นรกหรือคือ (พ่อแม่) คนอื่น โดย : กล้า สมุทวณิช

ในวงการพ่อแม่ที่มีลูกวัยเรียน มักจะมีเรื่องเล่าลือที่เหมือนจะเกินจริงอยู่มากมาย เช่นเรื่องที่เด็กบางคนถูกฝึกให้พูดภาษาต่างประเทศได้ถึงสามสี่ภาษาก่อนอายุสี่ขวบ หรือเด็กที่ท่องตารางธาตุหรือทำแบบฝึกหัดแคลลูลัสก่อนชั้นประถม

ก่อนหน้านี้มันเป็นเรื่องเล่าขานตำนานปาก แต่หากในยุคของโซเชียลมีเดีย หลักฐานชนิดเป็นหนังสือหรือพยานวัตถุที่ยืนยันตำนานเหล่านั้นปรากฏขึ้นจริงมากมาย หลายครั้งที่ภาพและโพสต์เหล่านั้นหลุดกระจายออกมาในสังคมวงกว้างให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กัน

เช่น “ดราม่า” เบาๆ เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน จากโพสต์ของครอบครัวหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการ “เตรียม” ลูกๆ ของเขาเข้าโรงเรียนสาธิตชื่อดังถูกแชร์ออกมา เนื่องจากคุณพ่อไปเขียนเรื่องราวเล่าประสบการณ์ของตัวเอง (พร้อมภาพถ่ายลูกๆ ที่เห็นหน้าชัดเจน และเปิดค่าการเข้าถึงเป็นสาธารณะ) ลงในกลุ่มสนทนาแบบเปิด สำหรับให้ผู้ปกครองที่อยากเตรียมลูกเข้าโรงเรียนสาธิตได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

“ประสบการณ์” ของคุณพ่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปในหมู่ผู้คนในเครือข่ายสังคมอยู่ราวสองวัน เนื่องจากความ “สุดโต่ง” ของวัตรปฏิบัติในการเตรียมตัวลูกดังกล่าว เช่น การจัดตารางเวลาในการเรียนพิเศษและทบทวนบทเรียนอย่างแน่นหนาที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ส่วนกิจกรรมอื่นไม่ว่าจะเป็นการกินนอนพักผ่อนนั้น ล้วนแต่มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ในการสอบทั้งทางตรงทางอ้อมทั้งสิ้น

Advertisement

ผู้คนทั่วไปที่ได้อ่าน “ประสบการณ์” ดังกล่าวนั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกขนลุกขนพอง ด้วยเอาใจของตัวเองไปจำลองในสถานการณ์โดยสมมุติว่าตนเป็นลูกบ้านนั้น ก็เกิดความรู้สึกสงสารเด็ก พร้อมคำถามว่า ที่พ่อแม่ต้องทำ “ขนาดนั้น” เพื่อประโยชน์อันใด และเป็น “ความสุข” ของลูกจริงหรือไม่

บางคนอาจจะตัดสินไปก่อนแล้วว่า ที่พ่อแม่ทำการ “อัดวิชา” ให้ลูกอย่างแน่นหนาขนาดนั้น เป็นเพราะพ่อแม่ต้องการที่จะใช้ลูกเป็นเครื่องมือสำแดงความสำเร็จ เพื่อเป็นหน้าเป็นตาของตัวเอง คล้ายดังการขุนเลี้ยงสัตว์น้อยๆ ที่น่าสงสารมาประกวดประชันกัน

หากใครเล่าจะรู้เหตุผลและเจตนารมณ์ของพ่อแม่ทุกบ้านได้ (ซึ่งพ่อแม่ดังที่เขาติฉินกันอย่างนั้นก็คงมีจริงๆ) แต่ “เหตุผล” ในด้านอื่นก็ยังมีอยู่

Advertisement

ข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับในเบื้องต้น คือ มีโรงเรียน “ชื่อดัง” ที่พ่อแม่ส่วนมากอยากให้ลูกของตนได้เข้ารับการศึกษา และหลักการธรรมดาที่สอดคล้องกับกฎแห่งเศรษฐศาสตร์ คือ ยิ่งโรงเรียน
“ชื่อดัง” เท่าไร ความต้องการในการที่ผู้คนจะส่งบุตรหลานเข้าเรียนนั้นก็มีมากกว่าจำนวนนักเรียนที่โรงเรียนนั้นจะรับได้ เช่นนี้ก็ต้องมีนักเรียน หรือพูดให้ถูกคือครอบครัวที่จะต้องผิดหวังจำนวนมากกว่า

กรณีของโรงเรียนทั้งรัฐหรือเอกชนหลายแห่ง หลังจากหักสัดส่วนที่นั่งของบุตรหลานของบุคลากรครูอาจารย์ทั้งของโรงเรียนและของมหาวิทยาลัยที่โรงเรียนนั้นสังกัดแล้ว ก็จะเหลือที่นั่งสำหรับ “ผู้มีอุปการคุณ” ต่อโรงเรียน และถัดมาจึงจะเป็นพื้นที่ให้ดิ้นรนฝ่าฟันกันด้วยวิธีการ “สอบคัดเลือก” (หรืออาจจะผสมการจับสลากเข้ามาบ้าง)

ทางเลือกของผู้ปกครองที่อยากให้บุตรหลานของตัวเองได้เรียนในโรงเรียนมีชื่อ จึงมีสามสายทางหลัก คือผ่านเส้นทางสายสิทธิของบุคลากรด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เส้นทางต่อมา เหมาะกับผู้ที่เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาของชีวิต ที่จะเข้าไปเสนอขอเป็น “ผู้มีอุปการคุณ” ต่อโรงเรียนด้วยสนนราคาหลักแสนปลายถึงหลายล้านบาท ก็เป็นอันรับประกันที่นั่งให้บุตรหลานของตนได้แน่นอน

ส่วนคนที่ไม่อาจใช้เส้นทางสองสายข้างต้นได้ ก็ยังมีเส้นทางที่พอจะยุติธรรมอยู่เท่าที่เป็นไปได้ คือ การลงสู่ “สนามสอบ” ซึ่งข้อสอบก็จะยากง่ายแปรผันไปตามอุปสงค์อุปทานระหว่างผู้ประสงค์จะเข้าเรียนต่อที่นั่งที่จะรับได้อีกนั่นแหละ

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมข้อสอบของโรงเรียนดังๆ นั้น จึงยากเย็นพิสดารขึ้นไปเสียทุกที ข้อสอบเลขคัดเลือกเข้าเรียนชั้นประถมอาจจะให้เด็กที่เพิ่งจบชั้นอนุบาลมาหมาดๆ แก้สมการสองชั้นให้ได้ หรือ อ่านสรุปความภาษาอังกฤษได้สักครึ่งหน้า (มีเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนประจักษ์กับสายตาตัวเอง คือ ข้อสอบวิชาสังคมศึกษาว่าด้วยกฎหมายเบื้องต้น สำหรับสอบเข้าชั้นมัธยมสี่ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง เป็นคำถามอย่างเดียวกับที่ใช้สอบในวิชากฎหมายอาญาชั้นเนติบัณฑิตสำหรับผู้จบปริญญาตรีทางกฎหมายแล้ว)

นี่คือ “เหตุผล” ว่าทำไมผู้ปกครองที่อยากให้บุตรหลานของตนเรียนใน “โรงเรียนดีๆ” จะต้องอัดวิชาให้เด็กๆ จนแน่นพอที่จะมั่นใจได้ว่าสามารถรับมือกับข้อสอบแบบนั้นได้

และหากใครจะย้อนถาม “เหตุผล” ว่าทำไมพ่อแม่ผู้ปกครองถึงต้องอยากให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนดังๆ แล้วล่ะก็ เหตุผลสองประการ คือผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐของโรงเรียน “ชื่อดัง” นั้น อยู่ในระดับสูงเป็นสถิติเชิงประจักษ์อย่างไม่ต้องเถียงกัน แล้วทำไมถึงอยากให้บุตรหลานได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐไม่กี่แห่ง ก็ขอให้ไปถามฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทห้างร้านทั้งเอกชนและมหาชนต่างๆ เถิดว่า มีการกำหนด Tier หรือบัญชีระดับของมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนสำหรับการคัดเลือกผู้เข้ามาทำงานในตำแหน่งต่างๆ อยู่จริงหรือไม่

นอกจากนี้ ในสังคมแบบไทยๆ (หรือแม้แต่ในต่างประเทศก็ตาม) การได้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะโรงเรียนเก่าแก่ สิ่งที่จะได้แถมมานอกเหนือจากวิชาการแล้ว คือ “ความสัมพันธ์” หรือคอนเน็กชั่นต่างๆ อย่างที่เราได้เห็นกันในข่าวต่างๆ ที่มักจะกล่าวขวัญถึงข้าราชการ นักการเมือง หรือนักธุรกิจใหญ่ พร้อมแนะนำว่า เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนใดรุ่นไหน และมีเพื่อนร่วมรุ่นเป็นใครอยู่ในวงการไหนบ้าง

ดังนั้น ถ้าคุณมี “ต้นทุนทางเศรษฐกิจ” คือกิจการมั่นคงที่พร้อมให้ทายาทมารับช่วงต่อโดยมั่นใจว่าไม่จำเป็นต้องไปสมัครเป็นลูกจ้างใครที่ไหนแล้ว หรือมี “ต้นทุนทางสังคม” สูงพอที่จะไม่ต้องไป “ต่อสาย” รู้จักกับใคร ในทางกลับกันก็มีแต่คนอยากเชื่อมเข้ามาหาคุณและวงศ์วานว่านเครือแล้ว คุณก็ไม่ต้องยุ่งยากคิดเรื่องว่าจะให้ลูกเรียนประถมที่ไหน หรือต่อมหาวิทยาลัยอะไร คุณอาจจะจัดหลักสูตรโรงเรียนในบ้าน ให้เรียนพัฒนาการ ส่งเสริมให้เรียนดนตรีและกีฬา หรือส่งไปเรียนต่อโรงเรียนกินนอนในต่างประเทศแบบที่คุณผ่านการศึกษามาได้ตามใจสมัคร

แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีต้นทุนชีวิตมากมายเช่นนั้น “ทุน” เดียวที่เขาลงทุนส่งมอบให้แก่บุตรหลานได้ คือ “การศึกษา” และจากประสบการณ์ของเขา ที่เป็นไปได้ทั้งสองแบบ คืออาจจะไม่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาจนรู้สึกว่า ชีวิตเขาน่าจะไปได้ดีขึ้น หรือไปได้ไกลขึ้น หากได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดีกว่านี้ เช่นการได้เรียนในโรงเรียนชื่อดัง ต่อด้วยมหาวิทยาลัยของรัฐระดับต้นๆ หรือไม่ก็ประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง คือผู้ที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาและการใช้ชีวิต และพบว่าปัจจัยสำคัญ คือการได้ผ่านการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั้นยอดอย่างที่ได้กล่าวไป เขาย่อมเห็นว่าหนทางเดียวที่ลูกหลานของเขาจะ “อยู่สบาย” และคงสถานะในสังคมนี้ได้ต่อไป คือการเดินในเส้นทางเดียวกันกับที่เขาเดินมา

ประสบการณ์ทั้งสองแบบนี้แม้จะแตกต่าง แต่ก็ส่งผลในทางเดียวกัน คือการอัดวิชาให้ลูกเพื่อให้ผ่านเข้าสู่ประตูแรกของความสำเร็จ คือเข้าเรียนในโรงเรียนดีๆ

เพราะฝันร้ายตายตาไม่หลับสำหรับพ่อแม่ คือการจากโลกนี้ไปโดยที่ไม่แน่ใจหรือไม่ชัดเจนว่า ผู้สืบทอดรหัสชีวิตของตัวเองจะสามารถใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย หรืออย่างน้อยก็เลี้ยงชีพต่อไปได้ในโลกที่ไม่มีตนเองอยู่แล้วได้หรือไม่ เหมือนพาเขาไปไม่ถึงฝั่ง

แน่นอนว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของพ่อแม่ส่วนใหญ่ คือ “ความสุข” ของลูก ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเลี้ยงลูกในรูปแบบนี้ มองว่าเด็กควรมีความสุขอย่างเต็มที่ในช่วงชีวิตของวัยเยาว์ ใช้ชีวิตสนุกตามธรรมชาติ ได้กินนอนเต็มที่และเที่ยวเล่นตามประสา ไม่ต้องกังวลกับภาระใดๆ ก่อนวัยอันควร

หากในทรรศนะของพ่อแม่ในกลุ่มที่เคี่ยวเข็ญลูก ก็คงจะมีที่ยอมรับว่า การเลี้ยงดูด้วยความเข้มงวดทางการศึกษาเช่นนั้น คงจะทำให้ลูกต้องสละ “ความสนุก” ในวันนี้ แต่ในระยะยาว “ความสุข” ในวันหน้านั้นเป็นสิ่งที่ยั่งยืนยาวนานกว่าความสุขประสาเด็กชั่วเวลาไม่กี่ปี แต่อาจจะต้องประสบทุกข์ยากลำบากไปอีกในเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต อย่างคนที่ไม่มีทางเลือกมากนัก กับรายได้แค่พอชักหน้าถึงหลัง มีเงินเก็บน้อยนิดและหนี้สินก้อนโตให้ต้องยุ่งยากจัดการ หรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนกลุ่มที่เหนือกว่า ทั้งฐานะทางเศรษฐกิจหรือทางสังคม

การที่ลูกหลานของเขายอมสละความสุขวัยเด็กที่ไม่จีรังนี้บ้าง เพื่อแลกกับความสุขสบายจากการที่ได้ก้าวขึ้นเป็นคนอีกชั้นหนึ่งในสังคม หรือรักษาฐานะและสถานะที่พ่อแม่สร้างขึ้นมาไว้ให้แล้วด้วยการศึกษา นั้นน่าจะเป็นความคุ้มค่า เป็นความสุขระยะยาว ที่ลูกจะต้องขอบคุณทุกครั้งที่ระลึกถึงการเรียนอันโหดร้ายที่ส่งผลดีต่อเขาในวันข้างหน้า ต่อหน้าป้ายหลุมศพหรือโกศกระดูกของเราเอง

หรือแม้แต่หากเอามุมมองของเด็กที่ถูกบังคับให้เรียนเช่นนั้น ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าเด็กก็อาจจะไม่ทุกข์ทรมานหรือรู้สึกถูกลิดรอนความสุขอะไรมากมายอย่างที่เป็นห่วง มันก็มีอยู่บ้างสำหรับเด็กที่ชอบเรียนหนังสือจากใจจริง เด็กที่เสพติด “ชัยชนะ” ในการสอบหรือการทำคะแนน ที่เขาจะทุรนทุรายหากไปบังคับให้เขาวิ่งเล่นในสนามแทนที่จะได้เอาเวลาไปอ่านหนังสือทบทวนบทเรียน อาจจะฟังดูสุดโต่งและไม่น่าจะเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตในระยะยาว แต่ใครเล่าจะกล้าตัดสินว่ามันแย่กว่าการเล่นฟุตบอลหรือวิ่งเล่นหกล้มจนขาหัก

หรือก็มีเด็กที่รู้สึกว่า การตอบแทนความรักของพ่อแม่ คือการทำตามที่พ่อแม่บอกและชี้นำทุกประการ การเรียนตามตารางเวลา หรือการใช้ชีวิตตามวิถีที่พ่อแม่จัดให้นั้น คือการที่เขาได้รับความรัก และตอบแทนความรัก และนั่นทำให้เขาสนิทแนบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพ่อแม่ และนั่นคือสิ่งที่เขาต้องการที่สุดในชีวิต เราสามารถชี้นิ้วตัดสินได้หรือนั่นไม่ใช่ “ความสุข” ของเด็กคนนั้น

ในสังคมซึ่งเหลื่อมล้ำในทุกทาง ที่คนชนะก็แทบจะชนะไปเสียทุกอย่าง ส่วนคนแพ้นั้นก็สูญเสียและร่วงหล่นลงเรื่อยๆ สังคมที่คนกลุ่มหนึ่งอันเป็นกลุ่มใหญ่เสียด้วย มองไม่เห็นหนทางที่จะใช้ชีวิตได้โดยปลอดภัย
ยกระดับชีวิตหรือรักษาระดับชีวิตในทางใดได้ นอกจากใช้วุฒิการศึกษายี่ห้อดีที่สุดในท้องตลาด และสายสัมพันธ์อันเป็นของแถมนั้นพยุงตัวในทะเลแห่งการแข่งขันที่ไม่ปรานีเช่นนั้น

แม้เราจะไม่เห็นด้วย ก็อาจจะต้องทำความเข้าใจกับพวกเขา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image