แบงก์ชาติไฟเขียว! แบงก์ทำอีมาร์เก็ตเพลสดึงเอสเอ็มอีขึ้นออนไลน์ เล็งใช้ข้อมูลซื้อ-ขายปล่อยกู้

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างพิจารณาอนุญาตให้บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (อีมาร์เก็ตเพลซ แพลตฟอร์ม) ให้สถาบันการเงิร 6 ราย เป็นสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารพาณิชย์ 5 ราย และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร(นอนแบงก์) 1 ราย โดยส่วนใหญ่จะเปิดบริการมาร์เก็ตเพลซผ่านโมบายแบงก์กิ้งที่ให้บริการอยู่ ซึ่งกระบวนการอนุญาตใช้เวลา 30 วันนับตั้งแต่ยื่นขออนุญาต คาดว่าจะเริ่มเห็นการเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้ ส่วนการคิดค่าธรรมเนียมในการนำสินค้าขึ้นมาวางขายบนแพลตฟอร์ม ธปท. ไม่ได้กำหนดขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจของแต่ละสถาบันการเงิน รวมทั้งการแข่งขันในตลาด อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินที่มีการใช้บริการอีมาร์เก็ตเพลซ จะต้องมีการรายงานข้อมูล ปริมาณและมูลค่าธุรกรรมซื้อขาย ข้อร้องเรียนในการใช้บริการของลูกค้า รวมทั้งแนวทางในการแก้ไขปัญหา ทุกๆ ไตรมาส

“การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลซ แพลตฟอร์ม เพื่อรองรับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์สามารถนำสินค้ามาวางขายบนแพลตฟอร์มเป็นการเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ ซึ่งสินค้าต้องไม่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม ทั้งนี้ธนาคารสามารถนำข้อมูลธุรกรรมการซื้อขายที่เกิดขึ้นมาใช้เป็นข้อมูลในการปล่อยสินเชื่อ (Information Base Lending) ได้ ทำให้ธุรกิจนาดกลางขนาดย่อมและลูกค้ารายย่อยเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นด้วย” นางสาวสิริธิดา กล่าว

นางสาวสิริธิดา กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์(เอ็ตด้า) พบว่า คนไทยใช้สมาร์ทโฟนในการค้นหาข้อมูลและเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ และจ่ายชำระเงินเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2560 จะมีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 10% จากปี 2559 ที่ 2.5 ล้านล้านบาท และพบว่าประชาชนหันมาใช้การชำระเงินออนไลน์ผ่านโมบายแบงก์กิ้งมากขึ้น โดยปี 2560 ที่ผ่านมาสัดส่วนการใช้โมบายแบงก์กิ้งอยู่ที่ 59% อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งอยู่ที่ 41% ซึ่งเมื่อปี 255 สัดส่วนการใช้โมบายแบงก์กิ้งอยู่ที่ 38% อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งอยู่ที่ 62%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image