ทำไมป้องกันแชมป์ ‘พรีเมียร์ลีก’ ถึงไม่ง่าย?

การแข่งขันฟุตบอล คอมมิวนิตี้ ชีลด์ ของอังกฤษคืนนี้ คือสัญญาณเริ่มต้นก่อนศึก พรีเมียร์ลีก ฤดูกาลใหม่จะเปิดฉากในสัปดาห์หน้า

แน่นอนว่าเต็งแชมป์ยังคงเป็น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แชมป์เก่าปีที่แล้วซึ่งโชว์ฟอร์มสุดยอดทำสถิติแต้มสูงสุด 100 คะแนน ยิงประตูถล่มทลาย 106 ประตู และแพ้เพียง 2 นัดในการลงเตะ 38 นัดตลอดฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม โอกาสในการป้องกันแชมป์ลีกยอดนิยมอันดับ 1 ของโลกนั้นไม่ง่ายแม้แต่นิด จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทีมสุดท้ายที่ป้องกันแชมป์ได้ ต้องย้อนไปถึงปี 2009 ที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุค เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน

ผิดกับอีก 4 ลีกใหญ่ของยุโรปซึ่งการครองแชมป์ในช่วง 10 ปีหลัง แทบจะเรียกว่า “ผูกขาด”

Advertisement

ทั้ง บาเยิร์น มิวนิก คว้าแชมป์บุนเดสลีก้ามา 6 สมัยซ้อน

ยูเวนตุส เพิ่งชูถ้วยกัลโช่ เซเรียอา สมัยที่ 7 ติดต่อกัน

บาร์เซโลน่า อาจจะโดนทีมอื่นมาคั่นบ้าง แต่ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมาก็คว้าแชมป์ลาลีก้าได้ถึง 7 สมัย ในจำนวนนี้เป็นการคว้าแชมป์ติดๆ กันอยู่ 2 ครั้ง

Advertisement

และลีกเอิงของฝรั่งเศสก็มี ปารีส แซงต์แชร์แมง ครองแชมป์ 4 สมัยซ้อนระหว่างปี 2012-2016 ก่อนมาทวงแชมป์จาก โมนาโก คืนได้อีกครั้งในปีนี้

เหตุผลสำคัญที่ทำให้พรีเมียร์ลีกป้องกันแชมป์กันลำบาก และมีทีมที่มาตรฐานคู่คี่สูสีขนาดเบียดลุ้นแชมป์กันได้ถึง 5-6 ทีม ประการหนึ่งก็เป็นเพราะ “ความนิยม” ของตัวลีกเอง

พรีเมียร์ลีกทำสัญญาขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดให้ช่อง สกาย และ บีที สปอร์ต เมื่อปี 2015 คิดเป็นมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ถึง 5,140 ล้านปอนด์ (226,160 ล้านบาท) ทำให้ “ส่วนแบ่ง” ที่ 20 สโมสรพรีเมียร์ลีกได้รับย่อมสูงกว่าทีมในลีกอื่นๆ ของยุโรป

ทีมใหญ่ๆ ดังๆ พอพลาดแชมป์ขึ้นมาก็ต้องรีบลงทุนซื้อนักเตะใหม่ฝีเท้าดีๆ มาแก้ตัว ดังมีสถิติยืนยันว่าตั้งแต่ปี 2009 (ที่แมนฯยูป้องกันแชมป์ได้) เป็นต้นมา แชมป์ของปีถัดไปจะใช้เงินในตลาดซื้อขายมากกว่าแชมป์เก่าเสมอ

ยกเว้นอยู่ 2 ครั้งคือ ตอนปีศาจแดงคว้าแชมป์ฤดูกาล 2010-11 และตอน เลสเตอร์ ซิตี้ สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ฤดูกาล 2015-16

เหตุผลหนึ่งที่ทีมแชมป์เก่าไม่ค่อยใช้เงินมากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ไมก์ ฟีแลน อดีตผู้ช่วยของเฟอร์กี้เคยอธิบายว่า เป็นเพราะในแง่ความรู้สึก สต๊าฟโค้ชของทีมแชมป์ย่อมคิดว่านักเตะที่มีอยู่นั้นดีแล้ว เกือบทุกอย่างลงตัวแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากนั่นเอง

พอทีมแชมป์ไม่ค่อยกระตือรือร้นในตลาดซื้อขาย บางครั้งก็เคลื่อนไหวช้าไป โดนคู่แข่งตัดหน้าคว้าตัวนักเตะเก่งๆ ฝีเท้าดีๆ ไปหมด พอจะได้ใครมาก็มีแต่ตัวเลือกรองๆ ที่กุนซือไม่ค่อยแฮปปี้นัก

ตัวอย่างล่าสุดคือเมื่อฤดูกาลที่แล้วซึ่ง เชลซี แชมป์ฤดูกาล 2016-17 ใช้เงิน 186.03 ล้านปอนด์ (8,185.32 ล้านบาท) ซื้อผู้เล่นใหม่ 7 คน ในจำนวนนี้หลายคนโชว์ฟอร์มไม่เปรี้ยงเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็น ติเอมูเอ้ บากาโยโก้, ดาวิเด้ ซัปปาคอสต้า, แดนนี่ ดริงก์วอเตอร์ หรือ อัลบาโร่ โมราต้า

ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้การป้องกันแชมป์เป็นไปอย่างยากลำบาก เช่น นักเตะที่โชว์ฟอร์มได้ดีกับทีมแชมป์มักจะโดนคู่แข่งร่วมลีกหรือลีกอื่นมาดึงตัวไป บางคนพอฝ่าฟันจนถึงเป้าหมายก็ออกอาการหมดไฟและเริ่มอิ่มตัวกับความสำเร็จ

กรณีแรกเป็นปัญหาที่ต้นสังกัดต้องพยายามหว่านล้อมให้อยู่ต่อ อาจจะด้วยการเสนอสัญญาใหม่เพิ่มค่าเหนื่อย (ซึ่งต้องระวังไม่ให้ไปกระทบความรู้สึกของนักเตะคนอื่นๆ ในทีม) ส่วนกรณีหลังก็ต้องขึ้นอยู่กับโค้ชที่จะหาวิธีสร้างแรงจูงใจ หรือการมีนักเตะที่กระหายในชัยชนะมาเป็นตัวหลักในทีมกระตุ้นเพื่อนให้คว้าแชมป์กันไปยาวๆ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องโปรแกรมเตะหฤโหดของลีกอังกฤษซึ่งนอกจากเกมลีกแล้ว ยังมีบอลถ้วยทั้งทัวร์นาเมนต์ยุโรป, เอฟเอคัพ และลีกคัพ มาให้ได้ลุ้นแชมป์กัน ยิ่งเข้ารอบลึก ได้ลุ้นหลายถ้วย นักเตะก็ “กรอบ” มากขึ้นเท่านั้น เป็นอุปสรรคกับการลุ้นแชมป์ลีกเข้าไปอีก

เมื่อเปรียบเทียบกับลีกใหญ่อื่นๆ ของยุโรป มีเพียงฝรั่งเศสเท่านั้นที่ยังเตะถ้วยลีกคัพกันอยู่ ส่วนสเปน เยอรมนี และอิตาลี ถ้าไม่ยกเลิกก็ไม่มีมาตั้งแต่แรกแล้ว

สำหรับพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2018-19 ที่กำลังจะมาถึง เรือใบสีฟ้าใช้เงินช้อปนักเตะไม่หวือหวานัก ตัวหลักจริงๆ ที่คว้ามามีคนเดียวคือ ริยาด มาห์เรซ ปีกชาวแอลจีเรียที่คว้ามาจากเลสเตอร์ ซิตี้ ด้วยค่าตัวสูงเป็นประวัติศาสตร์ของสโมสร 60 ล้านปอนด์ (2,640 ล้านบาท) ขณะที่ จอร์จินโญ่ กองกลางชาวอิตาเลียน อีกหนึ่งเป้าหมาย มาโดน เชลซี ตัดหน้าไปเสียก่อน

คู่แข่งที่ช้อปเป็นล่ำเป็นสันในช่วงซัมเมอร์นี้คือ ลิเวอร์พูล ที่ลงทุนไป 171.55 ล้านปอนด์ หรือกว่า 7,500 ล้านบาทแล้วในขณะนี้ และแต่ละคนที่คว้าตัวมาก็ถือว่าน่าจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อลิสซอน เบ็คเกอร์ นายทวารมือ 1 ทีมชาติบราซิล, เชอร์ดาน ชากิรี่ ปีกทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ และ ฟาบินโญ่ แบ๊กขวาหรือกองกลางตัวรับชาวบราซิเลียน

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยแมนฯซิตี้สร้างมาตรฐานการเล่นไว้สูงมากเมื่อฤดูกาลที่แล้ว โดยโกยแต้มทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างแมนฯยูไนเต็ดถึง 19 คะแนน แม้จะนำมาเป็นบรรทัดฐานสำหรับฤดูกาลใหม่ได้ไม่ชัดเจนนัก แต่อย่างน้อยก็พอยืนยันได้ว่ายังมี “ช่องว่าง” ที่ค่อนข้างห่างระหว่างทีมของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กับคู่แข่งในกลุ่ม “บิ๊ก 6” ทีมอื่นๆ อยู่

ส่วนที่ว่าแมนฯซิตี้จะเป็นทีมแรกในรอบ 10 ปีที่ป้องกันแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จหรือไม่นั้น รอดูผลงานช่วง 4-5 นัดแรก คงพอเห็นภาพกว้างๆ ของแต่ละทีมไม่มากก็น้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image