บึงกาฬเร่งผลิตหมอนเข้าจำหน่ายในงานวันยางพาราพร้อมต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากสถาบันวิจัยยางศรีลังกา

เมื่อวันที่ 7 มกราคม เวลา 10.00 น. นายนิพนธ์ คนขยัน นายกฯอบจ.บึงกาฬ ในฐานะที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ให้การต้อนรับ น.ส.รัชนี รัตนวงศ์ นักวิชาการเกษตร 7 ว. พร้อมคณะจากศูนย์วิจัยยางหนองคาย ที่นำคณะเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยยางศรีลังกา นำโดยนายมันจุลา อัลวิส ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสวน วิชาณี อูดายันกา ผู้เชี่ยวชาญด้านดินและปุ๋ย นางอินดู เธนนากูน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช นางชิราณี ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียาง เข้าศึกษาดูงาน ขั้นตอนการผลิตหมอนยางพารา ภายในโรงงานผลิตหมอนยางพารา ของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด ในพื้นที่บ้านตาลเดี่ยว ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างการยางแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยยางศรีลังกา ในด้านวิชาการยาง และการเผยแพร่เทคโนโลยีอุตสาหกรรมยาง

นายนิพนธ์ กล่าวกับคณะศึกษาดูงานว่า เป็นโอกาสที่ดีที่สถาบันวิจัยยางศรีลังกา ให้ความสนใจเข้ามาศึกษาดูงานโรงงานหมอนยางพารา ถือว่าได้พบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ โดยเฉพาะจะได้ร่วมกันเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และจะได้ช่วยกันพัฒนากลไกและเทคโนโลยียางพารา ให้เกษตรกรที่ปลูกยางในทั่วโลกได้ราคาขายที่ดี ซึ่งการผลิตหมอนยางพารา ของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ แห่งนี้เป็นของเกษตรกรเองที่รวมกลุ่มกันมีสมาชิกประมาณ 5,000 คน หลังก่อเกิดรายได้ก็จะนำไปแบ่งให้กับกลุ่มเกษตรกรโดยตรง หวังว่าโอกาสหน้าโรงงานแห่งนี้จะได้ต้อนรับคณะจากศรีลังกาอีก จากนั้นนายนิพนธ์ ได้มอบผลิตภัณฑ์หมอนจากยางพาราให้กับคณะศึกษาดูงานเป็นของฝาก

ต่อมานายนิพนธ์ คนขยัน นายกฯอบจ.บึงกาฬ ในฐานะที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ได้ให้สัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้สื่อข่าวว่า ปัจจุบันชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัดมีสมาชิกอยู่ 5 พันกว่าครอบครัวซึ่งเป็นของพี่น้องคนบึงกาฬเป็นเจ้าของสวนยางโดยตรง ซึ่งขณะนี้ชาวสวนยางที่มีอยู่ในจังหวัดบึงกาฬก็ราวๆ 6 หมื่นครอบครัวและในอนาคตข้างข้างหน้าก็คิดว่าทุกครอบครัวก็คงจะเข้ามาร่วมขบวนการเพื่อขับเคลื่อนเรื่องยางพาราของพี่น้องจังหวัดบึงกาฬให้มีรายได้มากขึ้น โดยในวันนี้เราได้ผลิตหมอนได้ 100 % ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้วหลังจากที่ผ่านมาล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ซึ่งทางสหกรณ์มีกำลังผลิตต่อวันก็ประมาณ 2 – 300 ใบ/วัน สำหรับแบบหมอนนั้นมี 2 รูปแบบคือแบบเหลี่ยมและแบบโค้ง ซึ่งจริงๆแบบหมอนมีมากถึง 20 แบบแต่สหกรณ์เริ่มผลิต 2 แบบก่อน ซึ่งเป็นแบบที่ผู้บริโภคและท้องตลาดต้องการและได้รับความนิยมมาก ขนาดน้ำหนักของหมอนจะอยู่ที่ 1.5 กก./ใบ ซึ่งก็สามารถสั่งได้ว่าจะเอาขนาดเท่าใดน้ำหนักเท่าใด ขึ้นอยู่กับลูกค้าที่ต้องการความนุ่ม โดยในวันนี้ทางโรงงานหมอนเริ่มทำสต๊อกไว้ได้กว่า 5,000 ใบแล้วและก็จะเร่งผลิตหมอนให้ทันงานยางพาราของจังหวัดบึงกาฬที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 17 – 23 ม.ค.นี้ให้ครบ 10,000 ใบเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าที่ลงนามเอ็มโอยูกับชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นบริษัทส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวที่จะนำไปขายให้กับชาวต่างชาติที่มาประเทศไทย

โดยเฉพาะประเทศจีนที่ชื่นชอบหมอนจากยางพารามาก และตอนนี้มีออเดอร์มาจากประเทศเวียดนามแล้วจำนวน 300 ใบเพื่อจะนำไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าที่เมืองโฮจิมินต์ เป็นการเปิดตลาดที่เวียดนามและต่อไปยังประเทศจีน
และในห้วงที่จัดงานวันยางพาราและกาชาดจังหวัดบึงกาฬ ประจำปี 2561 นี้ท่านพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ก็ได้พูดคุยกันว่าไหนๆก็จัดงานวันยางพารา โรงงานหมอนก็ผลิตได้แล้วขายราคาถูกได้ไหมถือว่าเป็นราคาโปรโมชั่น ราคาต้นทุนไม่ต้องเอากำไรมาก นิดๆหน่อยๆพอให้ไม่ขาดทุน เพื่อเป็นการคืนความสุขให้กับคนที่มาเที่ยวงานวันยางพารา โดยทางโรงงานจะนำหมอนยางพารามาจำหน่าย 10,000 ใบขายในราคาใบละ 360 บาทเท่านั้นใส่ปลอกในให้เรียบร้อยทุกคนที่มาเที่ยวงานยางสามารถซื้อหนอนยางพาราได้ทุกคนและราคา 360 บาทจำนวน 10,000 ใบเท่านั้น และหลังจากวันยางพาราก็จะให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั้ง 617 หมู่บ้านของจังหวัดบึงกาฬ ไปประชาสัมพันธ์ให้กับลูกบ้านทราบว่าโรงงานหมอนจะจำหน่ายหมอนยางพาราให้กับชาวบึงกาฬ ใบละ 399 บาท/ 1 ใบเพื่อเป็นการคืนความสุขให้ชาวบึงกาฬในฐานะที่เราเป็นคนปลูกยาง เป็นชาวบึงกาฬและเป็นเจ้าของสวนยางด้วย

Advertisement

ก็ขอเรียนว่าอย่างนี้ครับว่าโรงงานหมอนยางพาราแห่งนี้เป็นของพี่น้องคนบึงกาฬและถือว่าคนในประเทศมีหุ้นส่วน ทำไมถึงว่ามีหุ้นส่วน ก็เพราะรัฐบาลให้เงินทุนมาสนับสนุนจำนวน 193 ล้านบาทดังนั้นคนไทยถือว่ามีส่วนร่วม สำหรับพี่น้องประชาชนคนไทยทั่วประเทศที่ต้องการจะนำไปใช้เองหรือใช้ภายในครัวเรือนให้ลูก ให้หลานได้หนุนนอนก็จะขายในราคาใบละ 400 บาทเท่านั้น สำหรับท่านที่ต้องการจะซื้อหมอนหรือจะเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือจะนำไปขายต่อก็สามารถติดต่อมาได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 098-0198178 เบอร์เดียวเท่านั้นและมีระบบขนส่งรองรับสามารถส่งหมอนให้ท่านได้ถึงประตูบ้าน

สุดท้ายต้องขอเอ่ยนาม อ.ณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง ที่ให้ความรู้ว่ายางพารานั้นสามารถแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น เอามาทำถนนลาดยางก็ได้ และ ดร.จาง เหยิน ประธานกรรมการของ บริษัทรับเบอร์วัลเลย์ ซึ่งเป็นคนที่มางานยางพาราทุกปี มาเห็นเกษตรกรชาวบึงกาฬว่าปลูกยางเอง กรีดยางเอง แทนที่จะได้เงินเพิ่มยางก็ดันลดราคา เขาก็บอกว่าต้องเพิ่มมูลค่า และอีกท่านที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่อย่างท่านพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ซึ่งก็ถือว่าท่านเป็นคนบึงกาฬ มาช่วยขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเรื่องยางพารา เชื่อว่าหากรัฐบาลเอาตามแนวคิด 3 ท่านที่เอ่ยนามมา “เพิ่มมูลค่า” ยกตัวอย่างหมอนใบหนึ่งใช้น้ำยางข้น 2.5 กก.มันก็เพิ่มมูลค่ามาเป็นร้อย ถ้านำไปทำถนนลาดยางอีกก็เป็นการระบายยาง

ซึ่งผมเองก็ได้นำเสนอ รมว.มหาดไทย ว่าต้องแก้เรื่องยางเพิ่มเติมด้วยการต่อยอด ซึ่งทางจังหวัดได้ขอรับงบประมาณปี 62 ของกลุ่มภาคอีสาน 200 ล้านบาท เอามาต่อยอดทำยางแผ่นรมควันเอามาทำสนามยาง ขอดตะกร้อ ขอดวอลเล่บอล ซึ่งท้องถิ่นต่างๆจะได้นำไปใช้ให้กับสนามกีฬาต่างๆ ราคาถูกด้วยสนามละไม่เกิน 150,000 บาท และยังมีอีกหลายอย่าง เช่น มุมเด็กเล่น ของเล่นต่างๆ ในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก หรือจะเป็นหมอนที่นอนสำหรับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลทั่วประเทศแม้กระทั่งหมอนที่นอน ในค่ายทหาร หมอนรองคอ ล้อจักรยาน ยางในจักรยาน ล้อจักรยานยนต์ แท่งแบริเออร์ กรวยจราจร ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าและเป็นการระบายยางได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยมันก็ได้พัฒนาเพิ่มมูลค่ายางพารา ท้ายที่สุดเมื่อเราระบายยางมากๆ สุดท้ายยางก็ไม่พอใช้มันก็จำเป็นต้องได้ซื้อยางในราคาที่แพงขึ้น ราคาก็จะขยับขึ้นตาม นายนิพนธ์กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image