ต้นปี 2018 สถานีอวกาศเทียนกง-1žจะตกกลับมายังโลก : คอลัมน์ ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์

มีข่าวร้ายกับข่าวดีจะเล่าให้ฟัง

เทียนกง ในภาษาจีนแปลว่า วังบนสวรรค์ชั้นฟ้าที่อยู่ของเหล่าเทพ ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อสถานีอวกาศของประเทศจีนว่า สถานีอวกาศเทียนกง-1 (Tiangong-1) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปลายเดือนกันยายน ค.ศ.2011 ถูกใช้ในภารกิจอวกาศและการทดลองต่างๆ เคยเชื่อมต่อกับยานอวกาศอื่นๆ 3 ลำ ได้แก่ ยานเฉินโจว-8 (ไร้มนุษย์) ยานเฉินโจว-9 (มีลูกเรือ) และ เฉินโจว-10 (มีลูกเรือ)

ข่าวร้ายคือ ในช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ.2016 สถานีอวกาศเทียนกง-1 เกิดความขัดข้อง ทำให้มันมีโอกาสตกสู่โลกในช่วงปลายเดือนมกราคม ค.ศ.2018 (อาจเร็วหรือช้ากว่านั้นหนึ่งเดือน) ตามการคำนวณของเหล่านักวิจัยใน บริษัทแอโรสเปซ (The Aerospace Corporation) โดยจุดตกของสถานีอวกาศเทียนกง-1 น่าจะอยู่ระหว่างละติจูดที่ 43 องศาเหนือ และ 43 องศาใต้ (แน่นอนว่าประเทศไทยที่อยู่ระหว่างละติจูดดังกล่าวเพราะยะลาอยู่ที่ละติจูด 6.5 องศาเหนือ ส่วนเชียงรายอยู่ที่ละติจูดราวๆ 20 องศาเหนือ)

โฮลเกอร์ คราก (Holger Krag) หัวหน้าทีมการจับตาขยะอวกาศจาก องค์การอวกาศยุโรป (ESA) กล่าวว่า จริงๆ ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเทียนกง-1 จะตกที่จุดใดระหว่างละติจูดดังกล่าวกันแน่ รวมถึงวัน,เวลาที่จะตกด้วย

Advertisement

ข่าวดีคือ ขณะสถานีอวกาศตกกลับลงสู่โลก มันอาจเกิดการหมุนควงสว่านช้าๆ (Slow roll) โดยจะไม่หมุนแบบตีลังกา (Tumbling) และชิ้นส่วนน่าจะหลุดออกมาบางส่วน ซึ่งนับเป็นเรื่องดีเพราะหากหมุนตีลังกาจะทำให้ชิ้นส่วนของสถานีอวกาศหลุดออกจากกันมากขึ้น อีกทั้งเราไม่ต้องเป็นกังวลนักเพราะโอกาสที่เศษชิ้นส่วนที่หลุดออกมาจะไปตกลงบนบ้านเรือนหรือชนกับมนุษย์เข้านั้นมีน้อยมากๆ

แต่ถ้าพบเห็นเศษชิ้นส่วนที่ตกมาแล้วควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปใกล้ สัมผัส หรือสูดดม เนื่องจากอาจมีสารพิษหรือสารกัดกร่อนที่เป็นอันตรายหลงเหลือจากการตก เช่น สารไฮดราซีน (Hydrazine) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้

ข่าวดีสุดท้ายจริงๆ องค์การอวกาศยุโรปแถลงว่ามีโอกาสที่ห้องทดลองภายในตัวสถานีอาจอยู่รอดปลอดภัย แม้สถานีอวกาศจะตกลงสู่พื้นโลก เนื่องจากความคงทนของวัสดุที่ใช้ในการสร้างและขนาดมหึมาของเทียนกง-1

Advertisement

ที่น่าสนใจและอาจจะฟังดูฮาคือ นานาชาติมีการจัดกิจกรรมจับตามองสถานีอวกาศเทียนกง-1 ตกกลับมายังโลก โดย IADC (the Inter-Agency Space Debris Coordination Committee) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก 13 องค์กร ได้แก่ นาซา, องค์การอวกาศยุโรป (ESA), European national space agencies รวมถึงหน่วยงานอวกาศจากญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย จีน และเกาหลีใต้ ทั้งหมดนี้นำโดย ESA

การจับมองครั้งนี้ไม่ได้ทำเล่นๆ แต่ทำเพื่อช่วยกันเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เรดาร์ แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งเพิ่มอัตราความแม่นยำในการคำนวณเวลาและจุดตกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image