แบงก์ชาติเผยเอ็นพีแอลพีคแล้ว ลุ้นสินเชื่อปีนี้โต6-8% มองกำไรส่อลดต่อ

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวโน้มหนี้ที่ไม่เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวม ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ที่อยู่ที่ 2.97% ลดลงมาอยู่ที่ 2.91% ในช่วงไตรมาส4 ปี 2560 โดยมีมูลค่า 4.29 แสนล้านบาท สำหรับปี 2561 นี้ คาดว่าเอ็นพีแอลจะทรงตัวและมีแนวโน้มปรับลดลงได้บ้าง เพราะเอ็นพีแอลสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ลดลง อย่างไรก็ตามต้องติดตามสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันปล่อยสินเชื่อของธพ. ในกลุ่มรายได้น้อย และเศรษฐกิจที่ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นเร็ว ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นไม่ทันกับรายจ่าย แต่เมื่อสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีปรับดีขึ้น น่าจะส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อที่อยู่ดีขึ้น เพราะส่วนหนึ่งมีการใช้ที่อยู่อาศัยในการทำธุรกิจ

นางสาวดารณี กล่าวว่า การเติบโตสินเชื่อธนาคารพาณิชย์(ธพ.) ปีนี้ ประเมินว่าจะเติบโต 6-8% สูงกว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปีนี้ที่ 4% โดยสินเชื่อเติบโตต่อเนื่องจากปี 2560 ที่ผ่านมาที่เติบโต 4.4% ยอดคงค้างอยู่ที่ 12.4 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 2559 ที่มียอดคงค้าง 11.9 ล้านล้านบาท ซึ่งสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ทรงตัว เพราะมีช่องทางการระดมทุนหลายช่องทางทั้งตลาดหุ้นหรือตราสารหนี้ ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโตดีขึ้นจากกลุ่มธุรกิจการเงิน อังหาริมทรัพย์และพาณิชย์ การส่งออกและท่องเที่ยว ขณะที่สินเชื่ออุปโภค ขยายตัวดีจากสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต รวมทั้งที่อยู่อาศัย

นางสาวดารณี กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานของธพ. ปีนี้มีแนวโน้มที่กำไรสุทธิของธพ. จะลดลงต่อจากช่วงที่ผ่านมา โดยปี 2560 กำไรสุทธิของธพ. รวมอยู่ที่ 1.87 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2559 ที่ 1.99 ล้านบาท ผลจากการตั้งสำรองหนี้เสียและสำรองเพิ่มรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่(IFRS9) ขณะที่ปี 2556 และ 2557 กำไรสุทธิของธพ. อยู่ที่ 2.04 และ 2.14 แสนล้านบาท ตามลำดับ โดยที่ผ่านมาธพ. ได้มีการบริหารโดยลดต้นทุนเงินฝาก ส่วนด้านรายได้ รายได้จากดอกเบี้ยคิดเป็น 70% ซึ่งยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียม 30% อาจจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เพราะจำนวนนี้สัดส่วนกว่า 12% มาจากธุรกรรมการโอน ซึ่งลูกค้าเปลี่ยนมาใช้บริการพร้อมเพย์มากขึ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 15-16% ของธุรกรรมรายย่อยทั้งหมดและแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกสร้างแรงกดดันต่อรายได้ของธพ. ราว 3.6% ของรายได้รวม

“ธุรกิจธพ.แข่งขันสูงและต้องหารายได้เพิ่มเพื่อรักษากำไร ทำให้เห็นการปรับตัวของธพ. โดยะปท. ได้อนุญาตให้ พ.หรอือบรัทลุกสามารถทำอีมาร์เก็ตเพลซได้ ซึ่งจะช่วยให้ธพ. สามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ร่วมกับพาร์ทเนอร์ธุรกิจอีคอมเมิร์ช ทั้งนี้ ล่าสุด ธปท. ได้เตรียมออกหลักเกณฑ์ให้ธพ.สามารถมีตัวแทนให้บริการทางการเงิน หรือแบงกิ้งเอเจนส์ อย่าง ร้านเซเว่นอิเลฟเว่น ก็สามารถเป็นแบงก์กิ้งเอเจ้นท์ได้ ซึ่งผู้ว่าการฯ ได้เซ็นเอกสารไปแล้ว คาดว่าจะออกมาเร็ว ๆ นี้ จะช่วยธพ.ลดต้นทุนการขยายสาขา เพราะสาขาธนาคารมีต้นทุนการดำเนินงานสูงและปัจจุบันลุกค้าเปลี่ยนไปใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำธุรกรรมมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมา ธพ. มีการเปิดสาขาใหม่รวม 100 สาขา ปิดสาขารวม 300 สาขา ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีการปิดสาขาอีก ส่วนการเปิดจะเน้นการเปิดบริการบนห้างสรรพสินค้า” นางสาวดารณี กล่าว

Advertisement

นางสาวดารณี กล่าวด้วยว่า ธุรกิจ ธพ. ไทยมีความแข็งแกร่งโดยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสิ้น 2.45 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรและการเพิ่มทุน มีสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง 180% ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.2% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ อยู่ที่ 15.6%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image