“เอสเอ็มอีแบงก์”ส่งสุขปีใหม่ทุ่ม 7 หมื่นล้านอุ้มรายย่อย

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยในปี 2561 นี้ ธนาคารเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเป็นของขวัญปีใหม่ 2 ด้าน คือ 1.มาตรการด้านการเงิน ผ่านแพ็กเกจสินเชื่อ วงเงินรวมกว่า 70,000 ล้านบาท และ 2. มาตรการช่วยเหลือและยกระดับผู้ประกอบการ ซึ่งการช่วยเหลือทั้งสองด้านจะลงลึกถึงเศรษฐกิจท้องถิ่นฐานรากทั่วประเทศ

นายมงคลกล่าวว่า สำหรับมาตรการด้านการเงิน ธนาคารจัดเป็นแพ็กเกจสินเชื่อวงเงินรวม 70,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท 3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 3%ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียม 4 ปีแรก เมื่อใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน พิเศษกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนเพียงวันละ 460 บาทเท่านั้น 2.โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับ SMEs คนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท มุ่งสนับสนุน SMEs กลุ่มนิติบุคคล ที่ประสบปัญหาด้านการเงิน เข้าถึงแหล่งทุนยาก เงินทุนไม่พอ รวมถึง ต้องการเริ่มต้นธุรกิจหรือเปลี่ยนแปลงธุรกิจ สามารถยื่นกู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และ 3. สินเชื่อ Factoring วงเงิน 12,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยมีโปรโมชั่น 7:1:0 โดย 7 ตัวแรกคือ พร้อมอนุมัติสินเชื่อภายใน 7วัน , 1 คือ เบิกจ่ายภายใน 1 วัน และ 0 คือ ฟรีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บหนี้การค้า

นายมงคล กล่าวว่า  แพคเกจสินเชื่อดังกล่าว สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่เห็นชอบอนุมัติวงเงิน 245,000 ล้านบาท เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2561 มอบให้แก่ผู้ประกอบการผ่าน 5 โครงการ นอกจาก 3 โครงการสินเชื่อข้างต้นแล้ว ยังประกอบด้วย โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2) วงเงิน 20,000 ล้านบาท และ โครงการสินเชื่อ SMEs ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) วงเงินรวม 165,000 ล้านบาท

นายมงคล กล่าวว่า ส่วนมาตรการช่วยเหลือและยกระดับผู้ประกอบการ ในปี 2561 โดยจะยกระดับความสามารถองค์กรด้วยการเพิ่มบุคลากร และพัฒนาระดับ Digital Banking และที่สำคัญ ให้บริการหน่วยรถเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ภายใต้ชื่อโครงการ “รถม้าเติมทุน เสริมสร้าง SMEs ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น” ซึ่งภายในปีนี้ (2561) จะ ทยอยออกให้บริการรวมทั้งสิ้น 1,000 คัน โดยจะเป็นบริการครบวงจร ทั้งด้านการเงิน และช่วยเหลือทางธุรกิจต่างๆ ซึ่งจากมาตรการช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและด้านยกระดับความสามารถ จะช่วยเพิ่มรายได้แก่ SMEs ทั่วประเทศ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่เน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและเติบโตจากเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) อย่างยั่งยืน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image