นิวส์รูมวิเคราะห์ : ไม่รอช้า ม็อบเกษตร ร่วมวงเลือกตั้ง

ในเวลาใกล้เคียงกันภายหลังมีประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 และแน่ชัดในวันที่ 24 มีนาคมนี้จะมีการเลือกตั้ง

จึงเกิดกระแสตอบรับมากมาย สะท้อนจากภาวะหุ้นปิดตลาดบวก ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคประชาชนหรือภาคธุรกิจมีมุมมองต่ออนาคตดีขึ้น บางรายการทำสถิติค่าดัชนีสูงสุดในรอบ 5 ปี

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหว คือ การจัดชุมนุมภาคเกษตร ที่ต้องการแสดงออกว่ากำลังเดือดร้อนและเร่งรัดให้รัฐบาลออกมาช่วยเหลือก่อนเข้าโหมดก่อนและหลังเลือกตั้ง อาจอยู่ในภาวะสูญญากาศ 4-6 เดือน กว่ารัฐบาลใหม่จะได้ตั้งไข่!!

ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ มีการแสดงท่าทีและร้องขอให้รัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหามาต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

Advertisement

อย่างปัญหามะพร้าว ล่าสุดเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์กว่า 200 คน เหมารถบัส เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ขอเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเรียกร้องให้ชะลอนำเข้า หลังมะพร้าวในประเทศราคาตกต่ำ เหลือลูกละ 5 บาท จากราคาที่อยู่ได้ 10-12 บาท แม้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่าการนำเข้ามะพร้าวเป็นการขออนุญาตภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งห้ามไม่ได้ หากฝ่าฝืนไทยต้องถูกปรับตามระเบียบ WTO

แต่ทางออกเรื่องนี้คือกำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมอย่างเข้มงวด และ เตรียมของบ 30 ล้านรับซื้อผลผลิตที่ล้นเพื่อดึงราคา ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบแล้ว

ได้ใจอย่างนี้ ถือว่าจะเป็นจุดประกายให้สินค้าเกษตรอื่นๆที่ได้รับความเดือดร้อน ที่ขอความช่วยเหลือมาต่อเนื่อง และปัญหาก็ยังคาราคาซัง อาจใช้วิธีการเดียวกันนี้ ในการกระตุ้น!!

Advertisement

ก่อนหน้านี้ หลายพืชไม่ว่าจะเป็นปาล์ม ยางพารา รวมถึงพืชที่ผลผลิตกำลังทยอยออกสู่ตลาดหลังเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และพืชบางชนิด ผู้ที่เกี่ยวข้องเริ่มออกมาส่งสัญญาณให้รัฐเตรียมพร้อมได้แล้ว เช่น ข้าวนาปรัง ไม่เกิน 2 เดือนจากนี้ ผลผลิตรอบแรกจะทยอยออกสู่ตลาด ที่จะมาพร้อมกับปัญหาแวดล้อม อาทิ ผลผลิตไทยกับประเทศส่งออกข้าวสำคัญอย่างเวียดนาม ออกสู่ตลาดในเวลาใกล้เคียงกัน และเวียดนามจะขายข้าวล่วงหน้าในราคาที่ต่ำกว่าไทย

ขณะที่ไทยเจอภาวะเงินบาทแข็งและผันผวน การกำหนดราคาทำได้ยากและราคาเฉลี่ยจะสูงกว่าประเทศส่งออกข้าวด้วยกัน ยังไม่รวมถึงปัจจัยสต็อกข้าวในประเทศผู้ค้ากันเองที่ดูเหมือนหลายประเทศประสบปัญหา ที่ถูกจับตามองคือเกิดอะไรขึ้นระหว่างเวียดนามกับจีน ที่อยู่ๆจีนลังเลนำเข้าจากเวียดนาม ซึ่งปีๆหนึ่งนำเข้าไม่น้อยกว่า 2-3 ล้านตัน

หรือผลไม้เมืองร้อน ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย เมื่อปีก่อนขายดีราคาดี จนหลายพื้นที่โค่นพืชอื่นหันมาปลูกพืชดังกล่าวแล้ว ก็ยังไม่อาจประเมินได้ว่า ผลผลิตล้นและราคาตกต่ำจะหวนกับมาอีกไหม หรืออย่างพืชลงกระป๋อง เช่น สับปะรด คงจำกันได้ที่ต้องนำมาเททิ้งเกลื่อนถนน

นับไปนับมาพืชเกษตรไม่ต่ำกว่า 4-5 ชนิดในระยะเวลาอันสั้นนี้ ที่อาจเข้าวัฎจักรผลผลิตล้น ราคาตกต่ำ และเรียกร้องขอรัฐบาลช่วยเหลือผ่านมาตรการรับซื้อส่วนเกิน

ช่วงปกติมีรัฐบาลและมีรัฐมนตรีครบเซ็ท กว่าจะเคาะหนึ่งมาตรการยังต้องใช้เวลา 1-3 เดือน เพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณ และต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกฝ่ายรวมถึงภาคเอกชนด้วย

ซึ่งบางมาตรการอยากทำก็ไม่ได้ทำ หนึ่งในนั้นคือปุ๋ยสั่งตัดและราคาถูกกว่าปกติ 30% ทั้งๆที่เป็นมาตรการต้นทางที่จะช่วยลดความเดือดร้อนเกษตกร ในการลดต้นทุนเพิ่มรายได้ เพราะยี่ห้อยอดนิยมที่มีส่วนแบ่งตลาดหรือเป็นที่ต้องการของเกษตรกรเมินหนี!!

ทำให้นึกภาพไม่ออกว่า ช่วงรอเลือกตั้งและรอจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ภาคเกษตรไทยที่มีสัดส่วน 8% ของจีดีพีประเทศจะเป็นอย่างไร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image