นิวส์รูมวิเคราะห์ : คุมค่ายา-บริการรักษาในรพ.เอกชน พลิกแพลงอย่างไรไม่โดนด่า?

ได้รับเสียงเชียร์สนั่น ได้ใจสุดๆเมื่อ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกแรงเองในการเดินหน้าดูแลความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน แล้วเจอภาวะค่าใช้จ่ายสูงในทุกๆด้านทั้งค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่ารักษาทางการแพทย์ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ

ตามข้อมูล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกมาระบุว่า ทุกวันนี้มูลนิธิฯ ได้รับร้องเรียนเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่แพงมากอยู่ตลอด โดยมี 2 ลักษณะคือ 1.ค่ารักษาพยาบาลแพง ผู้ป่วยไม่มีเงินจ่ายทำให้ถูกรพ.เอกชนฟ้องร้อง และ 2.ค่ารักษาแพงเกินไป ไม่มีหน่วยงานเข้าไปกำกับควบคุม บางโรงพยาบาลเอกชนเก็บค่ายาบางตัวราคาสูงเกือบ 200 % เมื่อเทียบกับร้านขายยาทั่วไปหรือโรงพยาบาลรัฐ รวมถึงค่าวัสดุ อุปกรณ์ แพงหมด พร้อมยกตัวอย่าง ยอดค่ารักษาบางเคสอยู่ที่ 4.3 แสนบาท ค่าวิสัญญีแพทย์ 1 แสนบาท และค่าพยาบาล 3.5 หมื่นบาท ที่เหลือค่ายารักษาโรค เป็นต้น

การร้องเรียนให้ตรวจสอบยาและค่าหาหมอในโรงพยาบาลว่าสมเหตุสมผลหรือแพงเกินควรหรือไม่ เป็นประเด็นร้องเรียนร้องขอกันมาโดยตลอดกว่า 20 ปี ทุกรัฐบาลทุกรัฐมนตรีก็มักทำเพียงมอบให้หน่วยงานในสังกัดตรวจสอบและหาทางดูแล แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไปภายในไม่กี่สัปดาห์

ดังนั้น เมื่อเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงมาดูแลด้วยตนเอง ทำให้เกิดความหวังว่าครั้งนี้ จะเกิดการกำหนดเพดานสูงสุดของค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยประชาชนชั้นกลางที่ต้องการเข้าถึงโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านหรือเข้ารักษาในกรณีฉุกเฉินแล้วไม่ต้องถึงกับหมดตัวต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่ายาค่าหมอให้โรงพยาบาล

Advertisement

จนนำมาสู่มติคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.)ที่มีนายสนธิรัตน์ เป็นประธาน เห็นชอบเพิ่มเวชภัณฑ์ และ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่น ๆ ของสถานพยาบาล เข้ามาอยู่ในบัญชีควบคุม เพื่อให้ออกมาตรการกำกับดูแลและเอาผิดได้เมื่อฝ่าฝืน โดยเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไม่เกินกลางเดือนมกราคม
ดูเหมือนทุกอย่างกำลังเดินหน้า ก็เกิดการชะงัก หลังจากมีมติกกร.ดังกล่าวออกมา เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ มีการเทหายหุ้นโรงพยาบาลเอกชนตัวแดงต่อกันหลายวัน ร้อนถึงผู้ดูแลระบบเศรษฐกิจประเทศ สั่งให้ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง จนรัฐมนตรีพาณิชย์ต้องเรียนประชุมผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ รับฟังข้อมูลเชิงลึก

โดยหลังหารือกลับลังเลและไม่ได้ยืนยันว่าจะคงเดินหน้าเพิ่มเวชภัณฑ์ และบริการรักษาพยาบาล เป็นสินค้าและบริการควบคุม ตามมติกกร.

ขณะนี้สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เตรียมแถลงข่าวในวันที่ 14 มกราคม เพื่อสื่อถึงประชาชนให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับระบบการใช้จ่ายและดูแลประชาชนที่เจ็บป่วย ตลอดจนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชนภายใต้การดูแลของรัฐบาล
จึงเกิดข้อสังเกตว่ากำลังเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือไม่ จากนี้คงต้องลุ้นต่อ

Advertisement

หากภายในเดือนมกราคม กระทรวงพาณิชย์ไม่มีการนำเสนอเพิ่มเวชภัณฑ์ และบริการรักษาพยาบาล เป็นสินค้าและบริการควบคุม ตามมติกกร.เข้าครม. และเพียงประกาศว่าจะออกมาตรการดูแลแบบทั่วไป รวมถึงข้อความมาร่วมมือนำข้อมูลเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์
หรืออีกทางเลือก จะนำกฎหมายแข่งขันทางการค้า เข้ามากำกับดูแล ที่ขณะนี้บอร์ดแข่งขันฯกำลังคัดเลือกเลขาธิการคนแรก ที่ล้วนเป็นนักกฎหมายและผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์ทั้งสิ้น และได้เข้าสังเกตการณ์ในการประชุมด้วย นั่นหมายถึงเวลาที่จะควบคุมก็ต้องยืดออกไปอีก

เกมนี้จะพลิกแพลงอย่างไร ที่ไม่ให้จากคำชมมาเป็นคำด่า ไม่เกิน 2 สัปดาห์มีลุ้น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image