‘พลังประชารัฐ’ คึก พลิกราคา ปรับดุล ‘ศึกเลือกตั้ง’

หลังพ้นเดดไลน์เข้าสมัครสมาชิกพรรคการเมือง ภายใน 90 วัน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หากจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ตามโรดแมปวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 97 (3) ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ลงรับสมัคร ส.ส.ไว้ว่าจะต้องเป็นสมาชิกพรรคเพียงพรรคเดียว ภายใน 90 วัน

ปรากฏการณ์ก่อนที่จะครบเดดไลน์ 90 วัน จึงเกิดภาพของอดีต ส.ส. สมาชิกพรรคการเมือง ย้ายค่าย สลับขั้ว เปลี่ยนมุ้ง เปลี่ยนก๊ก กันขนานใหญ่ของทุกพรรค

ทั้งพรรคหลักอย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคชาติพัฒนา (ชพน.)

Advertisement

รวมทั้งพรรคการเมืองหน้าใหม่ แต่คนอาจจะไม่ใหม่ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) พรรคเพื่อธรรม (พธ.)

มีอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส. และสมาชิกพรรค ย้ายออก สมัครเข้า กันเป็นว่าเล่น

ที่น่าโฟกัสและน่าจับตามอง คงไม่พ้นพรรค พปชร. ที่ก่อนหน้าในช่วงก่อตั้งพรรคใหม่ๆ ราคาค่างวดในทางการเมือง อาจจะจัดอยู่ในระดับมวยรอง พวกแถว 2 แถว 3

Advertisement

แต่พลันที่แกนนำพรรค ที่นำโดย อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค จัดประชุมใหญ่เปิดรับสมาชิกพรรคอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่โรงแรมแชงกรี-ลา

พร้อมกับภาพของอดีตแกนนำกลุ่มสามมิตร ทั้ง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย (ทรท.) และ สมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองนายกฯ นำสมาชิกกลุ่มสามมิตรที่มีดีกรีอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.ทั้งจากพรรค พท. พรรค ทรท. พรรคพลังประชาชน (พปช.) อาทิ ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ สันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สุพล ฟองงาม อดีตเลขาธิการพรรค พท. จำลอง ครุฑขุนทด อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วิรัช รัตนเศรษฐ อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรค พท. เข้ามาผนึกกำลังเดียวกันกับพรรค พปชร.

ไม่นับรวมกับอดีต ส.ส.เบอร์ต้นๆ ของพรรค พท.ที่ตัดสินใจเพียงชั่วข้ามคืน ย้ายค่าย สลับขั้วแบบ 360 องศา มาร่วมงานกับพรรค พปชร. ทั้ง อำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรค พท.

รวมทั้งกลุ่ม 4 อดีต ส.ส.กำแพงเพชร พรรค พท. ได้แก่ ไผ่ ลิกค์, พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์, ปริญญา ฤกษ์หร่าย และ อนันต์
ผลอำนวย ภายใต้การนำของ “เสี่ยต๋อง” วราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สายตรงเจ้าแม่วังบัวบานอย่าง “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่ย้ายขั้วเข้าร่วมงานกับพรรค พปชร. ชนิดที่ใกล้จะหมดเวลา
90 วัน ต้องสังกัดพรรค

ทำเอาแกนนำและคีย์แมนคนสำคัญของพรรค พท.ถึงกับควันออกหู เพราะแทบจะหาคนมาลงรักษาเก้าอี้ ส.ส.ในพื้นที่เดิมไม่ทัน ไม่นับรวมในรายของ เดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ บุตรชาย บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ที่ถูกจำคุกในคดีจำนำข้าว ที่ตัดสินใจย้ายค่ายมาสังกัดพรรค พปชร. กับเหตุผลที่อาจจะมากกว่ามาดูแลพ่อที่รักษาอาการป่วย

โดยอาจโยงถึงคดีความโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ล็อต 2 ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่อาจเกี่ยวพันถึงบิ๊กเนมและแกนนำคนสำคัญในพรรค พท. ต้องมีเอี่ยวถูกตั้งข้อกล่าวหา และอาจส่งผลต่อผลการเลือกตั้งของพรรค พท.ได้

การได้บิ๊กเนมและอดีต ส.ส.ระดับดาวฤกษ์ ที่มีคะแนนในตัวเอง มาร่วมงานพรรค พปชร. แม้จะมีข้อครหาสารพัดผ่าน “ดีล” ย้ายค่าย ทั้งผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ และคดีความที่อดีต ส.ส. รวมทั้งเครือญาติที่เผชิญอยู่

แต่กลับส่งผลให้ราคาค่างวดทางการเมืองของพรรค พปชร. จากที่เป็นรอง กลายเป็นอีกตัวเต็ง พร้อมแข่งขันกับพรรค พท.ในสนามเลือกตั้ง ในห้วงปี 2562 ขึ้นมาทันที

เพราะพรรค พปชร.ในขณะนี้ เปี่ยมไปด้วยสรรพกำลังทั้งบุคลากร กลไก กติกา ที่เอื้ออำนวย กุมความได้เปรียบไว้ได้มากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ นำมาซึ่งความมั่นใจในระดับแกนนำพรรค พปชร.

อย่าง อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. ที่กล่าวอย่างมั่นใจว่า “เมื่อผมมาทำงานการเมือง นำพรรคพลังประชารัฐลงสนามการเลือกตั้ง ผมต้องหวังชนะเลือกตั้ง หวังเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีเสียงมากพอที่จะทำงานได้อย่างราบรื่น”

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้น แกนนำพรรค พปชร.ตั้งเป้าปักธงเก้าอี้ ส.ส.ไว้ที่ประมาณบวก-ลบ 126 เสียง เพราะยังมีเสียงของ ส.ว.อีก 250 เสียง ที่พร้อมจะโหวตเลือกนายกฯในบัญชีของพรรค พปชร. ให้กลับมานั่งเก้าอี้ สร.1 ในทำเนียบรัฐบาลอีกรอบได้ไม่ยาก

แต่เมื่อปัจจัยเปลี่ยนและความพร้อมในสรรพกำลังต่างๆ ทั้งเรื่องคนและนโยบาย ที่จะทยอยปล่อยออกมาหลังจากการปลดล็อกทางการเมืองแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

ความมั่นใจและเป้าหมายในเก้าอี้ ส.ส.ของแกนนำพรรค พปชร.จึงปรับเป้าหมายใหม่ โดยเก้าอี้ ส.ส.ของพรรค พปชร.และพรรคพันธมิตร จะต้องรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 250 เสียง เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง

เพราะการทำงานในฐานะฝ่ายบริหารจะต้องอาศัยเสียงสนับสนุนของ ส.ส.ที่มากพอ ให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะงานในกลไกของสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องอาศัยเสียงของ ส.ส.เป็นตัวชี้ขาดและขับเคลื่อน

ไม่ว่าจะเป็นการเสนอและการพิจารณากฎหมายเรื่องสำคัญๆ ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนงานของรัฐบาลให้เดินหน้าได้ อย่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ฝ่ายรัฐบาลจะต้องอาศัยเสียงข้างมากของ ส.ส.โหวตสนับสนุนผ่านร่างกฎหมายจากการประชุมสภาให้ได้

รวมถึงไฮไลต์สำคัญที่จะชี้ขาดให้รัฐบาลรวมทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่หรือไป นั่นคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในทุกสมัยการประชุมสภา หากรัฐบาลเสียงไม่มากพอ หรือเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการตกม้าตาย ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ยิ่งเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวนายกฯ หากไม่ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ย่อมทำให้ ครม.ทั้งคณะต้องพ้นสภาพตามไปด้วย

เป้าหมายและตัวเลขในจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ในศึกเลือกตั้ง 2562 จึงเป็นอีกโจทย์สำคัญ ที่ทั้งพรรค พปชร. และพรรคการเมืองอื่นๆ

จะต้องไปแก้โจทย์ ถอดสมการในคณิตศาสตร์การเมือง ที่อาจจะไม่ใช่ 1+1 เท่ากับ 2 เพื่อให้ได้คำตอบสุดท้าย ตามที่แต่ละฝ่ายคาดหวังไว้

 

พร้อมรับมือ – คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การเลือกตั้งในห้วงปี 2562 ภายหลังอดีต ส.ส.ของพรรค ย้ายออกไปสังกัดพรรคอื่น ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image