ยกโมเดล ‘ตำรวจญี่ปุ่น’ ปฏิรูปตำรวจไทย เลิกกระจุก กระจายอำนาจสู่ชุมชน ตัดการเมือง ได้ใจประชาชน

"โคบัง" ป้อมตำรวจชุมนุมในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ห้องประชุมวรรณไวทยากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การปฏิรูปตำรวจตามวาระแห่งชาติ ในหัวข้อ การกระจายอำนาจกับการปฏิรูปกิจการตำรวจของประเทศญี่ปุ่น โดย มีนายวสันต์ เหลืองประภัสร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล จากสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต และนายเคสุเกะ โฮซากะ ผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เข้าร่วม

นายวสันต์ กล่าวว่า ตำรวจของประเทศญี่ปุ่นเป็นตำรวจที่มีภาพลักษณ์ดีและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม โดยญี่ปุ่นปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่เมื่อปี 1952 ครั้งนั้นมีการปรับโครงสร้างตำรวจออกเป็น 2 ระดับ คือ 1.หน่วยงานตำรวจระดับชาติ มีหน้าที่หลักคือการกำหนดนโยบาย สร้างระบบ จัดระเบียบ นำเสนอกฎหมาย  จัดงบฯอุดหนุนให้หน่วยงานตำรวจระดับจังหวัด 2. ตำรวจระดับจังหวัด มีหน้าที่หลักคือการสืบสวนสอบสวน ดูแลความเรียบร้อยปลอดภัย งานจราจร

“ในส่วนของประเทศไทยการมีโครงสร้างแบบรวมศูนย์ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ ดังนั้น การกระจายอำนาจที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนภายนอกและประชาชนมีส่วนร่วมจึงน่าจะเป็นทางออกปัญหาได้”ผู้อำนวยการสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นายเคสุเกะ โฮซากะ ผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวถึงรูปแบบตำรวจญี่ปุ่นว่า จะมีลักษณะเป็นตำรวจท้องถิ่น ดูแลกันเอง 47 จังหวัด โดยปกครองในลักษณะของกองบัญชาการระดับจังหวัด ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำหน้าที่ควบคุมดูแลอีกทางหนึ่ง หน้าที่โดยหลักตำรวจภูธรระดับจังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดรวมถึงการสืบสวนสอบสวน ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไม่สามารถเข้ามาก้าวก่ายการดำเนินคดีหรือเข้าไปดูแลการสอบสวนคดีได้ ยกเว้นเป็นคดีใหญ่หรือมีภัยพิบัติขนาดใหญ่ โดยตำรวจญี่ปุ่นจะไม่แยกระหว่างการสืบสวนกับสอบสวน  ขณะที่ความสัมพันธ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่นและรัฐบาล นายกรัฐมนตรีจะไม่มีอำนาจสั่งการโดยตรง เพราะจะมีคณะกรรมการด้านความปลอดภัยสาธารณะคอยกำกับดูแลอีกทางหนึ่ง เช่นเดียวกับกองบัญชาการตำรวจภูธรระดับจังหวัดก็จะมีคณะกรรมการดังกล่าวในระดับจังหวัดเป็นผู้ดูแล ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่มีอำนาจสั่งการได้เช่นกัน วิธีนี้ทำให้หน่วยงานปลอดจากการเมือง

นายเคสุเกะ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการปฏิรูปญี่ปุ่นมีแนวคิดเน้นการกระจายอำนาจและเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งในช่วงแรกการกระจายอำนาจก็มีปัญหาจากการที่มีตำรวจประจำเมืองนับพันแห่ง ทำให้กำลังพลไม่เพียงพอจัดการอาชญากรรมขนาดใหญ่ แม้ญี่ปุ่นจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศปลอดภัยอันดับต้น แต่ 15-20 ปีที่ผ่านมาเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ความปลอดภัยลดต่ำลง ได้รับเสียงวิจารณ์ว่าไม่สามารถเป็นที่คาดหวังของประชาชนได้ แต่ก็พยายามปรับปรุง

Advertisement
“จุดแข็งของตำรวจญี่ปุ่นที่เห็นได้ชัดคือความร่วมมือกับชุมชน แม้เป็นคดีเล็กน้อยก็จะไม่เห็นความล่าช้า ขณะที่เงินเดือนตำรวจซึ่งกำลังพลมากว่าร้อยละ 70 จบจากมหาวิทยาลัย หากเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าได้รับเงินเดือนมากกว่าข้าราชการระดับเดียวกันประมาณร้อยละ 10 จึงมีคุณภาพชีวิตค่อนข้างดี ทำให้มีความระมัดระวังทำงาน โดยเฉพาะการจับกุมที่ญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ระวังการจับกุมมากกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะหากไม่ถูกสั่งฟ้องจะถือเป็นความผิดพลาดของตำรวจ ดังนั้น ตำรวจจึงทำงานโดยยึดหลักฐานที่เป็นรูปธรรม หากไม่มั่นใจจะไม่ทำการจับกุมเด็ดขาด” นายเคสุเกะกล่าว

นายเคสุเกะ ยังชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างตำรวจไทยกับญี่ปุ่น ว่า ตามที่ให้แนวคิดว่าตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ตำรวจญี่ปุ่นจะทำงานอยู่ในจังหวัดเดียวจนเกษียณอายุราชการ ไม่มีการโยกย้ายออกจากพื้นที่ ในส่วนของการคอร์รัปชั่นแม้จะมีน้อยแต่ก็ยังมีอยู่ ญี่ปุ่นมีกำลังพลประมาณ 290,000 นาย ในจำนวนนี้ยอมรับว่าต้องมีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่ก็ต้องมีการควบคุม ซึ่งการตั้งด่านในญี่ปุ่นหากพบว่าจะมีการมอบเงินให้เป็นการแลกเปลี่ยน ตำรวจจะทำการจับกุมทันที

ด้าน พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวถึงข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดข้อหนึ่งคือตำรวจญี่ปุ่นมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชน มีความอ่อนน้อม ต่างจากไทยที่มักถูกร้องเรียนเรื่องพฤติกรรม ในการผลักดันปฏิรูปหลายครั้งเคยมีการพูดถึงการปรับเงินเดือน เพราะถือว่าตำรวจทำงานบนความเสี่ยงแต่กลับได้เงินเดือนเหมือนข้าราชการอื่น เช่น สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยเสนอให้พนักงานสอบสวนได้รับเงินเดือนเหมือนกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)และอัยการ แต่ก็ไม่สำเร็จ

Advertisement

พล.ต.อ.วสิษฐ์ กล่าวว่า อีกประเด็นสำคัญที่เป็นอุปสรรคให้การปฏิรูปไม่สำเร็จคือการทอนอำนาจจากส่วนกลาง โดยเฉพาะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แม้จะยอมรับกันมานานว่าอำนาจที่กระจุกตัวในส่วนกลางทำให้เกิดปัญหา เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายให้พ้นจากตำแหน่งได้ มุมหนึ่งอาจมองเป็นความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้คนไม่กล้าทำผิด แต่ลึก ๆ แล้วอาจมองได้ว่านี่คือความไม่เป็นธรรม เพราะยังไม่ผ่านการสอบสวนว่ามีมูลหรือไม่ กลับใช้อำนาจโยกย้ายข้ามจังหวัดได้ ซึ่งทุกคนล้วนมีครอบครัว การย้ายแต่ละครั้งจึงต้องย้ายไปทั้งครอบครัว ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการกระจายอำนาจอีกข้อหนึ่ง

ขณะที่ พ.ต.ท. กฤษณพงค์ กล่าวว่า จากการศึกษาและพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องสะท้อนให้เห็นว่าการปฏิรูปตำรวจควรต้องเกิดขึ้น เพราะแนวโน้มอาชญากรรมโลกในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนไป อาชญากรรมโลกออนไลน์จะเพิ่มขึ้นและน่ากลัวมากขึ้นโดยมาคู่กับการก่อการร้าย ดังนั้น ตำรวจต้องมีประสิทธิภาพให้มากขึ้น

นายวสันต์ กล่าวสรุปว่า ประเทศไทยมีปัญหาเยอะแต่ปัญหาและความขัดแย้งแก้ไขด้วยปัญญา กิจการตำรวจญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกิจการตำรวจค่อนข้างเป็นที่ยอมรับเชื่อถือ วันนี้นำประสบการณ์ของญี่ปุ่นและมาเทียบเคียงกับประสบการณ์ของไทย ประโยชน์นำมาปรับใช้กับการปฎิรูปตำรวจไทย คิดว่าจุดตั้งต้นที่ต้องคิดทบทวนคือเรื่องการมองเชิงโครงสร้างตำรวจไทย มองว่าปัญหาหลักโครงสร้างไทยถือรวมศูนย์อำนาจมากจนเกินไป ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่นๆที่ตามมาเพราะฉะนั้นจุดตั้งต้นจากการเรียนรู้วันนี้คือ กระจายอำนวจควรเป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถละทิ้งได้ นอกเหนือเรื่องการปลูกฝังจริยธรรม และเรื่องอื่นๆ
“จากประสบการณ์ของญี่ปุ่นทำให้เห็นว่า การกระจายอำนาจในที่นี่ ไม่ได้หมายถึงเอาตำรวจไปอยู่ในกำมือนักการเมืองท้องถิ่น ย้ายจากนักการเมืองระดับชาติไปอยู่ในมือของนายก อบจ.หรือนายกเทศมนตรี มันไม่ใช่แต่มันคือการปรับโครงสร้างให้มีการลดทอนสภาพการกระจุกตัวรวมศูนย์ให้ตำรวจพื้นที่นั้น สามารถมีบทบาทดำเนินงานได้ ตอบสนองพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าตำรวจญี่ปุ่นจะอยู่ภายใต้องค์กรปกครองท้องถิ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้บริหารท้องถิ่นสามารถสั่งตำรวจได้ตามอำเภอใจ จะมีคณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อยของจังหวัดกำกับดูแล นอกเหนือจากมาตรฐานจริยธรรมต่างๆเข้ากับตำรวจทั่วประเทศอยู่แล้วซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก” นายวสันต์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image