สังคมผู้สูงอายุ รัฐบาลได้เตรียมรับมือแค่ไหน : โดย สมหมาย ภาษี

แฟ้มภาพ

วันนี้ใกล้วันครบเกษียณอายุของข้าราชการทั้งหลาย และพนักงานรัฐวิสาหกิจหลายแห่งในฐานะที่เคยรับราชการจนเกษียณอายุราชการมาแล้ว ก็อดคิดถึงบรรยากาศตอนนั้น และรวมถึงจิตใจของผู้ที่จะเกษียณอายุทุกคน ยิ่งคนที่ทำงานมาด้วยความสุจริตและขยันหมั่นเพียร คงคิดอะไรต่อมิอะไรมากมาย คิดถึงเวลาแห่งความสุข คิดถึงเจ้านายหรือลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน คิดถึงโอกาสต่างๆ ของตนที่ผ่านมา เคยได้ดีอย่างไร เคยผิดหวังอย่างไร สารพัดสารพัน คนที่ทำใจได้ ก็ดีไป คนที่ทำใจไม่ได้ ก็จะเกิดอาการซึมเศร้า ความแก่เฒ่าก็จะมาเยือนเร็วขึ้น

ดังนั้น วันนี้จึงใคร่เขียนถึงเรื่องของสังคมผู้สูงอายุสักหน่อย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ได้มีการพูดถึงโดยผู้รู้และผู้ที่เป็นห่วงมานานหลายปีพอควร ซึ่งตอนนี้ตัวเลขผู้สูงอายุของสังคมได้เพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วงมาก กล่าวคือ ในปี 2558 ประชากรไทยมีจำนวน 65.1 ล้านคน เป็นประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน หรือร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด

สาเหตุของการมีผู้สูงอายุในสังคมไทยมากขึ้น มาจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประเทศชาติมีการปรับปรุงด้านการแพทย์ดีขึ้น ทำให้อัตราการตายของคนลดลง และที่สำคัญเพราะในระยะหลังอัตราการเกิดของประชากรไทยลดลงไปมากด้วย หากดูการพยากรณ์ทางวิชาการจากเอกสารประมวลสถิติด้านสังคมฉบับที่ 1/2558 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเชื่อว่ามีความแม่นยำมากแน่ จากเอกสารดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในช่วงสังคมสูงวัย (aged society) ดัชนีเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 90 แต่ในอีก 4 ปีข้างหน้าในปี 2564 ปีสุดท้ายของแผ่นพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ประเทศไทยจะตกอยู่ในระยะที่เป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (completed aged society) คือจะมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชาชนทั้งหมด ดัชนีเฉลี่ยจะอยู่ที่ 130 ซึ่งดัชนีตัวนี้ก็คือตัวเทียบระหว่างประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ คืออายุ 60 ปีขึ้นไป กับประชากรกลุ่มวัยเด็ก คืออายุต่ำกว่า 15 ปี กล่าวคือ ถ้าประชากรสองกลุ่มนี้มีเท่าๆ กัน ดัชนีจะเป็น 100

ดังนั้น ปัจจุบันนี้เราจึงมีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่ากลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งปัจจุบันปี 2560 ตามสถิติประชากรผู้สูงวัยของไทยมีอยู่ประมาณ 11.5 ล้านคน เทียบกับประชากรทั่วประเทศ 65.3 ล้านคน แต่ในอีก 4 ปีข้างหน้า คือภายในปี 2564 ประชากรผู้สูงวัยของไทยจะมีทั้งสิ้นถึง 15 ล้านคน

Advertisement

ขณะนี้ประชากรผู้สูงวัยของไทยอยู่ในอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ แต่ถ้าดูทั้งเอเชีย ไทยยังอยู่อันดับ 4 รองจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งสูงสุด เรียกว่าสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) โดยตัวดัชนีปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 250 ซึ่งแปลว่าญี่ปุ่นมีประชากรสูงวัยมากเป็น 2.5 เท่า ของประชากรวัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี)

หลายท่านอาจจะบอกว่า แล้วไง ไม่รู้หรือว่าญี่ปุ่นประเทศเขาแข็งแรงและยังคงเติบโตอยู่อย่างสบาย ซึ่งถูกต้องนะครับ แต่ทราบหรือไม่ว่าประเทศเขาแก้ปัญหานี้มาตั้งแต่ตัวเลขดัชนียังไม่ถึง 100 เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีความเจริญแล้วผู้สูงวัยก็เจริญเติบโตตามไปด้วยแต่ที่เขายังดีอยู่เพราะเขารู้ปัญหา รู้วิธีแก้ปัญหา และได้เข้ามาแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น

มาดูประเทศไทยเรามั่ง กี่รัฐบาลมาแล้ว ใครสนใจทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง ที่จริงไม่ใช่ไม่มีคนสนใจ มีครับ เช่น คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ทั้งนี้ มีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ออกมาดูแลเรื่องนี้อยู่ด้วย ในทางการเมือง ก็มีคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสในทุกสมัย วุฒิสภาส่วนใหญ่ก็ทำงานด้านการศึกษา เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งจัดทำเอกสารเผยแพร่ข้อมูล แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมให้เห็นจริงๆ นั้นมีน้อยมาก

Advertisement

ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ประเทศไทยมี “แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564)” ครอบคลุมระยะ 20 ปี ตอนนี้ยังใช้อยู่ นี่เป็นฉบับที่ 2 นะครับ เมื่อพลิกไปดูรายละเอียดจะรู้สึกว่าแผนนี้ถ้าเป็นคน หนังคงเหี่ยวย่นเดินเหินไปไหนไม่ได้แล้ว สงสัยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่คณะรัฐบาล คสช.จัดทำขึ้น คงได้แนวคิดจากแผนผู้สูงอายุแห่งชาตินี้เอง

ในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564) ซึ่งเวลานี้ได้ใช้แผนมา 16 ปีแล้วเหลือเวลาอีก 4 ปีก็จะหมดวาระ แผนฉบับนี้มีบทที่เป็นหัวใจ หรือ highlights อยู่ 2 บท คือ บทที่ 4 ว่าด้วยยุทธศาสตร์ มาตรการ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ดัชนี และเป้าหมายดัชนีรวมของยุทธศาสตร์ มี 5 ยุทธศาสตร์ 5 หน้า อีกบทหนึ่งคือบทที่ 5 ว่าด้วยข้อจำกัด เงื่อนไขจำเป็น และการดำเนินการตามแผน มี 2 หัวข้อ 1 หน้า นี่แหละหน้าตาของแผนผู้สูงวัยแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ที่ยังใช้อยู่ทุกวันนี้

ถ้าเทียบกับสภาพของผู้สูงอายุโดยทั่วไป มีคนเขาเคยให้คำที่บ่งบอกถึงสมรรถนะของผู้สูงอายุของไทยไว้ว่า ช่วงอายุ 60-70 ปี ถือว่าเป็นช่วงห้าว ช่วงอายุ 71-76 ปี ถือว่าเป็นช่วงหด และช่วง 79 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็นช่วงเหี่ยว แล้วแผนฉบับนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นับอยู่ในช่วงไหนครับ ห้าว หด หรือเหี่ยว

ลองมาดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็วๆ นี้ กันบ้าง ว่าได้ให้ความสนใจเรื่องผู้สูงอายุของคนไทย ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของชาติในขณะนี้อย่างไรบ้าง จากการสำรวจดูในแผนพัฒนา ฉบับสดๆ ร้อนๆ นี้ ที่มีความหนา 215 หน้า พบว่ามีการพูดถึงตัวเลขสถิติของผู้สูงอายุ กล่าวคือในปี 2559 ไทยมีผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 16.90 หรือคิดเป็นจำนวน 11 ล้านคนของประชากร 65.3 ล้านคน และคาดว่าเมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนา ฉบับที่ 12 ในปี 2564 สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 19.8 หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 13 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลทำให้ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง นอกจากนั้น ก็จะก่อให้เกิดปัญหาการจัดสวัสดิการต่างๆ ส่งผลต่อรายได้และเงินออมและจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก แต่รัฐบาลไทยจัดสรรงบประมาณด้านนี้น้อยมาก สรุปแล้วผู้สูงอายุในปัจจุบันได้รับการดูแลจากรัฐบาลน้อยลง

นอกจากการบรรยายถึงปัญหาเพียงสั้นๆ ไม่ครบถ้วนในหน้า 39 และ 41 แล้วแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้พูดถึงแนวทางการพัฒนาในเรื่องนี้ ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างเสริมและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ไว้ในหัวข้อ 3.2.4 หน้า 69 การพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้สูงอายุวัยต้นให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่ม ได้พูดถึง 3 ข้อ ยาว 6 บรรทัด และในหัวข้อ 3.6 หน้า 71 การพัฒนาระบบการดูแลและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับสังคมผู้สูงวัย ได้พูดถึง 4 ข้อ ยาว 10 บรรทัด

สรุปรวมแล้วแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้ให้เนื้อที่กล่าวถึงผู้สูงอายุทั้งหมดเพียง 4 จุด รวมแล้วเพียง 2 หน้า บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาฯ ที่มีทั้งหมด 215 หน้า เห็นอย่างนี้แล้ว ให้อดคิดไม่ได้ว่าสภาพัฒน์สมัยนี้ยังทำงานเป็นสมองและเป็นตัวคิดแนวทางการพัฒนา เพื่อชี้นำรัฐบาล หรือว่าเป็นหน่วยงานที่ทำแค่ประทับตราเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล

คราวนี้ลองมาส่องกล้องดูหน่วยงานผู้ปฏิบัติและเป็นผู้ที่ควรจะเป็นตัวเอกในการกำกับ ดูแลและประสานงาน ในด้านที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งประเทศ คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงนี้ในปีงบประมาณ 2561 นี้ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ทั้งสิ้น 13,906 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 ของงบประมาณทั้งสิ้น 2,900,000 ล้านบาท เทียบกับงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้รับ 222,437 ล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 6.25 ของงบป้องกันประเทศ

เพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น งบที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้รับ เป็นงบที่ใกล้เคียงกับงบซื้อเรือดำน้ำ 1 ลำ จากประเทศจีนที่เซ็นสัญญาเร็วๆ นี้ ราคา 12,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง แค่นี้เห็นภาพชัดว่า รัฐบาลสนใจและให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุ เด็ก เยาวชน และสตรีของชาติ แค่จิ๊บจ๊อยขนาดไหนก็เท่ากับเรือดำน้ำจากจีน 1 ลำเท่านั้นเอง ถ้าหากว่า งดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 เอางบนั้นมาจัดทำเรื่องการฟื้นฟู การสงเคราะห์ การสร้างสถานที่บำบัดรักษาและดูแลผู้สูงอายุของประเทศเฉพาะที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ให้มากขึ้น จะได้ผลแค่ไหนลองคิดดูเถอะครับ

ปัญหาผู้สูงอายุในประเทศนี้ กล่าวได้ว่าไม่มีใครหรือหน่วยงานใดให้ความสนใจจริงมาแต่ไหนแต่ไร ถ้าลองแบ่งขนมเค้กชิ้นกลมออกเป็นสี่ส่วน สองส่วนแรกประมาณ 10% หรือ 1 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่มีเงินดูแลตัวเองทั้งจากตนเองหรือจากลูกหลาน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานครและในเมืองใหญ่ๆ ที่เจริญแล้ว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ขอนแก่น ชลบุรี เป็นต้น ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอยู่กระจายไปทั่วประเทศ

ดังนั้น 10% ของผู้สูงอายุเหล่านี้ ให้เอกชนเขาลงทุนช่วยเหลือเอง ซึ่งขณะนี้ก็มีบ้างแล้วที่ลงทุนสร้างเป็นสถานที่ดูแลเป็นรายวัน รายสัปดาห์ เป็นลักษณะ day care และทำเป็นสถานดูแลบำบัดครบวงจร หรือที่เรียกว่า Nursing Home จากมาตรฐานธรรมดาไปจนถึงระดับที่ดีมาก ดังเช่นในประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำกัน ผู้สูงอายุส่วน 10% นี้ ยังขาดอยู่แต่เพียงการส่งเสริมจากภาครัฐเท่านั้น ถ้าสนใจเสียหน่อยก็ผลักดันให้ทำเป็นมูลนิธิให้มากขึ้นใครจะทำแบบมีกำไรก็ลดภาษีเงินได้ลงในอัตราที่มากหน่อย หรือจะทำโปรแกรมส่งเสริมการลงทุนแบบพิเศษขึ้นมา มาตรการเช่นนี้คิดออกมาได้ทั้งนั้นแหละ อย่าคิดจะแต่จะสร้างบ้านขายเขาอย่างเดียวคำถามจะมีว่าช่วยผู้สูงอายุ หรือช่วยบริษัททำอสังหาริมทรัพย์กันแน่

สำหรับเค้กอีกสองส่วนใหญ่ประมาณ 90% ของผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีจำนวนทั้งหมดขณะนี้ประมาณ 10 ล้านคน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยากจน มีรายได้รักษาตัวรอวันตายไปวันๆ หนึ่ง หรือแทบจะไม่มีเงินซื้ออาหารเลย ผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะใช้แต่นโยบายแจกเงินไปคนละเล็กน้อยตามวิธีขี้เกียจคิดของทางการมันไม่ได้ผลครับ ผู้สูงอายุชุดนี้สามารถแบ่งออกได้ชัดเจนเป็นสองประเภท คือประเภทที่ยังค่อนข้างแข็งแรงเดินเหินได้ สมองยังทำงาน มีโรคภัยไข้เจ็บบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ของผู้สูงอายุ กลุ่มนี้ขาดแต่ว่า ไม่มีใครดูแลให้เขาพอมีงานทำบ้าง ไม่มีใครดูแล โดยเฉพาะในชนบทให้เขาได้รวมกลุ่ม พบเพื่อนพับกระดาษใบตอง หรือทำอะไรในชุมชน ในวัด ในโรงเรียน ในสถานที่ต่างๆ ในชุมชนที่พึงมี ดูแลเขาให้มีเพื่อนฝูงมีกิจกรรมเล็กๆ อยู่ทุกวัน แค่นี้ก็ถือเป็นความสุขส่วนใหญ่แล้ว

ผู้รับผิดชอบหรือตัวช่วยมีมากมายนับตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่ดูแลชุมชน ไล่มาจนถึง ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส.เหล่านี้ช่วยได้ทั้งนั้น ขอให้รัฐบาลจัดบูรณาการให้เป็นรูปธรรมเถอะครับ

ทีนี้ก็มาถึงส่วนที่สองชิ้นสุดท้ายของเค้กก้อนใหญ่ 90% คิดว่าคงมีจำนวนเพียง 2-3 ล้านคน ในจำนวนผู้สูงอายุของประเทศ 11 ล้านคน คือผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลและการบำบัดรักษาโดยใกล้ชิด ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ต้องการสถานสงเคราะห์ที่มีอุปกรณ์ เครื่องมือ และบุคลากร รวมทั้งเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลพร้อม ผู้เขียนจำได้ว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระองค์ท่านได้เสด็จฯไปทอดพระเนตรสถานดูแลบำบัดผู้สูงอายุแบบนี้ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อประมาณวันที่ 25-26 สิงหาคมนี้เอง รัฐบาลควรส่งคนไปศึกษาเพื่อนำมาเป็นต้นแบบได้เลย ที่จริงการหาแพทย์และพยาบาลคงไม่ยาก เพียงจัดหลักสูตรและกำหนดเงื่อนไขให้นักศึกษาแพทย์และพยาบาลทุกแห่งต้องฝึกงานก่อนได้ปริญญา โดยต้องมาอยู่ดูแลผู้สูงอายุคนละ 4 เดือน ปีหนึ่งก็จะได้ 3 ชุด ก็คงจะพอ

ที่สำคัญเรื่องโครงการดูแลและบำบัดรักษาผู้สุงอายุกลุ่มนี้ รัฐต้องจัดงบประมาณมาช่วยเป็นหลัก และต้องจัดแผนงานที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวงให้บูรณาการอย่างดี เพราะต้องทำให้ทั่วถึงทุกภาคของประเทศ โปรดอย่าบอกว่าไม่มีงบประมาณนะครับ

เลิกสั่งเรือดำน้ำจากจีนอีก 2 ลำที่อยู่ในแผนก็จะมีงบสำหรับทำโครงการ 8 ปี จำนวน 2 ลำเป็นเงินถึง 24,000 ล้านบาท บวกค่าบำรุงรักษาอีกเช่นปีละ 300 ล้านต่อลำหรือ 600 ล้านต่อ 2 ลำ 8 ปี ก็จะได้อีก 4,800 ล้านบาท รวมแล้วจะมีงบเพื่อพัฒนาโครงการดูแลบำบัดรักษาผู้สูงอายุที่ต้องดูแลจริงๆ ใน 8 ปีข้างหน้าถึงร่วม 30,000 ล้านบาท รัฐบาล คสช.ที่รัฐมนตรีส่วนใหญ่สูงวัยกันทั้งนั้น จะทำได้ไหมครับ จะได้เชียร์กันให้สุดใจเสียที

สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image