน 2567 (เข้าถึงได้ทางมติชนออนไลน์) ซึ่งพูดถึงความเกลียดชังของคนชั้นกลางในเมืองระดับที่ถึงกับโพสต์ว่า อยากให้รถพุ่งชนและชนกวาดทิ้งรถเข็นขายของและผู้คนที่เอาเสื่อมานั่งบนทางเท้าให้ราบ

เห็นด้วยกับอาจารย์ชาตรีในแง่ที่ว่าหาบเร่แผงลอยและรถเข็นขายอาหารบนทางเท้าเหล่านี้มีบทบาทสำคัญทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะในแง่ของการที่เป็นแหล่งซื้อหาอาหารที่เหมาะสมกับค่าครองชีพสำหรับคนชั้นกลางในเมืองที่ยังมีรายได้ไม่มาก แต่ส่วนที่เห็นไม่ตรงกันคือสมมุติฐานที่ว่ากลุ่มผู้ที่เกลียดชังหาบเร่แผงลอย ที่อาจารย์ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะได้แก่ชั้นกลางระดับบนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอจนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาหาบเร่แผงลอย แต่จากที่แอบสำรวจด้วยการเข้าไปส่องโปรไฟล์ของผู้เกลียดชังหาบแร่แผงลอยในบางเพจ ก็พบว่า ส่วนหนึ่งก็มีคนชั้นกลางที่ไม่ได้มีฐานะดีอะไรขนาดนั้น แต่เพราะคนกลุ่มหลังนี้เองที่เป็นผู้ที่ต้องรับความเดือดร้อนจากความสกปรก ไร้ระเบียบ และกรณีที่หาบเร่แผงลอยรถขายอาหารมากีดขวางการสัญจรบนทางเท้าจนต้องเลี่ยงลงไปเดินบนถนนให้เสี่ยงต่อการถูกรถชน ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

Advertisement

ปัญหาของหาบเร่และแผงลอยนี้จึงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะในแง่หนึ่ง ผู้คนในเมืองยังต้องพึ่งพามัน แต่ก็ได้รับความเดือดร้อนและเกลียดชังไปพร้อมๆ กัน อย่างที่คนที่ไปโพสต์สะใจระบายอารมณ์ด่าทอรถเข็นแผงลอยในพวกเพจทวงคืนทางเท้าสารพัดนั้น เกือบทุกคนเชื่อว่าก็น่าจะเคยเผลอซื้อของจากแหล่งประเภทนั้น หรือบางคนอาจจะจำเป็นต้องอาศัยพึ่งพาเป็นประจำด้วยซ้ำไป 

การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของเรื่องนี้อาจจะเป็นเหมือนทฤษฎีเกมสมบูรณ์แบบที่ทุกคนต้องเล่นตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดจึงจะได้ประโยชน์ร่วมกันเต็มที่ นั่นคือ ภาครัฐกวดขันไม่ให้มีการขายของบนทางเท้าไม่ว่ากรณีใด ถึงจะมีหลงหูหลงตาผู้คนที่เดินผ่านไปมาก็ต้องใจแข็งพอที่จะไม่ยอมซื้อ และทางภาครัฐเองก็ต้องหาที่ให้ไปขายของกันได้อย่างถูกกฎหมายไม่เกะกะขวางทาง 

แต่เพราะเรื่องนี้เป็นเกมที่ทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ต้องเล่นตามกฎถึงจะชนะ เรื่องจึงไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น เพราะเมื่อเกมนั้นดำเนินไปจริง ต่อให้รัฐไปจัดพื้นที่ให้ขายอย่างเป็นที่เป็นทาง แต่ที่ทางนั้นก็อาจจะไม่ใช่ที่ที่ผู้ซื้อนั้นจะสามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยสะดวก ดังนั้น ถ้ามีแผงลอยรถเข็นสักคันที่ไม่ยอมเล่นในเกมนี้แล้วไปขายบนทางเท้า ก็จะมีผู้ซื้อก็ไม่ยอมเล่นตามเกมอันสมบูรณ์ด้วยการไปอุดหนุนแผงลอยรถเข็นที่ไม่ทำตามกฎนั้น ในที่สุดแล้ว คนขายของที่อาจจะยอมขายในพื้นที่ถูกกฎหมายที่รัฐจัดให้ตั้งแต่ทีแรกก็จะเลิกเล่นตามกติกาบ้างเพราะไม่เห็นประโยชน์อันใด ในที่สุดทุกคนในเกมก็จะชนะครึ่งแพ้ครึ่ง ส่งผลเป็นทางเท้าก็จะมีสภาพอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

วิธีที่ทางเขตหาทางออกในเรื่องนี้ คือเมื่อประเมินแล้วว่าโดยปกติแล้วในซอยนี้ไม่ค่อยมีรถใหญ่ผ่าน ส่วนคนในพื้นที่นั้นส่วนใหญ่จะใช้จักรยานยนต์ การอนุโลมให้หาบเร่และรถเข็นหลบเข้ามาขายในซอยนั้นเพื่อไม่ให้กีดขวางทางเท้าของถนนสายหลักเพื่อคนเดินถนนจะได้เดินได้โดยสบายใจ จริงๆ แล้วก็เป็นการแก้ปัญหาที่ถึงไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นทางเลือกที่ไม่แย่นัก แต่เมื่อมีการอนุญาตให้รถเข็นหรือแผงลอยนั้นเข้ามาขายของจนซอยนั้นกลายเป็นพื้นที่ค้าขาย ก็ทำให้ผู้อาศัยในบ้านหรือตึกแถวในซอยนั้นก็สบช่องในการเปิดบ้านตั้งหน้าร้านแบบกึ่งแผงลอยบ้าง ในที่สุดซอยนั้นก็มีสภาพเป็นซอยที่มีรถเข็นและแผงลอยขายของที่รถยนต์ผ่านไม่ได้ไปโดยปริยาย ตามมาด้วยผู้มาจอดรถจักรยานยนต์ไว้ซึ่งก็น่าจะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นนั่นแหละ

ในที่สุด แม้สถานะตามกฎหมายของซอยนั้นจะยังคงเป็นทางสาธารณะที่ควรจะผ่านได้ แต่ก็ไม่สามารถใช้ทางได้ตามความเป็นจริง โดยที่ทางเขตเองก็ไม่มีอำนาจยกเลิกความเป็นทางสาธารณะ หรือแม้เพียงติดป้ายประกาศหรือเตือนว่าซอยตันห้ามรถยนต์เข้าออกได้ เพราะมันจะขัดต่อสถานะตามกฎหมายของพื้นที่ซอยดังกล่าว ที่ทางการไม่อาจยอมรับได้

หลักการพื้นฐานที่คนเราควรต้องเคารพกฎหมายอย่างหนึ่งคือ เมื่อมันต้องมีกฎเกณฑ์หรือกติกาที่รับรู้โดยทั่วไปและมีผลใช้บังคับโดยทั่วถึงกัน เราก็ต้องไว้ใจว่าการปฏิบัติตามกฎหมายแล้วก็ควรได้ดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่น ไม่ใช่ต้องมาวัดใจกันตามแต่ละวิถีปฏิบัติของท้องถิ่นท้องที่ ก็ในเมื่อกฎหมายบอกว่าทางนี้ผ่านได้ ก็ควรต้องผ่านได้ในทางความเป็นจริงในพื้นที่ด้วย

แต่เมื่อรถยนต์ที่เข้ามาโดยความเชื่อตามกฎหมายว่าทางผ่านได้กลับมาเจอสภาพเช่นนั้น ถ้าไม่ยอมแพ้ถอยหลังไปออกซอยอื่นก็จะยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกักซึ่งเดิมเป็นสำนวนที่ใช้กับเรือ แต่ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ของรถยนต์ต้นเรื่องนี้ได้ดีทีเดียว ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นเรื่องพิพาทไปจริงๆ

แม้ฝ่ายผู้ค้าและคนที่อยู่ในซอยนั้นหรือแม้แต่ทางเขตจะต่อสู้ว่า จริงๆ คนในพื้นที่นั้นเขาก็อยู่กันได้ รู้ว่าตันก็ไม่ผ่าน นานๆ ครั้งจึงจะมีคนต่างถิ่นที่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่หลงเข้ามาสักคัน ที่ก็พอหลบหรือย้ายให้ผ่านไปได้ ไม่มีใครเดือดร้อนนอกจากคุณคนนี้ ข้ออ้างแบบนี้ก็ฟังไม่ขึ้น และยิ่งถ้ามาจากฝ่ายรัฐที่ต้องกำกับดูแลกฎหมายก็ยิ่งดูแย่

อีกทั้งที่ว่าคนแถวนี้ก็อยู่ได้โดยไม่มีใครเดือดร้อน จากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าวอีกช่องหนึ่งก็พบว่าผู้อยู่อาศัยในซอยนั้นบางส่วนก็รู้สึกว่าเป็นปัญหาเช่นกัน เพราะถนนหลักเห็นอยู่แค่หน้าบ้าน แต่ก็ไม่สามารถใช้เข้าออกได้ และก็เคยมีการเจรจาขอพื้นที่ให้รถยนต์สามารถเข้าออกได้บ้างแต่ก็ไม่เป็นผล เรื่องนี้ก็ไม่รู้ว่าถ้ามีการหามติของชุมชนกันจริงๆ แล้ว เสียงของคนในซอยนั้นจะไม่เดือดร้อนกับการที่อยู่ดีๆ ทางสาธารณะนั้นต้องเป็นซอยตันจริงหรือเปล่า

เมื่อเรื่องราวใหญ่โตกลายเป็นไวรัลในสังคมออนไลน์ ทางภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลก็ทำท่าว่าจะเลิกผ่อนผันให้มีการขายของในซอย จนเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจจนยกเอาเรื่องนี้มาเขียนยาวๆ ก็มาจากการที่ป้าคนขายขนมจีนคนหนึ่ง ร่ำไห้สัมภาษณ์กับทีมข่าวช่องเวิร์คพอยท์ 23 ที่ว่า จะให้ไปกราบขอโทษคนที่ขับรถเข้ามาอย่างไรก็ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของเธอเลยเพราะที่รถของเขาผ่านไปมาไม่ได้เป็นเพราะรถจักรยานยนต์ที่จอดล็อกคอไว้ล้วนๆ หากไม่สามารถขายของที่นี่ได้ เธอก็ไม่มีหนทางทำมาหากิน จะให้ไปกระโดดให้รถชนตายก็เอา 

ฟังแล้วก็อดให้สะท้อนใจไม่ได้ว่า น้ำหนักของความเดือดร้อนเสียหาย ของคนที่มาจากต่างถิ่น แต่บังเอิญจะขับเข้ามาติดกักขัดข้องในหลักชั่วโมง แต่ความเดือดร้อนเขาก็ชอบธรรมตามกฎหมายพอที่จะมีน้ำหนักเหนือกว่าความเดือดร้อนระดับวิถีชีวิตระยะยาวของคนขายของที่คิดว่าตัวเองก็ยอมทำตามที่ทางภาครัฐอนุโลมสั่งการแล้วคนหนึ่ง และอาจจะต้องรวมถึงคนที่ต้องฝากท้องกับรถเข็นขายขนมจีนของป้าคนนั้นด้วย

ถึงอย่างนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องยืนยันว่าการเรียกร้องสิทธิของคนที่ขับรถเข้าไปนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม เป็นไปเพื่อรักษาความดำรงอยู่อย่างศักดิ์สิทธิ์ของกติกาบ้านเมือง อีกทั้งประชาชนก็ไม่ควรต้องมาแบกรับน้ำหนักความรู้สึกผิดหรือต้องมาพิพาทกันเองในเรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ 

เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของรัฐ ที่เราคาดหวังกันตั้งแต่ครั้งทฤษฎีสัญญาประชาคมว่า การที่เรามารวมตัวกันอยู่ให้เกิดเป็นรัฐ เพื่อที่การใช้สิทธิเสรีภาพของเราแต่ละคนจะไม่ไปล้ำขอบเขตต่อกันจนต้องทะเลาะกันเอง

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image