คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน : กำหนดลมหายใจและเรียกสติ

เมื่อไม่นานมานี้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องเด็กเจเนอเรชั่น Z ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นล่าสุดที่เรียนจบและเริ่มเข้าสู่วงการการทำงาน ลักษณะการเลือกงานของเจน Z ที่แตกต่างจากเจน Y ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นก่อนหน้านี้อย่างชัดเจนคือ เจน Z อยากเลือกทำงานในองค์กรที่มั่นคงและพยายามจะอยู่ให้นานในระหว่างที่เจน Y คิดว่าชีวิตมีทางเลือกอีกมากจึงไม่จำเป็นต้องอดทนทำงานที่ไม่ชอบไปนานๆ ดังนั้น เจน Y จึงมักทำงานแห่งละ 2 ปีแล้วลาออกไปหางานใหม่ที่ถูกใจกว่า ลักษณะนี้ทำให้คนทำงานเจเนอเรชั่นอื่นในที่ทำงานเข้าใจผิดว่าเจน Y เป็นคนจับจด ไม่อดทนแม้กับเรื่องการปรับตัวเข้ากับงานในระหว่างที่เจน Y เองมองว่าการเปลี่ยนงานเป็นทางเลือกของชีวิตและไม่จำเป็นต้องอดทนกับเรื่องที่ไม่อยากทำ

นักศึกษาสาวคนหนึ่งเข้าเรียนในคณะทันตแพทยศาสตร์ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเธอเป็นคนเก่งมาก เธอมีเรื่องเครียดที่แตกต่างจากเพื่อนคนอื่นนั่นคือ “ไม่อยากเรียนคณะนี้แต่ต้องอดทนเรียนเพื่อแม่” ค่ะ ดังนั้น เธอจึงไม่รู้จะปรึกษาปัญหาการเรียนกับใครดีเพราะเพื่อนส่วนใหญ่อยากเรียนคณะนี้และเครียดกับการอ่านหนังสือและส่งงานมากกว่า ปรึกษาแม่ยิ่งไม่ได้ใหญ่เพราะแม่เป็นแรงกดดันหลักที่ทำให้เธอต้องอดทนเรียนต่อไป เวลาล่วงมาจนถึงปี 5 ซึ่งเป็นปีแรกที่เธอจะได้ฝึกงานกับผู้ป่วยจริงๆ เธอก็พบชัดเจนว่าไม่สามารถทำงานกับผู้ป่วยได้ แค่คุยกันยังหงุดหงิดใส่ผู้ป่วยเลย

“ฟังดูคุณมีความทุกข์อย่างมาก ถ้าเรียนต่อแล้วทำให้คุณเครียดขนาดนี้ ทำไมไม่ลาออกล่ะคะ”

“ก็มาถึงปี 5 แล้วค่ะ อีกปีเดียวก็จบ หนูรู้ว่าอดทนเรียนไปก็เรียนจบได้ แต่ทุกเช้าวันไหนที่ต้องไปเจอคนไข้หนูจะร้องไห้ตลอด รู้สึกอึดอัดไม่อยากไป แต่สุดท้ายหนูก็เอาตัวรอดไปได้ทุกวัน”

Advertisement

“มีอะไรที่ทำให้คุณยังอดทนเรียนต่อไปได้ทั้งที่มีความทุกข์ขนาดนี้”

“หนูคิดว่าทำเพื่อแม่ ถ้าหนูไม่เรียนต่อ แม่ก็คงเสียใจ”

“แต่หมอจำได้ว่าคุณบอกว่าไม่ชอบที่แม่คอยกดดันให้คุณเรียน”

Advertisement

“เรื่องนั้นหนูก็ไม่ชอบ แต่ยังไงหนูก็ต้องแคร์ความรู้สึกแม่ด้วย แม่เขากดดันหนูก็เพราะทำเพื่อหนู”

ความเครียดของเธอมีลักษณะเฉพาะซึ่งแตกต่างจากวัยรุ่นเจน Y ทั่วไปที่มักจะทุกข์เพราะไม่อยากอดทนทำสิ่งที่ไม่อยากทำ เธอทุกข์เพราะไม่ชอบแต่ต้องอดทนเพราะรู้ว่านอกจากมีหน้าที่เรียนหนังสือแล้วก็ยังมีหน้าที่เป็นลูกที่แม่ภูมิใจด้วย ดังนั้น จึงไม่มีเพื่อนวัยเดียวกันเข้าใจเธอเพราะเพื่อนมักจะบอกว่าไม่จำเป็นต้องอดทนเพื่อแม่ ให้เลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง ส่วนอาจารย์ก็จะบอกว่าเธอมีความสามารถและขอให้อดทนต่อไปอีกนิดจนเรียนจบเพื่ออนาคตที่ดี ทุกคนมุ่งอธิบายความทุกข์ของเธอว่าเกิดจากการเรียนในสาขาที่ไม่ชอบแต่เธอกลับอธิบายความทุกข์ของตัวเองว่าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเรียนเลย เธอทุกข์เพราะไม่อยากเป็นลูกที่ทำให้แม่เสียใจต่างหาก และแม่จะเสียใจถ้าเธอไม่เรียนให้จบจึงดูเผินๆ เหมือนความทุกข์เกิดจากการเรียน

ต่อให้เป็นความทุกข์ในเรื่องเดียวกันแต่มนุษย์เราก็อธิบายความทุกข์แตกต่างกันค่ะ แอนิเมชั่นน่ารักเรื่องหนึ่งสนุกตรงที่ความเครียดของคู่รักคู่นี้ไม่เหมือนคู่รักทั่วไป “Wotakoi ความรักของโอตาคุช่างยากเย็นจริงๆ” พวกเขาเป็นคู่รักโอตาคุที่บ้าการ์ตูนและเกมค่ะ “โมโมเสะ” สาวน้อยนักวาดการ์ตูนมือสมัครเล่นที่นิยมการ์ตูนแนวหนุ่มหล่อบังเอิญพบกับ “นิฟุจิ” เพื่อนชายสมัยมัธยมต้นในที่ทำงานใหม่ของเธอ ทั้งสองคนเป็นเพื่อนร่วมงานกันและตัดสินใจคบกันเป็นแฟนเมื่อมั่นใจว่าต่างคนต่างยอมรับงานอดิเรกแปลกๆ ของอีกฝ่ายได้ โมโมเสะชอบหนุ่มหล่อในการ์ตูน ส่วนนิฟุจิก็ติดเกมและเล่นเกมแทบจะตลอดเวลาที่ไม่ใช่เวลาทำงาน โมโมเสะเครียดจากการคบหานิฟุจิบ้างบางครั้งที่นิฟุจิชวนไปที่บ้านเพื่อไปเล่นเกมแทนที่จะไปทำเรื่องโรแมนติก ส่วนนิฟุจิก็เครียดจากการเป็นห่วงเมื่อโมโมเสะมีความทุกข์แต่เขาก็มารู้ทีหลังว่าเธอเครียดเพราะตัวการ์ตูนที่ชอบเสียชีวิต เป็นแอนิเมชั่นที่ดูแล้วทำให้เปิดใจกว้างยอมรับความแตกต่างของบุคคล ซึ่งนิยามความเครียดของตัวเองแตกต่างกันไปได้ดีขึ้นมากเลยค่ะ

ถ้าความเครียดมีความแตกต่างระหว่างบุคคลมากและความเครียดอาจทำให้อารมณ์ ความคิด หรือความจำเราแย่ลงเพราะมัวแต่คิดวนเวียนแต่เรื่องที่เครียด การศึกษาแบบสังเกตของคุณ Michael Melnychuk จากวิทยาลัยทรินิตี้ในไอร์แลนด์บอกเราว่า วิธีง่ายๆ ไม่ต้องเสียสตางค์แต่ช่วยให้เราตั้งสมาธิได้ดีขึ้นคือ การกำหนดลมหายใจนั่นเอง การศึกษานี้มีการเก็บข้อมูลการทำงานของนอร์อดรีนาลีนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งเมื่อมีความเครียด ผู้วิจัยพบว่าการเล่นโยคะหรือนั่งสมาธิที่มีการกำหนดลมหายใจจะควบคุมการหลั่งฮอร์โมนนี้ได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้สามารถตั้งสมาธิกับงานได้ดีขึ้น

หลังจากนี้ถ้าเครียดกังวลจนไม่มีสมาธิทำงานและยังไม่สามารถหาทางออกให้กับปัญหาได้เสียที ลองนั่งนิ่งๆ แล้วกำหนดลมหายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ วิธีนี้อาจช่วยเรียกสติให้กลับมาจดจ่อกับปัญหาตรงหน้าได้อีกครั้งแทนที่จะกังวลไปเรื่อยๆ จนเสียงานค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image