ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : นโยบายสาธารณะ คิดวิเคราะห์ก่อนหาเสียง

ข่าวที่ฮอตที่สุดในตอนนี้ก็คือ ข่าวที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยลุกขึ้นมา “ประกาศสงคราม” (ขอยืมคำพูดจากนักข่าวอาวุโส) โดยหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า

“พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมากที่สุด หากไม่เป็นแกนนำรัฐบาลผสมคงยากที่ปัญหาหมักหมมจะแก้ไขได้ กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สูงขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมเข้าใจและร่วมมือ ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานนี้ได้”

อ่านแล้วก็รู้สึกสับสนนิดหน่อย เพราะคำกล่าวข้างบนนี้ น่าจะตรงกับวิพากษ์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทยมากกว่า เพราะแบงก์ชาติไม่มีหน้าที่ที่จะไปลดเพดานหนี้สาธารณะ เพดานหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นก็เพราะดิจิทัลวอลเล็ตนี่แหละ เนื่องจากจะต้องไปเพิ่มงบประมาณให้โดยเฉพาะหรือไม่ก็ต้องไปดึงเงินส่วนอื่นมาก่อน แล้วต้องกู้เงินมาเป็นงบประมาณเพื่อโปะคืนในภายหลัง อีกทั้งดิจิทัลวอลเล็ตนั้นเป็นนโยบายที่จะเป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นนโยบายที่เปรียบเสมือนลงทุนในวัสดุสิ้นเปลือง ใช้แล้วมีผลครั้งเดียวหมดไป ไม่ใช่การพัฒนาเครื่องจักรหรือทักษะคนซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มซ้ำๆ ได้อีก การใช้งบประมาณมหาศาลแบบใช้แล้วหมดไปนี้แทนที่จะใช้ปรับโครงสร้างจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ส่วนที่ท่านหัวหน้าพรรคกล่าวว่าปัญหาของประเทศเป็นปัญหาที่หมักหมมซับซ้อนก็เป็นเรื่องจริง แต่พรรคของท่านใช้วิธีการแก้ไขที่ง่ายและเก่าแก่ที่สุดคือแจกเงิน การสัญญาว่าจะจ่ายเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทให้ทุกคนก็เหมือนกับการเอาบ่อนพนันขึ้นมาไว้บนดิน เปลี่ยนชื่อบ่อนเป็น Entertainment complex โดยใช้คำว่าดิจิทัลกับคำว่าวอลเล็ตเปลี่ยนขวดใหม่ให้เหล้าเก่า ซึ่งถ้าทำแอพพลิเคชั่นดิจิทัลการเงินใหม่จริงก็คงจะได้เงินนี้กันปีหน้า (ถ้าไม่ผิดกฎหมาย) แต่เห็นท่านหัวหน้าพรรคพูดไปก็อ่านโพยไป ก็เลยคิดว่าท่านไม่ได้พูดเองคิดเอง คราวหน้าควรต้องเปลี่ยนผู้เขียนโพยใหม่ เพราะทำให้นโยบายดีๆ ที่พรรคกำลังทำอยู่ เช่น 30 บาทรักษาได้ทุกที่ กลายเป็นรอง เพราะนโยบายที่มีปัญหามาแย่งซีนไป

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าก่อนจะมีนโยบายสาธารณะ พรรคการเมืองควรทำวิจัยเสียก่อนเสนอผู้นำ วันนี้ก็เลยถือโอกาสที่จะมาพูดเรื่องนโยบายสาธารณะสักเล็กน้อย

Advertisement

นโยบายสาธารณะเป็นเครื่องมือที่นักการเมืองใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม นักการเมืองในที่นี้ก็รวมตั้งแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา นักการเมืองที่ทำหน้าที่บริหาร เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี บุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้กำหนดนโยบายขึ้นมาแล้วสร้างเป็นกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ แผนปฏิบัติการ วิธีการ และแนวทางในการขับเคลื่อนในทิศทางที่สร้างความเจริญ ความมั่งคั่ง ความสงบสุข และความยั่งยืนในยุคหลัง

นักพรรคการเมืองมักจะใช้นโยบายสาธารณะหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง ตัวอย่างที่ดีก็ได้แก่ ผู้ว่าฯชัชชาติ ที่ประกาศนโยบายถึง 200 นโยบาย ตอนหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในการเมืองระดับชาติใน อดีตพรรคไทยรักไทยก็เป็นพรรคแรกที่ใช้นโยบายในการหาเสียง ซึ่งในตอนนั้นใช้ 30 บาทรักษาทุกโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ได้ใช้กระบวนการคิด วิจัย และทดลองทำมาแล้ว

นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคิดและวิจัยก่อนที่จะประกาศหรือใช้หาเสียงเพราะเหตุผลหลายประการคือ หนึ่ง การวิจัยจะทำให้ทราบถึงขนาดและความรุนแรงของปัญหาตลอดจนทรัพยากรที่ต้องใช้แก้ไข ซึ่งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนั้นประกาศไปก่อนว่าทุกคนจะต้องได้ ในที่สุดก็พบว่าเกินกำลังงบประมาณมาก และมีคนจำนวนมากที่ไม่จำเป็นต้องได้เงิน 10,000 บาทนี้ แต่เพราะไม่ได้มีการคิดวิเคราะห์อย่างดีไว้ก่อน จึงต้องมาหาทางลงอย่างทุลักทุเล สอง การวิจัยสาธารณะช่วยตรวจสอบความเป็นไปได้ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ กฎหมาย สังคม และการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย หากการทำดิจิทัลวอลเล็ตต้องการให้ถึงประชาชนผู้ยากไร้และผู้มีรายได้ต่ำ แต่ต้องใช้จ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟน หรือผ่านแอพพลิเคชั่นที่ยุ่งยาก กลุ่มเป้าหมายที่เราอยากช่วยมากที่สุดอาจจะต้องหลุดออกจากวงจรไป การวิจัยนโยบายสาธารณะยังจะช่วยระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อหาวิธีป้องกันและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ สาม นโยบายสาธารณะมีค่าเสียโอกาสและอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นลบ ค่าเสียโอกาสหมายถึงโอกาสที่จะใช้เงินจำนวนเดียวกันนี้ไปในการทำนโยบายอื่นๆ ซึ่งก็จะมีผลกระทบที่เป็นบวกเช่นกัน ก็จะต้องนำมาเปรียบเทียบกันว่านโยบายสาธารณะด้านไหนมีผลกระทบเป็นบวกมากกว่ากัน

Advertisement

น โยบายสาธารณะอาจจะมีผลกระทบเป็นลบ หากดึงงบประมาณที่ต้องใช้มาจากกิจกรรมอื่น เช่น การศึกษา การรักษาสิ่งแวดล้อม การเพิ่มทักษะให้กับกลุ่มคนเปราะบาง นโยบายสาธารณะในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะมีผลกระทบเชิงลบในระยะยาวทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคม ที่เห็นชัดเจนก็คือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่มวันหยุดและสนับสนุนการท่องเที่ยวด้วยโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้คนไทยอาจจะลดการออม ใช้จ่ายเกินฐานะ รวมทั้งขี้เกียจมากขึ้น

การแจกเงินฟรีๆ จะทำให้ประชาชนเคยตัว แทนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของตัวเองเพื่อเพิ่มรายได้กลับรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเหมือนข้าวรอฝน ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สิงคโปร์ ในช่วงโควิดซึ่งประชาชนตกงาน รัฐบาลก็ยังบอกว่าจะไม่มีวันแจกเงินฟรีๆ ผู้ได้รับเงินจะต้องทำงานให้รัฐ สมัยก่อนเรามีเงินผันในยุคของนายกฯคึกฤทธิ์ แต่คนที่ได้รับเงินก็ต้องไปทำงานไม่ใช่ได้เงินไปฟรีๆ

นโยบายที่ล้มเหลวจะนำไปสู่รัฐที่ล้มเหลว ดังนั้น นโยบายที่ยังไม่ได้ทำก็ควรช่วยกันคิดให้รอบคอบ ร่วมกันคิดร่วมกันทำ อย่ายึดการเมืองเป็นที่ตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรคควรตั้งใจศึกษาการสร้างนโยบายสาธารณะแบบคิดเป็น ทำได้ ไม่ใช่คิดเองเออเองค่ะ

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image