กลิ่น ‘งูเห่า’ โชยอีกครั้ง ในยุค ‘ประยุทธ์’ เมื่อการเมืองติดล็อก

คำว่า “งูเห่า” กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.ที่ผ่านมา

คะแนนเสียงของ 2 ขั้วการเมืองที่หนุนและไม่หนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แพ้ชนะกันไม่ขาดในสภาผู้แทนฯ โดยมีเสียงฝ่ายละ 240-250 เสียง

ทำให้เกิดการคาดหมายว่า ฝ่ายที่ต้องการเป็นรัฐบาลจะทุ่มสรรพกำลังในทุกช่องทาง นำเอา ส.ส.แปรพักตร์จากพรรคต่างๆ มาสนับสนุนตนเอง เพื่อให้มีเสียงเกินครึ่งมากที่สุด

ทุกพรรคต้องกวดขันปิดประตูหน้าต่างพรรคตนเองให้ดี เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดโอกาสให้ ส.ส.ย้ายพรรคใน 30 วัน หากขาดจากสมาชิกภาพของพรรคที่สังกัดเดิม

Advertisement

จนขณะนี้ มีกระแสข่าวว่า ส.ส.พรรคเล็กพรรคน้อยมีความสำคัญไปหมด ขณะที่ค่าตัวงูเห่าพุ่งสูง

สำหรับ “งูเห่า” มาจากคำกล่าวของ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย เมื่อปี 2540
เปรียบตัวเองเป็นเหมือนชาวนาที่ถูกงูเห่ากัดในนิทานอีสป

ต้นเดือน พ.ย.2540 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากปัญหาเศรษฐกิจและค่าเงินบาท

Advertisement

พรรคร่วมรัฐบาลที่เดิมสนับสนุน พล.อ.ชวลิต มีมติสนับสนุนให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

เสียงของขั้วความหวังใหม่ มี 197 เสียง มีประชากรไทย 18 เสียงของนายสมัครอยู่ด้วย

ส่วนขั้วฝ่ายค้านเดิม นำโดย พรรคประชาธิปัตย์ (123 เสียง) จะสนับสนุนนายชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่ขั้วนี้มีเสียงรวม 196 เสียง น้อยกว่าอีกขั้วอยู่เพียง 1 เสียง

เสธ.หนั่น-พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ผู้จัดการรัฐบาลของ ปชป. ชักชวน ส.ส.ประชากรไทย กลุ่มนายวัฒนา อัศวเหม 13 คน มาสนับสนุนนายชวน

ทำให้เสียงของขั้ว ปชป.มี 209 เสียง ส่วนขั้ว พล.อ.ชาติชาย เหลือ 185 เสียง

นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย เนื่องจากพรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ลงมติไม่ให้กลุ่มของนายวัฒนาเข้าร่วมรัฐบาล และเมื่อกลุ่มนายวัฒนายืนยัน ทางพรรคมีมติขับออกจากพรรคทั้งกลุ่ม  กลุ่มงูเห่าร้องเป็นคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ

บทความ “ตำนานงูเห่า” ของกล้า สมุทวณิช ในมติชน 13 มี.ค. ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2542 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 วินิจฉัยว่า มติของพรรคประชากรไทยที่ลบชื่องูเห่าผู้ร้องออกจากทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทยนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องปฏิบัติหน้าที่เช่นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย

การที่พรรคประชากรไทยไล่ ส.ส.กลุ่ม “งูเห่า” ออกจากพรรคและมีผลให้ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพนั้น เท่ากับทำให้ความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยสิ้นสุดลง และไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยได้ มติเช่นนี้ขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.โดยชัดแจ้ง

อีกเหตุผลหนึ่ง มติดังกล่าวขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย เนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามมติพรรค โดยไปหนุนนายชวน หลีกภัย และเข้าร่วมรัฐบาลนั้น

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มติของพรรคที่ให้การสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนแปลงไป เมื่อพรรคการเมือง 2 พรรคใน 6 พรรค ที่เคยมีมติร่วมกันจะจัดตั้งรัฐบาลหนุน พล.อ.ชาติชาย ได้ถอนตัวและกลับไปสนับสนุนนายชวน

เป็นผลให้ข้อตกลงของ 6 พรรคเดิม เป็นมติที่ไม่จำต้องปฏิบัติตามต่อไป และเมื่อ ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคประชากรไทยเห็นว่ามีความจำเป็นรีบด่วนต้องสนับสนุนให้นายชวนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ของบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองจะพึงรับฟังตามหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

มติที่ให้ลบชื่อคณะงูเห่าผู้ร้องออกจากทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทยจึงขัดหรือแย้งกับหลักการดังกล่าวและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นั่นคือคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

ผลของคำวินิจฉัยนี้ทำให้นายวัฒนาและคณะไม่ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส. สามารถไปหาพรรคใหม่อยู่กันได้ในชื่อของ “พรรคราษฎร” และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกันไป

นายสมัครที่เดิมเป็นรองนายกรัฐมนตรี กลายเป็นฝ่ายค้านเหลือ ส.ส.ในสังกัด 4 คน คือ นายสุมิตร สุนทรเวช นางลลิตา ฤกษ์สำราญ นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ และนายสนิท กุลเจริญ

นายสมัครจึงเปรียบเทียบตนเองเป็นเหมือนชาวนาในนิทานอีสป เรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” ที่ช่วยงูเห่ากำลังจะตายจากความหนาวเย็น มาไว้ในอกเสื้อเพื่อให้ความอบอุ่น แต่ถูกงูเห่าฉกชาวนาตาย

เพราะนายวัฒนา และ ส.ส.รวม 12 คนในกลุ่ม ขัดแย้งกับนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย จนต้องออกมาและไม่มีสังกัด ระหว่างเดือดร้อนนั้น นายสมัครช่วยรับเข้าสังกัดประชากรไทย

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จึงกลายเป็นที่มาของศัพท์การเมือง “งูเห่า” ที่กำลังกล่าวขวัญกันในขณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image