กรุงเทพฯ เมืองเดียว ทำไมมี‘หลักเมืองกรุงเทพฯ’2ต้น

ภาพเสาหลักเมือง 2 ต้นตั้งอยู่เคียงกันภายในศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ หัวเสารูปดอกบัว “หลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์” สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 หัวเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ “หลักเมืองกรุงเทพฯ” สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจาก สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล บันทึก 3 เมษายน 2554)

 ใครที่เคยไปสักการะศาลหลักเมือง ก็คงได้เห็นว่า ภายในศาลมีหลักเมืองอยู่ 2 ต้นหลักเมืองกรุงเทพฯต้นแรกสร้างขึ้น เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีแห่งใหม่ แทนกรุงธนบุรี ภายหลังรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างหลักเมืองเพิ่มขึ้นอีกต้น 

แต่ทำไมกรุงเทพฯ ต้องมีหลักเมือง 2 ต้น เหตุใดรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างหลักเมืองกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล อธิบายไว้ในบทความชื่อหลักเมืองกรุงเทพฯ : สัญญะศูนย์กลางแห่งพระราชอาณาจักรบนแผ่นดินพระจอมเกล้าฯในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนพฤษภาคม 2567 

ภาพที่ 14 แสดงเทวดา (สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4) ประดิษฐานใต้หัวเม็ดทรงมัณฑ์ เสาหลักเมืองกรุงเทพฯ (ภาพจากหนังสือจดหมายเหตุการปรับปรุงศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2325-2529)

สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล อธิบายถึงหลักเมืองกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 ว่า

“…การตั้งเสาหลักเมืองให้เป็นหมุดหมายแรกทางฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี โดยเชื่อมแกนเมืองมาจากพระบรมธาตุของ

Advertisement

วัดบางหว้าใหญ่ทางฝั่งตะวันตก เพื่อให้ที่ตั้งกลางเมืองใหม่อยู่ในตำแหน่งศีรษะปถพีที่มีความสัมพันธ์กับไตรภูมิโลกวินิจฉัย ซึ่งมีนัยโลกใหม่ (ราชธานีแห่งใหม่) และมีฐานะเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งแรกหลังจากปราบดาภิเษก…”

โดยหลักเมืองกรุงเทพฯ ดังกล่าว ยังมีความสัมพันธ์กับสถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ เช่น วังหลวง, วังหน้า, ทุ่งพระเมรุ ฯลฯ ถึงรัชกาลที่ 4 ขอบเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ มีขนาดเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของเมืองที่ผ่านช่วงเวลามากว่า 70 ปี

โคนเสาส่วนรากของหลักเมืองรัชกาลที่ 4 ซึ่งอยู่ใต้ดิน ในการซ่อมแซมใหญ่ พ.ศ. 2525 ด้านล่างมีแผ่นศิลารองใต้เสา (ภาพจากหนังสือจดหมายเหตุการปรับปรุงศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2325-2529)

หลักเมืองกรุงเทพฯ เดิมที่ใช้งานมานานชำรุด นอกจากบูรณะหลักเมืองกรุงเทพฯ ต้นเก่า รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างหลักเมืองกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นอีกต้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น บริบทของบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่เมืองกรุงเทพฯ ขยายเพิ่มขึ้น, สถานการณ์ของบ้านเมือง, สภาพสังคม ฯลฯ ประกอบกับพระองค์ทรงมีความรู้และเข้าใจโหราศาสตร์

Advertisement

นอกจากนี้ สมัยรัชกาลที่ 4 “โลกทรรศน์ของสังคมโลกได้รับอิทธิพลทางแนวคิดสัจนิยมจากชาติตะวันตก พระองค์จึงได้ทรงบูรณาการองค์ความรู้แนวคิดสมัยใหม่ร่วมกับคติ ความเชื่อในด้านความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นคติความเชื่อ เดิมเข้าไว้ด้วยกัน 

จึงทำให้ หลักเมืองกรุงเทพฯ ที่สร้างขึ้นในคราวนี้ มีบทบาทของหลักเมืองเปลี่ยนไปจากเดิม

หลักเมืองกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 4 ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่หมุดหมายในการเป็นหลักชัยตามสภาวการณ์สำคัญสุดของเมืองในสมัยนั้น แต่ยังเป็นที่เคารพสักการะในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีเทวดา (ประจำเมือง) ที่จะช่วยปกป้อง คุ้มภัย ซึ่งเป็นผลให้เกิดธรรมเนียมนิยมการสร้างหลักเมืองในจังหวัดต่างๆ ของไทยจำนวนมาก 

ภาพที่ 1 แสดงองค์ประกอบของเสาหลักเมืองและพระหลักเมือง สมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจากหนังสือจดหมายเหตุการปรับปรุงศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2325-2529)

ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของหลักเมืองกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 4 เรื่องนัยของการใช้ไม้สักและไม้ชัยพฤกษ์ทำเสาหลักเมือง โดยใช้ไม้สักเป็นแกนกลางของเสาหลักเมือง ไม้ชัยพฤกษ์ 6 แผ่นประกับ การเลือกใช้ไม้ดังกล่าวสร้างเสาหลักเมืองมีสัญญะทางด้านคติและความศักดิ์สิทธิ์ โดยสัมพันธ์กับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น 

ไม้สักที่ใช้เป็นไม้แกนของเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ พจนานุกรม (..120) และพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2493 ให้ความหมายของคำว่าสักสรุปได้ว่า เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง เนื้อไม้แข็งและคงทน ปลวกไม่กิน เหมาะแก่การสร้างบ้านเรือนและเครื่องใช้ ส่วนคำว่าสักกะหมายถึง อาจ, อำนาจพระอินทร์ หรือวงศ์กษัตริย์, เชื้อสายของพระพุทธเจ้า

สวรรค์ยังอธิบายว่า จากคำอธิบายข้างต้น ความหมายของสักที่อาจมาจากสักกะคือพระอินทร์ ในฐานะเทวดาสูงสุด จึงสัมพันธ์กับกรุงรัตนโกสินทร์ในฐานะเมืองของพระอินทร์ และชื่อเต็มของกรุงเทพฯ ที่รัชกาลที่ 4 ทรงปรับปรุงขึ้นใหม่ว่า

กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์

ส่วนไม้ชัยพฤกษ์ทั้ง 6 แผ่น ที่ใช้ประกับโดยรอบแกนของไม้สัก นอกจากชื่อที่เป็นมงคลแล้ว ยังสื่อถึงกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองศูนย์กลางของรัฐ กับหัวเมืองประเทศราชที่มีความสำคัญ ได้แก่ ล้านนา เวียงจันทน์ หลวงพระบาง จำปาสัก กัมพูชา มลายู ฯลฯ

ขณะที่เสาหลักเมืองกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างโดยใช้ไม้ชัยพฤกษ์เป็นแกนเสาหลักเมือง และใช้ไม้แก่นจันทน์มาประกับโดยรอบ ที่แฝงความหมายการเป็นหมุดหมายหลักเมือง เป็นหลักของราชธานีแห่งชัยชนะ 

ทว่า การสร้างเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ 4 ยังมีเรื่องราวของ ภูมิสถานของศาลหลักเมือง, เทพประจำเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ, พระราชพิธีการตั้งหลักเมืองกรุงเทพฯ ฯลฯ ที่ทุกอย่างนี้มีคำอธิบายเหตุผลไว้พร้อม ซึ่งสวรรค์ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนพฤษภาคมนี้

วิภา จิรภาไพศาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image